ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ
โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)
“โจรใต้ป่วน วางเพลิงปัตตานี 6 จุด”
“เดือดทหารพรานยิงรถชาวบ้านดับ 4 เจ็บ 4”
เป็นพาดหัวข่าวเหตุการณ์ที่ปรากฏบนสื่อกระแสหลักจนผูกขาดการสื่อสาร จนแทบไม่ได้อธิบายแง่มุมอื่น ทั้งความเป็นอยู่ วิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม ของพื้นที่ ไม่ลงถึงรายละเอียดเบื้องลึก คล้ายว่านำเสนอแบบฉาบฉวย และฉายให้เห็นถึงความขัดแย้งและรุนแรงเท่านั้น
ทำให้คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้จำนวนหนึ่ง รวมตัวกันเป็นเครือข่ายสื่อภาคประชาสังคม ทำสื่อนำเสนอปัญหาอีกหลายๆ มุมที่ไม่ค่อยเผยแพร่ออกสู่สาธารณะ ทั้งเครือข่ายช่างภาพ วิทยุชุมชน นักข่าวพลเมืองทุกรูปแบบ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างพลังการต่อรองกับผู้ใช้ความรุนแรงทุกฝ่ายทั้งฝ่ายขบวนการก่อความไม่สงบ และฝ่ายรัฐไทยเอง รวมถึงประเด็นทางสังคมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นำไปสู่ทางออกของปัญหา
จากการรวมตัวของเครือข่ายสื่อภาคประชาสังคมนี่เอง จึงได้เกิดวันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ขึ้น โดยครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2554 ที่โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี โดยคาดหวังที่จะจัดขึ้นต่อเนื่องทุกๆ ปี เพื่อเป็นวันที่รวมตัวกันกลับมาทบทวนเป้าหมายการทำงาน เติมความรู้ และเป็นพื้นที่หล่อหลอมสร้างแรงบันดาลใจสู่คนรุ่นใหม่ในการสร้างสรรค์สื่อ
สำหรับวันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ 2555 จะถูกจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-13 มีนาคม 2555 ที่คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยใช้ชื่องานว่า “เชื่อมร้อยเครือข่าย ผสานกำลังสื่อ สร้างพลังต่อรอง” Bargaining Power : Civil Networking and Synergy Meedia ในรูปแบบ “ตลาดนัดสื่อ ตลาดนัดวิชาการ และตลาดนัดกระบวนการ”
มีเวทีสื่อเสวนา บรรยายวิชาการ เวทีถอดประสบการณ์แลกเปลี่ยนความรู้ และบรรยากาศงานเป็นพื้นที่ “ปล่อยของ” เพื่อเปิดพื้นที่และโอกาสให้เครือข่ายภาคประชาสังคมทุกเครือข่ายได้นำเสนอการทำงานของตัวเองในระยะที่ผ่านมา และเปิดให้ระดมทุนเพื่อกลับไปสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กร
โดยมีองค์กรร่วมจัดประกอบด้วย เครือข่ายสื่อภาคประชาสังคมชายแดนใต้ เครือข่ายช่างภาพชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ Southern Peace Media Group โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ สำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ThaiPBS เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมชายแดนใต้ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) ศูนย์ประสานงานวิชาการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศวชต.) สภาภาคประชาสังคมชายแดนใต้ มูลนิธิซาซากาว่าเพื่อสันติภาพแห่งประเทศญี่ปุ่น ฯลฯ
สำหรับกำหนดการของวันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ ครั้งที่ 2 ในวันที่ 12 มีนาคม 2555 เวลา 09.00-12.00 น.ที่ห้องย่อย 1 ชั้น 3 เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมชายแดนใต้ จัดเสวนาเรื่อง “ผู้หญิงชายแดนใต้กับการแปรเสียงแห่งความสูญเสียสู่เสียงแห่งสันติภาพ” ประกอบด้วย นางสาวนวลน้อย ธรรมเสถียร อดีตผู้สื่อข่าว BBC ภาคภาษาไทย นางอัสรา รัฐการัณย์ ผู้ดำเนินรายการวิทยุเสียงจากผู้หญิงชายแดนใต้ นางสาวดวงสุดา นุ้ยสุภาพ ผู้สูญเสียชาวพุทธ นางแยน๊ะ สาแลแม สตรีดีเด่นด้านการปกป้องสิทธิของตนเอง 2555 นางมาริสา สะมาแห ผู้สูญเสียชาวมลายูมุสลิม นายแวหามะ แวกือจิ หัวหน้าสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน สถาตันปัตตานี ดำเนินรายการโดยนางโซรยา จามจุรี หัวหน้าโครงการผู้หญิงภาคประชาสังคม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ตามด้วยเวลา 13.30-15.30 น.มีกิจกรรมพบปะสื่อมวลชนและร่วมแลกเปลี่ยเรียนรู้เรื่อง “แนวทางการขับเคลื่อนงานสตรีชายแดนใต้โดยใช้พลังสื่อ” มีนายมูฮำมัดอายุบ ปาทาน บรรณธิการอาวุโสศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ นางสาวฐิตินบ โกมลนิมิ คณะทำงานศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ นายตูแวดานียา มือรืองิง ผู้อำนวยการสำนักข่าวอามาน นางโซรยา จามจุรี นางยะห์ อาลี โดยมี นางสาวพัชรา ยิ่งดำนุ่น ผู้จัดรายการวิทยุ ม.อ.ปัตตานี ดำเนินรายการ
ขณะที่ห้องหลัก B130 เวลา 10.30-12.00 น.มีการเปิดตัวโครงการและเว็บไซต์โครงการพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้จังหวัดชายแดนภาคใต้ (K4DS) ซึ่งพัฒนาระบบ K4DS ขึ้นโดยรวบรวมข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้จากแหล่งต่างๆ แล้วนำมาจัดการเชื่อมโยงเข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงได้ง่าย สืบค้นได้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ วิทยานิพนธ์ระดับบัณฑิตศึกษา งานวิชาการ โครงการ และนวัตกรรมด้านสุขภาพ บรรณนิทัศน์หนังสือ และข่าว โดย ดร.นพ.วรสิทธิ์ ศรศรีวิชัย หัวหน้าโครงการ
เวลา 13.30-15.30 น.ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มีเวทีสาธารณะโรงเรียนการเมือง DSW ห้องเรียนสัญจรครั้งที่ 7 จัดการบรรยายในหัวข้อ “Jurgen Habermas :The structural transformation of the public sphere” แนวคิดว่าด้วยพื้นที่สาธารณะของเจอร์เกน ฮาเบอร์นาส นักปรัชญาและทฤษฎีสังคมศาสตร์ชาวเยอรมัน โดย ดร.นอร์เบิร์ธ โรเปอร์ส ผู้อำนวยการองค์กรสนับสนุนสันติภาพเบิร์กฮอฟ นักวิจัยสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD)
เวลา 15.30-17.30 น. Peace Media Group จัดเวทีเรียรู้การใช้วีดีโอขับเคลื่อนประเด็นเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม สาธิตและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเครือข่าย “Video Advocacy” ด้วยเครื่องมือ Google Hangout แลกเปลี่ยนกับเครือข่ายเคลื่อนไหวทางสังคมจากมาเลเซีย เวสต์ปาปัว ติมอร์เลสเต ฯลฯ
การพูดคุยเกี่ยวกับการใช้งานทุกกระบวนท่าเครือข่ายสังคม Google Plus โดยนายอิบรอเฮ็ม มะโซ๊ะ และปิดท้ายด้วยการเปิดตัวเว็บไซต์ www.deepsouthwatch.org 3.0
สำหรับที่ลานกิจกรรม เวลา 13.30-15.30 น.กลุ่มข้าวยำการละคร มีการขับร้องอานาชีด และแสดงละครเร่เพื่อคนพิการ เล่าเรื่องความชายขอบ ของคนพิการชายแดนใต้ มีกิจกรรมคนหูหนวกทั่วไทยเข้าใจข่าวชายแดนใต้ มีการออกนิทรรศการแสดงตัวอย่างรายการโทรทัศน์ภาษามือเพื่อคนหูหนวก สาธิตการอ่านภาษามือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับชายแดนใต้และข่าวทั่วไปโดยคนหูหนวก มีการแสดงหุ่นกระบอกจิ๋ว “สันติสุขของเด็ก 3 ศาสนา” โดยคณะหุ่นกระบอกของนักศึกษาภาควิชาเด็กปฐมวัย มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
เวลา 15.30-17.30 น.สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และเครือข่ายเยาวชนเสวนาเปิดตัวหนังสือ 2 เล่ม คือ “จุดเล็กๆ บนคาบสมุทรมลายู” โดย อ.อภิชาติ จันทร์แดง และ “เปอร์นูลิส มูดา” รวมเรื่องสั้นของ 19 เยาวชนนักเขียนจากชายแดนใต้ โดย อ.โชคชัย วงศ์ตานี
ที่ห้องย่อย 2 ชั้น 3 15.30-17.30 น.โครงการพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้จังหวัดชายแดนภาคใต้ (K4DS) ประชุมระดมสมองภาคีเครือข่ายผู้ผลิตและผู้ใช้ข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้จังหวัดชายแดนภาคใต้
ที่ห้องย่อย 3 ชั้น 3 เวลา 13.30-17.30 น.กลุ่มธรรมดีทำดี เครือข่ายคนพิการ จัดเวทีเสวนา “แตกต่างอย่างเท่าเทียม:สื่อสะท้อนมุมมองและความคิดที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในกรอบ” ตามด้วยการฉายภาพยนตร์
สิทธิมนุษยชนและสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล จัดฉายวิดีทัศน์ 3 เรื่อง คือ ประวัติศาสตร์ปัตตานี ภาษา และโลกใบเล็กของมุสลิม
ในช่วงค่ำเวลา 19.00-21.00 น.จะมีงานเลี้ยงเครือข่ายสื่อภาคประชาสังคม โดยมีการเชิญ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย นายปิยะโชติ อินทรนิวาส หัวหน้าศูนย์ข่าวเอเอสทีวีผู้จัดการหาดใหญ่ ฯลฯ
สำหรับวันที่ 13 มีนาคม 2555 ที่ห้องหลัก B130 เวลา 09.00-12.00 น.มีเวทีสื่อเสวนา:พลังสื่อและการเปลี่ยนแปลงความขัดแย้ง ประกอบด้วย Dr.Isak Svensson จากมหาวิทยาลัยอุปซาลา ประเทศสวีเดน นายสมเกียรติ จันทรสีม สำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ThaiPBS นักวิชาการด้านสื่อ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ตัวแทนเครือข่ายวิทยุชุมชนภาคภาษามลายู นายมูฮำหมัด ดือราแม ผู้ช่วยบรรณาธิการโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ โดยมี นางสาวนวลน้อย ธรรมเสถียร อดีตผู้สื่อข่าว BBC ภาคภาษาไทย
เวลา 13.30-15.30 น.มีการแถลงข่าว Women Issue โดย 3 สตรีดีเด่นชายแดนใต้ ปี 2555 ประกอบด้วย นางแยน๊ะ สาแลแม สตรีดีเด่นด้านการปกป้องสิทธิของตนเอง นางสาวปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ นายกสมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ ด้านการพัฒนาชุมชน นางรอซีดะห์ ปูซู ประธานเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงหาสันติภาพ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้านการส่งเสริมสันติภาพ ตามด้วยกิจกรรม Social Awareness Issue ของสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.)
เวลา 15.30-17.30 น.สำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ThaiPBS อบรม “Lesson & Lern :Civil Networking and Syne Media” นักข่าวพลเมืองท่ามกลางการปฏิบัติ
สำนักหัวใจเดียวกันมีการเปิดตัววารสารเฉพาะกิจ “พลังสื่อทางเลือกชายแดนใต้” ซึ่งเป็นผลงานจากค่ายนักเขียนน้อยชายแดนใต้ (เฌอบูโด)
ทั้งนี้ ลานกิจกรรมตลอด 2 วัน มีการจัดกิจกรรมและจัดนิทรรศการภาพถ่ายจากเครือข่ายต่างๆ อาทิ กลุ่มสุนทรีย์ไม่มีจำกัด เครือข่ายช่างภาพชายแดนใต้ บินตังโฟโต้ ศูนย์ประสานงานวิชาการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศวชต.) สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาลัยประชาชน กลุ่มไพน์ทูลโปรดักชั่น กลุ่มบุหงารายา อินเซ้าท์ ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ฯลฯ
เหล่านี้คือร่างกำหนดการของวันสื่อทางเลือกชายแดนใต้
(ติดตามตอนที่ 2 วันพรุ่งนี้ 9 มี.ค.)