xs
xsm
sm
md
lg

“ใสกลิ้ง-หัวป่า” ถนนข้ามทะเล ชมวิถี “ควายน้ำ” ดำกินหญ้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ขับรถชมวิวบนสะพานยกระดับ 16 กิโลเมตร “ใสกลิ้ง-หัวป่า” เชื่อมสองเมือง พัทลุง-สงขลา แหวกทะเลสาบชมฝูง “ควายน้ำ” เกือบครึ่งหมื่น ดำผุดดำว่ายหาหญ้ากินใต้ผืนน้ำ
อุทยานนกน้ำที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย ทะเลสาบสงขลา
 
เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย ทะเลสาบสงขลา เป็นอุทยานนกน้ำที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีการสำรวจเมื่อปี พ.ศ.2517 และได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าแห่งแรกของประเทศไทย เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2518 มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด คือ บางส่วนของ ต.พนางตุง และ ต.ทะเลน้อย อ.ควนขนุน จ.พัทลุง, ต.บ้านขาว ต.เครียะ อ.ระโนด จ.สงขลา และ ต.ขอนหาด ต.นางหลง ต.เสม็ด ต.ชะอวด อ.ชะอวด จ.นคร ศรีธรรมราช มีเนื้อที่ประมาณ 457 ตารางกิโลเมตร หรือ 285,625 ไร่ แบ่งเป็นพื้นดิน 429 ตารางกิโลเมตร ประมาณ 268,125 ไร่ และพื้นน้ำ 28 ตารางกิโลเมตร ประมาณ 17,500 ไร่

 
เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย จัดว่าเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสมบูรณ์และสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่พรุควนขี้เสียน ได้รับการจดทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ หรือ แรมซาร์ไซต์ เป็นแห่งแรกของประเทศไทย และเป็นลำดับที่ 110 ของโลก เมื่อปี พ.ศ.2541 เป็นที่อาศัยของนกน้ำหลากพันธุ์ประมาณ 187 ชนิด และมีพืชไม้นานาพันธุ์มากมาย
ควายน้ำ ดำน้ำกินหญ้าใต้ผืนน้ำอันกว้างใหญ่ไพศาล
 
สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นป่าเสม็ดขาว ทุ่งหญ้า ทุ่งนา ป่ากก ป่าปรือ มีความหลากหลายทางชีวภาพ อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ เป็นแหล่งประกอบอาชีพของประชาชนในพื้นที่ ไม่ว่าอาชีพประมง และเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะการเลี้ยงควาย ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย มีชาวบ้านเลี้ยงควายในพื้นที่ทะเลน้อยเป็นจำนวนมาก ที่แปลกคือ มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นแตกต่างจากพื้นที่อื่นอย่างสิ้นเชิง

 
จากการสำรวจเก็บข้อมูลจำนวนประชากรควาย ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อยพบว่า มีทั้งหมด 4,334 ตัว เพศผู้ 1,342 ตัว เพศเมีย 2,992 ตัว และมีผู้เลี้ยง 164 ราย
วิถีชีวิต ควายน้ำ ที่ทะเลน้อย จากเคยหากินบนผืนหญ้า ปรับสภาพตามภูมิศาสตร์หากินหญ้าใต้ผืนน้ำ

 
ชาวบ้านทะเลน้อยนำควายมาเลี้ยงในพื้นที่นานกว่า 100 ปีมาแล้ว เป็นการปล่อยออกไปกินหญ้าเองตามทุ่งหญ้าขนาดใหญ่เหมือนชาวบ้านในพื้นที่อื่น แต่ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ของทะเลน้อย ทำให้ในช่วงฤดูน้ำหลาก ทุ่งหญ้าที่เป็นแหล่งหากินของควายต้องจมอยู่ใต้ผืนน้ำเป็นเวลา 5 เดือนใน 1 ปี ส่งผลให้ควายต้องปรับตัวอาศัยหากิน ด้วยการว่ายน้ำเป็นระยะทางไกล เพื่อดำน้ำลงไปกินหญ้าที่จมอยู่ใต้น้ำ บางตัวสามารถดำน้ำได้นานจะมุดหัวลงน้ำ เท้าหลังชี้ขึ้นฟ้ากินหญ้าน้ำได้คราวละ หลายนาที ส่วนลูกควายตัวเล็กจะดำน้ำลงไปทั้งตัว เป็นภาพที่ชาวทะเลน้อยเห็นชินตามาหลายชั่วอายุคน จนเรียกขานควายในทะเลน้อยว่า "ควายน้ำ" ตามลักษณะการหากิน
ฝูงควายน้ำออกหากิน ทุกเช้า และกลับเข้าคอกเองในตอนเย็น ทุกวัน
วิถีชีวิต ควายน้ำ ที่ทะเลน้อย พัทลุง
 
แต่เดิมเป็นควายบ้านที่ชาวบ้านนำมาเลี้ยงแบบปล่อยทุ่งให้หากินหญ้ากันเอง ทำให้มีการผสมพันธุ์กันเองตามธรรมชาติ จนประชากรควายเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และมีวิถีชีวิตคล้ายควายป่าโดยควายน้ำแต่ละฝูงจะมีขนาดเล็กใหญ่ตั้งแต่ ฝูงละ 5 - 6 ตัว ไปจนถึงฝูงใหญ่เกือบ 100 ตัว มีจ่าฝูงคอยควบคุมพาฝูงออกจากคอกไปหากินในทุกเช้า และกลับเข้าคอกเองในช่วงเย็น บางฝูงอาศัยนอนตามโคกเนิน หรือเกาะแก่งกลางน้ำ
สะพานยกระดับ ใสกลิ้ง-หัวป่า มีจุดพักรถชมวิว ทุกๆ 500 เมตร
สะพานยกระดับ เชื่อมระหว่าง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง - อ.ระโนด จ.สงขลา ระยะทาง 16 กิโลเมตร
 
ปัจจุบัน เรื่องราวและวิถีชีวิตของควายน้ำทะเลน้อย ถูกหยิบยกนำมาชูโรงเป็นจุดเด่นด้านการท่องเที่ยวสำคัญของ จ.พัทลุง นอกเหนือจากการล่องเรือชมทุ่งดอกบัว และดูนกหลากสายพันธุ์ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย นักท่องเที่ยว สามารถขับรถบนสะพานยกระดับ เฉลิมพระเกียรติ หรือสะพาน “ใสกลิ้ง-หัวป่า” ที่มีความยาว 16 กิโลเมตร ที่เชื่อมต่อจาก อ.ควนขนุน จ.พัทลุง และอ.ระโนด จ.สงขลาผ่านทางทะเลน้อย โดยทุกๆ 500 เมตร จะมีจุดพักรถเพื่อให้นักท่องเที่ยวเก็บภาพและชมวิถีชีวิตของควายน้ำทะเลน้อยตลอดเส้นทาง


อุทยานนกน้ำทะเลน้อย เป็นที่อาศัยของนกน้ำหลากพันธุ์ประมาณ 187 ชนิด
พระอาทิตย์ตกขอบฟ้าที่ทะเลน้อย
 
ภาพ/เรื่อง - ไสว รุยันต์
กำลังโหลดความคิดเห็น