ตรัง - พบชาวตรังป่วยเป็นโรคมะเร็งเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะมะเร็งปอด ซึ่งมีสาเหตุสำคัญเกิดจากพฤติกรรมการสูบบุหรี่ ตรงกับผลจากการรวบรวมข้อมูล ที่ระบุว่า ภาคใต้มีอัตราการสูบบุหรี่สูงสุด
นายวิรัช เกียรติเมธา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีประชาชนจังหวัดตรังป่วยเป็นโรคมะเร็งเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด เป็นต้น โดยมะเร็งปอด ถือเป็นโรคมะเร็งที่มีผู้ป่วยมากเป็นอันดับ 1 ของจังหวัดตรัง สาเหตุสำคัญเกิดจากพฤติกรรมการสูบบุหรี่ ซึ่งข้อมูลจากการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของประชาชนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ตั้งแต่ปี 2534-2550 พบว่า ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา จำนวนผู้สูบบุหรี่ในประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง แต่สถานการณ์ก็ยังอยู่ในระดับที่น่าห่วงใย
ดังจะเห็นได้จากจำนวนผู้สูบบุหรี่ในปี 2534 ที่มีผู้สูบบุหรี่ 12.26 ล้านคน เป็น 10.85 ล้านคน ในปี2550 และมีผู้สูบประจำลดลง จาก 11.67 ล้านคน เป็น 9.48 ล้านคน สำหรับจังหวัดตรังนั้น จากข้อมูลสถิติของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง ในปี 2551 พบผู้ป่วยเป็นมะเร็งปอดที่ไปรับการรักษาในโรงพยาบาล จำนวน 163 คน ในปี 2552 พบผู้ป่วยจำนวน 252 คน และข้อมูลล่าสุดในปี 2553 พบผู้ป่วยจำนวน 257 คน ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าวพบว่า มีผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งปอดเพิ่มมากขึ้นในทุกๆ ปี
แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกลับพบว่า ในกลุ่มวัยรุ่น หรือเยาวชน อายุตั้งแต่ 15-24 ปี มีแนวโน้มการสูบบุหรี่เป็นประจำเพิ่มจำนวนมากยิ่งขึ้น ซึ่งในอดีตนั้นภาคที่มีอัตราการสูบบุหรี่มากที่สุด คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ปัจจุบันกลับพบว่า ภาคใต้ เป็นภาคที่มีอัตราการสูบบุหรี่สูงสุด และบุหรี่ก็ยังเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ประชาชนเจ็บป่วยเป็นโรคมะเร็งปอด
โดยมะเร็งชนิดนี้สามารถรักษาให้หายได้ ถ้ามีการตรวจพบในระยะเริ่มแรก แต่ในความเป็นจริงผู้ป่วยที่ตรวจพบว่าเป็นโรคมะเร็งปอด จะเข้าสู่ระยะที่ 3 แล้ว ฉะนั้น ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ จึงมีโอกาสสูงที่จะเป็นมะเร็งปอดกว่าคนปกติ 10 เท่า และในควันบุหรี่ก็มีสารประกอบมากกว่า 4,000 ชนิด และในจำนวนนี้มีประมาณ 60 ชนิด ที่เป็นสารก่อมะเร็ง รวมทั้งมีตัวกระตุ้นและตัวส่งเสริมให้เกิดมะเร็งปอด ได้แก่ ทาร์ นิโคติน คาร์บอนมอนนอกไซด์ ไฮโดรเจน ไซยาไนด์ ฟีนอล แอมโมเนีย เบนซิน และฟอร์มาลดีไฮด์ เป็นต้น
สำหรับผู้ที่เจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งปอดนั้น ในระยะเริ่มแรกจะไม่มีอาการใดๆ บ่งชี้ได้อย่างชัดเจน แต่อาจพบอาการไอเรื้อรัง ลักษณะไอแห้งๆ นานกว่าธรรมดา บางครั้งมีเสมหะ หรือมีเลือดออกติดปนกับเสมหะออกมา น้ำหนักลด เบื่ออาหาร ซีด อ่อนเพลีย มีปอดอักเสบ มีไข้ เจ็บหน้าอก ซึ่งหากผู้ป่วยไม่มาพบแพทย์ ก็จะทำให้โอกาสในการรักษาหายลดน้อยลง และหากเป็นมากๆ อาจทำให้มีโอกาสเสี่ยงที่จะเสียชีวิต ดังนั้น ทางที่ดีที่สุด ก็คือ การเลิกสูบบุหรี่ เพื่อสุขภาพที่ดี และห่างไกลจากโรคมะเร็งปอด