นครศรีธรรมราช - 100 แพทย์ไทยในสหรัฐอเมริกา ไม่ลืมบ้านเกิด บินตรงโรงพยาบาลมหาราชนครศรีฯ ร่วมมือพัฒนาประสบการณ์แพทย์-พยาบาล และระบบการรักษาผู้ป่วยที่ทันสมัย
วันนี้ (6 ก.พ.) ที่ห้องประชุมอาคารเฉลิมพระบารมี โรงพยาบาลมหาราช นครศรีธรรมราช นายแพทย์ กมล พฤกษวิวัฒน์ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลมหาราช ร่วมต้อนรับนายแพทย์ อภินันท์ ธิติประเสริฐ นายกสมาคมแพทย์ไทยในอเมริกา (TPAA) พร้อมคณะแพทย์ชาวไทยที่ประกอบวิชาชีพแพทย์ในประเทศสหรัฐอเมริกา และแพทย์อาสาสมัครอีก 100 คน ที่เดินทางมาจัดการประชุมวิชาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ วิชาการ และประสบการณ์วิชาชีพในต่างประเทศ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-10 ก.พ.2555 โดยมีแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ นักศึกษาแพทย์ จากโรงพยาบาลมหาราช โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลใกล้เคียงกว่า 300 คน เข้าฟังการบรรยาย การสาธิต และร่วมผ่าตัดผู้ป่วย
นายแพทย์ กมล พฤกษวิวัฒน์ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลมหาราช นครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า กิจกรรมนี้เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของแพทย์และพยาบาลในการผ่าตัดผู้ป่วย รวมทั้งองค์ความรู้ที่พัฒนาเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจะเน้นไปที่เรื่องนอกตำรา เนื่องจากคณะแพทย์ชาวไทยที่ไปประกอบวิชาชีพในอเมริกาเป็นแพทย์ที่เชี่ยวชาญ มีประสบการณ์หลายสิบปี ทั้งนี้ เป้าหมายสำคัญคือลดความเสี่ยงในการรักษาผู้ป่วยและเพิ่มความสำเร็จให้สูงที่สุด
“ปัญหาของเราตอนนี้ คือ เรื่องของงบประมาณที่มีอย่างจำกัด รายได้ที่ของการบริการภายในมีน้อย บางส่วนเราต้องลดเครื่องมือแพทย์ที่มีความสำคัญ ซึ่งสมาคมแพทย์ไทยในอเมริกาทั้งหมดที่เข้ามาช่วยร่วมมือครั้งนี้ ออกค่าใช้จ่ายเองโดยใช้งบประมาณส่วนตัว ซึ่งได้เลือกลุ่มงานกุมารเวชกรรมในการให้การช่วยเหลือ และเครื่องมือที่จัดหามานั้นเป็นเครื่องเอกซเรย์ในระหว่างการผ่าตัด ซึ่งต้องใช้กว่า 50 เปอร์เซ็นของจำนวนผู้ที่เข้าผ่าตัด ซึ่งขณะนี้กำลังประสานกัน” นายแพทย์กมล กล่าว
ด้าน นายแพทย์ อภินันท์ ธิติประเสริฐ นายกสมาคมแพทย์ไทยในอเมริกา (TPAA) กล่าวว่า สมาคมแพทย์แห่งนี้ไม่ได้เพิ่งเริ่มกิจกรรม แต่เริ่มมานานกว่า 20 ปีแล้ว เดิมทีนั้นเมื่อเรากลับมาเมืองไทย จะเปิดคลินิกให้การรักษาประมาณ 1,000 คนต่อวัน แต่ระยะหลังเมื่อมีปัญหาแพทย์โดนฟ้อง เราจึงมีการปรับเปลี่ยนการช่วยเหลือ โดยหันมาทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนกันทางวิชาการ ช่วยเหลือในเรื่องของการขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น ระบบการปรับระดับออกซิเจนในเลือกของเด็กขณะทำการผ่าตัด เครื่องวัดระดับออกซิเจนในเลือดระหว่างการผ่าตัด ระบบปรับอุณหภูมิของทารก เครื่องเอกซเรย์กระดูกระหว่างผ่าตัดเด็ก เครื่องตรวจทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น ซึ่งขณะนี้บางส่วนกำลังประสานการจัดหาเพิ่มเติมจากผู้ประสงค์จะบริจาค เนื่องจากเครื่องใช้งานทางการแพทย์นั้นมีราคาสูง