ตรัง - พบ “บุหรี่กานพลู” กำลังเป็นที่นิยมแพร่หลายในหมู่วัยรุ่น และกลุ่มเยาวชนในภาคใต้ เผยมีพิษภัยไม่ต่างไปจากบุหรี่โดยทั่วไป โดยเฉพาะสารที่ก่อให้เกิดมะเร็ง
นพ.วิรัช เกียรติเมธา นายแพทย์งานสาธารณสุขจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า ขณะนี้บุหรี่กานพลูกำลังกลับมาเป็นที่นิยมแพร่หลายอีกครั้งในหมู่วัยรุ่นและกลุ่มเยาวชนทางภาคใต้ ซึ่งมีการกระจายไปยังหลายพื้นที่ รวมทั้งในเขตกรุงเทพมหานครด้วย ทำให้ตลาดบุหรี่กานพลูเติบโตอย่างรวดเร็วเพิ่มขึ้นราว 60% ทั้งในประเทศไทย อินโดนีเซีย และประเทศมาเลเซีย แต่ที่น่าเป็นห่วง คือ เยาวชนสามารถหาซื้อได้ง่ายตามร้านค้าในหมู่บ้าน และมีราคาถูกกว่าบุหรี่ทั่วไป
โดยบุหรี่กานพลูมีต้นกำเนิดมาจากประเทศอินโดนีเซีย มีการลักลอบนำเข้ามาเป็นเวลาหลายปี และมีการผลิตหรือส่งออกจำนวนมาก ปัจจุบันมียี่ห้อใหม่เข้ามาตีตลาดและมีลูกเล่น เช่น ใส่เม็ดมินต์ ออกแบบบรรจุภัณฑ์สวย ทันสมัย เน้นสีสันสดใส หรือทำเป็นกล่องลิปติกพกพาง่ายสำหรับผู้หญิง และทำกล่องขนาดเล็กสำหรับเยาวชน มีรสชาติหลากหลาย จูงใจวัยรุ่น
สำหรับกลยุทธ์ในการขายนั้น จะมีทั้งแบบขาย 3-4 มวน ในราคา 20 บาท หรือแม้แต่จัดทำแพ็คเกจแบบผสมรวมบุหรี่หลายรส เพื่อทำให้กลุ่มวัยรุ่นยิ่งเข้าถึงได้ง่าย เพราะขายราคาถูก แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกประการหนึ่ง ก็คือ มีการโฆษณาด้วยคำว่า ไมด์, ไลท์, นิโคตินต่ำ และทาร์ต่ำ ทำให้เกิดความเข้าใจผิด และทำให้ผู้สูบหลงเชื่อว่าเป็นบุหรี่ปลอดภัย หรือมีพิษภัยน้อยกว่าบุหรี่อื่นๆ
ทั้งนี้ บุหรี่กานพลู จะผลิตจากใบยาสูบ 60% และมีกานพลู 40% โดยมีสาร eugenic ซึ่งเป็นยาชาเฉพาะที่ ปล่อยกลิ่นหอม รสเย็นเมื่อสูบ ซึ่งจะทำให้หลอดลมของผู้สูบชา จึงไม่สำลัก และสามารถสูบควันลึกลงไปส่วนลึกของปอด ทำให้โอกาสที่เด็กจะติดบุหรี่จึงมีสูง หลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา จึงสั่งห้ามนำเข้า เนื่องจากบุหรี่ดังกล่าวมีสารก่อมะเร็งที่เป็นอันตรายมาก ไม่ว่าจะเป็นสารนิโคติน ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ หรือ ทาร์ ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งมากกว่าบุหรี่ทั่วไป
ดังนั้น บุหรี่กานพลู จึงถือเป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ผิดกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2509 ซึ่งดูแลโดยกรมควบคุมโรค กรณีไม่ได้แจ้งรายการส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ยาสูบ ตามมาตรา 11 ที่ระบุว่า ผลิตภัณฑ์ยาสูบจะต้องมีส่วนประกอบตามมาตรฐานที่กำหนดในกฎกระทรวง จึงจะขายได้ ทั้งนี้ ผู้ผลิต หรือผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ยาสูบ มีหน้าที่จะต้องแจ้งรายการส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ยาสูบ
อย่างไรก็ตาม หากผู้ผลิต หรือผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ยาสูบรายใดฝ่าฝืนมาตรา 1 ก็จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ ยังมีความผิด พ.ร.บ.ยาสูบ ซึ่งรับผิดชอบโดยกรมสรรพสามิต กรณีที่ลักลอบเข้ามาจำหน่าย จะมีโทษตามมาตรา 46 คือ ปรับไม่เกิน 500 บาท และมีโทษตามมาตรา 50 คือ ปรับ 15 เท่าของค่าแสตมป์ยาสูบ