นศพ.เอกณรงค์ พิพัฒน์พุทธพงศ์
นศพ.ปี 5 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
เรื่องที่ผมจะเขียนต่อไปนี้ เป็นเรื่องราวที่นักศึกษาแพทย์คนหนึ่ง เขียนถึงครูแพทย์ผู้ประเสริฐที่สุดคนหนึ่งในชีวิตของนักศึกษาแพทย์ในรั้วของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
เมื่อกล่าวถึง ศาสตราจารย์นายแพทย์ธาดา ยิบอินซอย เพื่อนๆ นักศึกษาแพทย์หลายๆ คนอาจจะไม่รู้จัก และอีกหลายๆ คนคงเคยเพียงแต่ได้ยินแต่ชื่อของท่านเท่านั้น ซึ่งผมก็เคยเป็นแบบนี้เมื่อ 5 ปีก่อน การเขียนถึงอาจารย์ในเวลาและข้อความที่จำกัดเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะอาจารย์มีคุณความดีมากมายหลากหลายด้านและคุณธรรมของอาจารย์ก็สั่งสมต่อเนื่องมายาวนานเกินกว่าที่ผมจะหาถ้อยคำมาบรรยายได้ ผมจึงขอนำเอาเรื่องราวส่วนหนึ่งที่ผมเคยสัมผัสอาจารย์มาเล่าสู่กัน
อาจารย์ธาดาเป็นครูแพทย์ในคณะแพทย์แห่งนี้ที่ผมรู้จักเป็นท่านแรก ผมเป็นเด็กกรุงเทพฯ คนหนึ่งที่มาเรียนไกลบ้าน และชื่นชอบเรื่องสรีรวิทยาของหัวใจมานานแล้ว น้าผมซึ่งเป็นพยาบาลอยู่ที่หอผู้ป่วยอายุรกรรมได้เล่าให้ฟังว่า มีอาจารย์หมอท่านหนึ่งชื่อ ธาดา เป็นหมอที่เก่งและดีมาก เป็นคนที่แตกฉานในเรื่องของโรคหัวใจเป็นอย่างมาก อยากจะให้ผมรู้จักและดูไว้เป็นตัวอย่าง
หลังจากที่ผมได้ยินคำพูดนี้ไม่กี่วัน ผมก็ไปรอพบอาจารย์ที่ห้องตรวจอายุรกรรม คลินิกเฉพาะโรคหัวใจ วันจันทร์ พอผมเห็นหน้าห้องเขียนไว้ว่า “ศ.นพ.ธาดา ยิบอินซอย” ผมก็คอยอยู่หน้าห้องเพื่อรอจนอาจารย์ตรวจคนไข้ให้เสร็จ จะได้เห็นหน้าอาจารย์สักครั้ง
และแล้ว เวลาประมาณเที่ยง อาจารย์ก็เปิดประตูออกมาจากห้อง มีคุณลุงแก่ๆ คนหนึ่งซึ่งยังงงๆ เกี่ยวกับการกินยา เดินเข้ามาหาอาจารย์ อาจารย์นั่งลงที่เก้าอี้หน้าห้องแล้วอธิบายคนไข้อย่างช้าๆ และนิ่มนวล ภาพนั้นจากวันนั้นถึงวันนี้ ยังเป็นภาพที่ผมจำได้ติดตามาตลอด นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ผมก็ได้มีบุคคลที่ผมจะนำเอามาเป็นแบบอย่างในชีวิตของผม และนับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ผมก็ตั้งใจศึกษาหาความรู้โดยหวังเพียงว่า สักวันหนึ่ง ผมจะเป็นหมอที่ดีและเก่งได้แบบอาจารย์อีกสักคนในประเทศนี้
เริ่มแรก ไปยืมหนังสือ ด้านโรคหัวใจ (cardiology) ที่อาจารย์ธาดาเป็นผู้เขียน จากห้องสมุดมาอ่านก่อน แต่ปรากฏว่าอ่านไม่รู้เรื่องครับ เลยหยุดไปพักใหญ่ๆ ได้แต่เอาหนังสือไปถ่ายเอกสารเก็บไว้ก่อน พอขึ้นปี 2 ได้เรียนเรื่องสรีรวิทยาของหัวใจโดยอาจารย์ตรีชฎามาสอน ผมรู้ตัวเลยว่าผมหลงรัก “วิชาโรคหัวใจ” อย่างมากเลย จึงไปเอาหนังสือที่ถ่ายเอกสารไว้มาอ่านอีกครั้ง คราวนี้อ่านเข้าใจมากขึ้นครับ หลังจากนั้นก็อ่านมาเรื่อยๆ จนกระทั่งเป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นคลินิก ตลอดระยะเวลาที่ผมเป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปรีคลินิก ผมมีโอกาสได้พบท่านเพียงครั้งเดียว
เมื่อผมมาเป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นคลินิก เป็นช่วงเวลาที่ผมได้สัมผัสกับอาจารย์มากที่สุด โดยครั้งแรกขณะผมกำลังเดินไปเรียนผ่านหน้าห้องของภาควิชารังสีวิทยา ผมพบอาจารย์แล้วสวัสดีอาจารย์ อาจารย์ท่านก็ยิ้มให้ แล้วก็ถามว่า “มาทำอะไร” ผมตอบว่า”มาเรียนครับ” แล้วผมก็ถือโอกาสบอกอาจารย์ไปว่า “ผมได้อ่านหนังสือที่อาจารย์เขียน อ่านเข้าใจดีครับ แต่มีบางอย่างที่ยังไม่เข้าใจ อาจารย์สะดวกไหมครับถ้าผมจะนำมาถามอาจารย์” อาจารย์ธาดาตอบกลับมาว่า “ได้ ไม่มีปัญหา แต่สิ่งที่คุณจะนำมาถามผมนะ คุณคิดมาหรือยัง พยายามครุ่นคิดหาคำตอบมาแล้วหรือยัง” ผมงงอยู่พักหนึ่ง
นับจากตอนนั้นไม่กี่วินาทีเองครับ อาจารย์ก็ได้สั่งสอนผม ให้ผมเป็นคนที่จับปลาเป็น ไม่ใช่หาปลาให้ผม เป็นคำสอนที่ไม่ได้ตอบคำถามผมสักนิดเลย แต่สุดท้าย ทุกคำถามที่ผมตั้งใจจะนำมาถามอาจารย์ ผมก็สามารถตอบได้โดยคำตอบนี้…..
“การที่คุณอ่านหนังสือแล้วมีคำถามนั้นเป็นสิ่งที่ดีมาก แต่ก่อนที่คุณจะมาถามผม ผมอยากถามคุณว่า คุณได้คิดไตร่ตรองมันดีแล้วหรือยัง ผมอยากให้คุณอ่านอะไรแล้วตั้งคำถามและคิดหาคำตอบนั้นอย่างใช้วิจารณญาณ คำตอบของคำถามล้วนอยู่ในหลักสรีรวิทยาพื้นฐาน ให้กลับไปดูที่นั้นแล้วสรุปเป็นคำพูดที่กระชับ ภาษาง่ายๆ ตามที่ตนเองเข้าใจ ถ้ายังไม่เข้าใจแล้วจึงมาถามผม”
หลังจากสิ้นคำตอบนั้น ผมก็ขอบพระคุณอาจารย์ แล้วเดินจากไปด้วยความคิดว่า การจะสร้างบ้านหลังใหญ่ รากฐานจะต้องมั่นคง ผมจะกลับไปศึกษาไปให้ถึงรากถึงแก่นของมัน แล้วจะเอาความรู้เหล่านั้นมาประยุกต์ใช้ทางคลินิก และอีกไม่กี่วันหลังจากนั้นผมก็พบอาจารย์อีกที่เดิม อาจารย์กำลังจะไปออกตรวจคนไข้ ผมเดินตามหลังอาจารย์แล้วอาจารย์ก็หันกลับมาบอกว่า “ยังหนุ่มอยู่ อย่าเดินช้า ให้เดินเร็วๆ”
วันหนึ่ง ขณะที่ผมกำลังปฏิบัติงานอยู่ที่หน่วยจักษุวิทยา พี่แพทย์ใช้ทุนบอกให้ฟังว่า วันนี้อาจารย์ธาดามาตรวจตาด้วย อาจารย์เจ็บตาน้ำตาไหล หลังจากนั้นไม่กี่วันผมก็ได้ทราบข่าวว่าอาจารย์เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ผมตกใจมาก เพราะเมื่อไม่นานมานี้ยังคุยกับอาจารย์ดีๆอยู่เลย
หลังจากนั้นสักระยะ ก็เริ่มเห็นอาจารย์มานอนพักที่อาคารเฉลิมพระบารมีชั้น 12 ผมไปหาอาจารย์แต่ไม่กล้าเข้าไปเยี่ยม ทำได้แค่ถามพี่พยาบาลว่าวันนี้อาจารย์เป็นอย่างไรบ้าง สบายดีไหม และทุกๆ ครั้งที่ผมได้รับคำตอบจากพี่พยาบาลว่า อาจารย์สบายดี รับยาเคมีแล้วไม่มีอาการอะไร ผมโล่งใจมากและกลับบ้านมีความสุขทุกครั้ง
ผมมาเยี่ยมอาจารย์ผ่านพี่พยาบาลบ่อยมาก แต่ที่แปลกใจมากเลย คือวันหนึ่ง ผมขึ้นมาหาอาจารย์แล้วอาจารย์ไม่อยู่ ถามพี่พยาบาล พี่บอกว่าอาจารย์ไปออกตรวจคนไข้ อาจารย์ท่านไม่อยากอยู่นิ่งๆ ผมรู้สึกประทับใจในตัวอาจารย์มากและตั้งใจจะเอาความขยันและสม่ำเสมอของอาจารย์มาเป็นแบบอย่าง
และแล้ววันหนึ่ง ฝันของผมก็เป็นจริง พี่พยาบาลคงเห็นผมมาหลายครั้งแต่ไม่ได้เข้าไปหาอาจารย์สักที เลยพาผมเข้าไปพบอาจารย์ อาจารย์ผอมลงไปนิดหนึ่ง ผมสวัสดีอาจารย์ แล้วอาจารย์ก็ถามผมว่า “เป็นยังไงบ้าง จะมีอะไรมาถาม” ผมดีใจที่อาจารย์จำผมได้ ผมตอบกลับไปว่า “เปล่าครับ ไม่ได้จะเอาอะไรมาถาม แค่อยากมาเยี่ยมอาจารย์เพราะเป็นห่วงว่าอาจารย์ไม่สบาย ผมพอทราบมาบ้างแล้วว่าอาจารย์ป่วยเป็นอะไร อาจารย์ไม่ต้องห่วงนะครับ ผมกลับบ้านอาบน้ำมาแล้ว เพราะอาจารย์ไม่สบายอยู่ เดี๋ยวผมจะพาเชื้อโรคมาติดอาจารย์”
อาจารย์ตอบกลับมาว่า “พามาติดบ้างก็ดี ผมจะได้แข็งแรงขึ้น ผมก็สบายดี มีแค่กายเท่านั้นที่ป่วย ใจผมสบายดี” อาจารย์บอกผมว่า “มีอะไรก็ถามได้ จะให้ไปสอนไหม นัดไปเลย คืนวันอังคารผมไปได้” ผมตอบกลับไปว่า “ไม่รบกวนดีกว่า อยากให้อาจารย์พักผ่อนครับ” อาจารย์อยู่ดีๆ ก็ถามผมว่า “โตขึ้นคุณอยากเป็นอะไร” ผมตอบกลับว่า “ผมอยากเป็นอายุรแพทย์โรคหัวใจเหมือนอาจารย์ ให้ได้สักครึ่งหนึ่งของอาจารย์ก็ยังดี”
อาจารย์ทำหน้าดุ แล้วตอบกลับมาว่า “คุณจะเป็นแบบผมไม่ได้ คุณต้องเป็นแบบตัวคุณที่คุณเป็น แต่คุณนำผมเป็นแบบ ไปปรับเข้ากับตัวคุณได้ และคุณอย่าคิดแค่เพียงว่าจะได้เท่าผมหรือครึ่งหนึ่งของผม คุณเป็นได้มากกว่าผมถ้าคุณมีความตั้งใจที่มุ่งมั่นและมีความพยายามที่ไม่ลดละ” หลังสิ้นคำพูดนี้ ผมนิ่งไปพักหนึ่ง แล้วผมก็ถามอาจารย์ว่า “อาจารย์มีอะไรจะแนะนำผมอีกไหม” อาจารย์ตอบว่า “ทำอะไรก็ได้ที่คุณทำแล้วมีความสุข และผมก็คิดว่าคุณพบสิ่งนั้นแล้ว”
คำพูดนี้ผมได้เก็บไว้เป็นพลังเวลาผมเหนื่อยมาตลอด และผมอยากให้ทุกๆ ท่านที่ได้อ่านบทความนี้นำคำพูดเหล่านี้ของอาจารย์เก็บไว้เป็นข้อคิดเตือนใจด้วยครับ นับจากวันนั้นเป็นต้นมา ผมอ่านหนังสือโรคหัวใจจริงจังและเดินถามพี่แพทย์ว่า มีคนไข้โรคหัวใจไหมครับ ทุกๆ วัน วันละอย่างน้อย 5 รายก่อนกลับบ้านตอนเย็นตลอด เพราะผมยึดถือว่าอาจารย์บอกให้ผมตั้งใจและพยายามแล้วผมจะสำเร็จ
เช้าวันหนึ่ง ผมเดินสวนกับอาจารย์พรรณทิพย์ อาจารย์บอกผมว่าอาจารย์ธาดาเลือดออกในสมอง ผมตกใจมาก และผมได้ขึ้นไปเยี่ยมอาจารย์ธาดาพร้อมกับอาจารย์พรรณทิพย์ที่หออภิบาลผู้ป่วยหนักศัลยกรรม หลังจากนั้นอาจารย์ย้ายไปที่หออภิบาลผู้ป่วยหนักอายุรกรรม ผมไปหาอาจารย์เกือบทุกวันเพราะผมรู้ว่าอาจารย์คงอยู่กับเราอีกไม่นาน และผมก็กำลังจะไปเชียงใหม่
ในช่วงเวลานั้นเอง คำพูดต่างๆ ของอาจารย์ลอยอยู่ในหัวผมตลอดเวลา ผมได้แต่คิดในใจว่า ผมจะอยู่เฉยๆ ไม่ได้แล้ว เพราะแม้แต่อาจารย์ป่วยอาจารย์ยังทำงาน จะต้องพยายามให้หนักขึ้นอีก ผมจึงตรวจคนไข้โรคหัวใจทุกเย็น และไปหาคนไข้เพิ่มที่ศูนย์โรคหัวใจเพื่อจะได้ฝึกฝนตามที่อาจารย์บอก และหลังจากนั้นไม่นาน ตอนผมอยู่ที่เชียงใหม่ พี่ธนพลโทรมาบอกว่าอาจารย์เสียชีวิตแล้ว ผมได้ยินแล้วก็ไม่ได้ตกใจมากเพราะทำใจไว้แล้ว ผมได้โทรเข้าโทรศัพท์ของเพื่อนและขอเรียนสายอาจารย์พรรณทิพย์ อาจารย์บอกว่าให้ผมอยู่ที่นั่น อย่าลำบากมา เพราะถ้าอาจารย์ธาดารู้คงไม่ถูกใจ อาจารย์ไม่อยากให้ใครลำบากเพราะอาจารย์
ทุกคำพูดที่อาจารย์ธาดาสอนและทุกข้อคิดที่อาจารย์ให้ ยังอยู่ในใจผมตลอดจนทุกวันนี้ เปรียบเสมือนแสงคอยส่องทางให้ผมไปถึงจุดมุ่งหมาย อาจารย์ทำให้นักศึกษาแพทย์ธรรมดาๆ คนหนึ่งมีความมุ่งมั่นและใฝ่ฝันที่จะเป็นหมอโรคหัวใจดังเช่นอาจารย์ มีพลังที่จะคอยดูแลคนไข้และแสวงหาความรู้ต่อไป ผมมีโอกาสเพียงเศษเสี้ยวที่ได้สัมผัสอาจารย์ แต่ทุกคำสอนนั้นมีค่ายิ่ง อยากให้เพื่อนๆ นักศึกษาแพทย์นำข้อคิดเหล่านี้ ไปคิดและทำ
ทุกๆ วันนี้ ทุกๆ ครั้งที่ผมจะลงมือตรวจคนไข้ ยังคงมีคำพูดที่อาจารย์สอนก้องอยู่ตลอดเวลาโดยเฉพาะคำว่า “ตรวจไปคิดไป” ยังคิดถึงอาจารย์ธาดาอยู่เสมอครับ ครูแพทย์ผู้ประเสริฐ