นราธิวาส - กลุ่มผู้เลี้ยงปลาในกระชังโอดปลาตายนับแสนตัว หลังรัฐเปิดประตูเร่งระบายน้ำจืดเหนือเขื่อนลงทะเล วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลือด่วน ขณะที่ 26 โรงเรียนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เตรียมเปิดพร้อมกันสัปดาห์หน้า
วันนี้ (1 ธ.ค.) ที่บริเวณชายหาดนราทัศน์ เขตเทศบาลเมืองนราธิวาส กลุ่มเลี้ยงปลากระชังในคลองโคกเคียน ได้ร้องทุกข์ไปยังสื่อมวลชนในพื้นที่เพื่อให้ทำการบันทึกภาพข่าวภายหลังจากทางราชการเปิดประตูระบายน้ำบางนราตอนบนเพื่อระบายน้ำจืดลงทะเล ซึ่งน้ำจืดดังกล่าวเป็นน้ำป่า และน้ำโคลน
ทั้งนี้ คลองโคกเคียนเป็นพื้นน้ำเค็มที่ชาวบ้านกว่า 1,000 ครัวเรือนใช้เป็นพื้นที่เลี้ยงปลาในกระชัง เช่น ปลากะพง และปลาเก๋า แต่ภายหลังจากการเปิดประตูระบายน้ำดังกล่าว ทำให้ปลาในกระชังโดยเฉพาะปลาเก๋าลอยตัวเหนือน้ำและตายหลายแสนตัว
นายซาการียา เจะยิ ผู้เลี้ยงปลาในกระชังคลองโคกเคียน กล่าวว่า ตนเป็นผู้หนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนระบายน้ำป่าที่ไหลหลาก เพื่อป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ตอนบนของเขื่อน ในขณะที่ชาวบ้านผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงปลาในกระชังในแม่น้ำบางนรา และในคลองโคกเคียนต้องได้รับความเดือดร้อน เพราะเงินทุกบาททุกสตางค์ได้ลงทุนซื้อลูกปลาและเลี้ยงปลาลงกระชัง ซึ่งปลากำลังโตเต็มที่แล้ว เพียงอีก 2 เดือนก็จะสามารถยกปลาในกระชังทั้งหมดเพื่อนำไปขายให้กับพ่อค้าแม่ค้า โดยราคาขายส่งปลาเก๋าอยู่ที่ประมาณ 370 บาทต่อกิโลกรัม
แต่ขณะนี้แทบสิ้นเนื้อประดาตัว เนื่องจากปลาที่เลี้ยงโดยเฉพาะปลาเก๋าลอยตายและตายอืดอยู่ใต้น้ำหลายหมื่นตัวทุกวันตั้งแต่มีการปล่อยน้ำป่า ซึ่งตนเลี้ยงปลา 12 กระชัง กระชังละประมาณ 1,000 ตัว ขณะนี้เหลือไม่กี่ตัวแล้ว ขาดทุน เงินทุนที่กู้มายังไม่รู้จะชดใช้หนี้สินได้อย่างไร ทั้งนี้ ไม่เพียงเฉพาะตนที่ได้รับผลกระทบ กลุ่มเลี้ยงปลาในกระชังอีกหลายรายก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน จึงขอวิงวอนไปยังหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โปรดเข้าไปดูแลและให้การช่วยเหลือชาวบ้านอย่างเร่งด่วน อย่างจริงจัง และจริงใจด้วย
สำหรับความคืบหน้าเกี่ยวกับสภาวะน้ำท่วมในพื้นที่ จ.นราธิวาสนั้น ล่าสุดบริเวณแม่น้ำสุไหงโก-ลก ซึ่งไหลผ่าน 3 อำเภอ คือ อ.ตากใบ อ.แว้ง และ อ.สุไหงโก-ลก พบว่าปริมาณน้ำในแม่น้ำสุไหงโก-ลก ที่เอ่อล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่ทางการเกษตรของราษฎรเป็นเวลานานกว่า 1 สัปดาห์ มีปริมาณน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง จากผลพวงของการเปิดประตูระบายน้ำลงสู่ทะเล ทำให้ปริมาณน้ำท่วมมีความสูงโดยเฉลี่ยล้นจากตลิ่งอยู่ที่ระดับ 30-40 ซม. และชุมชนที่ได้รับความเดือดหนักที่สุด คือ ชุมชนหัวสะพาน ซึ่งตั้งอยู่เขตเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก มีผู้อพยพจำนวน 227 คน 45 ครัวเรือน ซึ่งยังคงอาศัยปักหลักอยู่ที่ศูนย์อพยพของโรงเรียนเทศบาล 4 เนื่องจากยังไม่มั่นใจในสถานการณ์น้ำ หลังกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเตือนว่าลมมรสุมจะพัดผ่านอีกละลอก
และในส่วนของสถานศึกษาต่างๆ ที่ประกาศปิดการเรียนการสอนทั้งสิ้น 26 โรงล่าสุดหลายโรงเรียนได้ทยอยเปิดทำการเรียนการสอน โดยบางแห่งคณะครู นักเรียน รวมทั้งนักการภารโรง ได้ร่วมกันเก็บกวาดและทำความสะอาดห้องเรียนแล้ว เพื่อเตรียมตัวเปิดการเรียนการสอนในสัปดาห์หน้านี้ ครบทั้ง 26 โรง