xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัย มรภ.สงขลา คิดค้นกาวไม้อัดจากขวดใส ลดขยะทดแทนสารเคมีอันตราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.พลพัฒน์ รวมเจริญ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และประชาสัมพันธ์
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - นักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ฯ มรภ.สงขลา พัฒนากาวไม้อัดจากขวดพลาสติกใช้แล้ว หวังช่วยลดปริมาณขยะ ทดแทนกาวในท้องตลาด ซึ่งมีส่วนผสมของสารเคมีอันตราย ตัวการสร้างมลพิษสิ่งแวดล้อม

ดร.พลพัฒน์ รวมเจริญ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และประชาสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ผู้รับผิดชอบโครงการเปิดเผยถึงงานวิจัยพัฒนากาวไม้อัดจากขวดพลาสติกใช้แล้ว ว่า พอลิเอทิลีนเทเรฟแทเลต (Polyethylene terepthalate) หรือที่รู้จักกันในนาม “PET” หรือ ขวดเพท เป็นพลาสติกใสที่มีปริมาณการใช้เพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยนิยมนำมาทำเป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับเครื่องดื่มที่มีแก๊ส น้ำแร่ และอื่นๆ
ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไม้อัด
เนื่องจากมีคุณสมบัติเรื่องความเหนียว ใส และต้านทานการผ่านของแก๊สได้ดี ทนต่อสภาวะแวดล้อม อย่างไรก็ตาม จากคุณสมบัติที่ทนต่อสภาพแวดล้อมได้ดี ทำให้พลาสติกดังกล่าวย่อยสลายเองตามธรรมชาติได้ยาก ขณะที่ปริมาณการใช้เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา ในปัจจุบันพบว่ามีขยะจากขวดเพทมีเป็นจำนวนมาก

ดร.พลพัฒน์ กล่าวอีกว่า คณะผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะนำขวดเพทที่ใช้แล้วกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ให้มากที่สุด โดยการย่อยสลายขวดเพทด้วยปฏิกิริยาเคมี ซึ่งจะทำให้ได้สารเคมีที่มีสมบัติเป็นของเหลว และสามารถใช้ประโยชน์ได้หลายรูปแบบ เช่น สารเคลือบ และกาวไม้อัด สำหรับกาวที่ใช้ในการประสานยึดผงไม้ในอุตสาหกรรมไม้อัด จากงานวิจัยนี้ เป็นทางเลือกที่สำคัญสำหรับผู้ผลิตที่ต้องการไม้ที่มีความแข็งแรง และปราศจากฟอร์มาลดีไฮด์ ซึ่งเป็นสารเคมีที่เป็นสูตรผสมของกาวที่ใช้กันในปัจจุบัน ถือเป็นสารเคมีอันตรายและก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม โดยในขั้นตอนการผลิตเป็นการผสมผงไม้ที่ได้จากขี้เลื่อยไม้ยางพาราที่คัดขนาดแล้ว ผสมกับกาวและอัดให้เป็นแผ่นในแม่พิมพ์ นำมาขึ้นรูปด้วยความร้อนและความดัน จนได้ผลิตภัณฑ์ไม้อัดซึ่งมีสมบัติที่ดีผ่านเกณฑ์มาตรฐานอุตสาหกรรม
ขวดพลาสติกใส วัตถุดิบในการผลิต
ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และประชาสัมพันธ์ กล่าวในตอนท้ายว่า ผลงานวิจัยชิ้นนี้มีส่วนช่วยลดขยะพลาสติกที่เกิดขึ้น และนำสิ่งที่สังเคราะห์ได้จากขยะพลาสติกดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ โดยผลการวิจัยดังกล่าวได้รับการยอมรับทางวิชาการ และได้รับการนำเสนอในการประชุมวิชาการ International Conference on Key Engineering Materials 2012 ที่ประเทศสิงคโปร์ ในระหว่างวันที่ 26-28 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา และตีพิมพ์ในวารสาร Advanced Materials Research ฉบับที่ 488-489 ปี 2012 ซึ่งเป็นวารสารระดับนานาชาติในฐานข้อมูล SCOPUS และ SJR (SCImago Journal Rank) โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
กำลังโหลดความคิดเห็น