คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
วันนี้ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา มีเรื่องใหญ่ๆ ที่คนในพื้นที่นำมาเป็น หัวข้อในการพูดคุยกัน 2 เรื่อง
เรื่องแรกคือเรื่องเงินค่าเยียวยาผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ และเรื่องที่ 2 คือ เรื่องชาวบ้านถูกทหารพรานยิงเสียชีวิต 4 ศพ และบาดเจ็บอีก 4 ราย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 29 ม.ค. ที่ ต.ตะโลปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี
ทั้ง 2 เรื่องเป็นเรื่องร้อนๆ ที่หากเจ้าหน้าที่รัฐบริหารจัดการไม่ถูกต้องเมื่อไหร่ มีโอกาสที่จะลุกลามเป็น “ไฟลามทุ่ง” และจะกลายเป็น “ภัยแทรกซ้อน” ของภัยเหตุร้ายรายวันที่เกิดจากขบวนการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งวันนี้ยังหาข้อยุติความรุนแรงไม่ได้
นับตั้งแต่เกิดเหตุทหารพรานยิงชาวบ้านเสียชีวิตและบาดเจ็บ ผมใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัด ทางหนึ่งเป็น “วิชาชีพ” ที่ต้องแสวงหาข้อเท็จจริง เพื่อเสนอต่อ “สาธารณะ” และอีกทางหนึ่งเป็น “หน้าที่” ในสถานะสมาชิกสภาที่ปรึกษาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีหน้าที่ ตรวจสอบ เสนอแนะแนวทางการแก้ปัญหาให้กับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต.
ซึ่งผมอยู่ในสถานะของประธานคณะยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนของสภาที่ปรึกษาฯ และสภาที่ปรึกษาฯ มอบหมายให้เป็นคณะที่ต้องติดตามแสวงหาข้อเท็จจริง เพื่อรายงานต่อสภาที่ปรึกษาฯ ดังนั้นเวลาช่วงนี้ของผมคือการเดินทางอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดเป็นส่วนใหญ่
หลังวันที่ 29 ม.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่ทหารพรานยิงชาวบ้านเสียชีวิตและบาดเจ็บนั้น ยอมรับว่าคนในพื้นที่ 3 จังหวัดที่เป็น “มุสลิม” เป็นเดือดเป็นแค้นต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างยิ่ง
โดยเฉพาะคำให้สัมภาษณ์ของ พล.ต.อัคร ทิพโรจน์ รอง ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่ระบุว่ามี “แนวร่วม” แฝงตัวให้ประชาชนผู้บาดเจ็บและชีวิต เป็น “โล่มนุษย์” ยิงใส่ทหารพราน เพื่อให้ทหารพรานยิงปืนใส่ประชาชนผู้บริสุทธิ์
รวมทั้งการให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ที่เห็นว่าผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็น “แนวร่วม” ขบวนการก่อความไม่สงบ
แต่สถานการณ์ที่ร้อนระอุ สามารถเย็นลงได้ระดับหนึ่ง เนื่องจาก พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า รวมทั้ง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. ซึ่งรีบลงพื้นที่พบปะพูดคุยทำความเข้าใจกับผู้เสียหายและญาติของผู้เสียชีวิต
หลังจากนั้นท่าที่ของ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ก็เปลี่ยนเป็นยอมรับถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ในขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ออกมายอมรับถึงความผิดพลาดและพร้อมที่จะเยียวยา
วันนี้ชาวบ้านยังค้างคาใจอยู่ 2 ประเด็น ประเด็นแรกคือ ขอให้กองทัพออกมาขอโทษต่อผู้สูญเสียอย่างเป็นทางการ ในการกล่าวหาชาวบ้านว่าเป็น “แนวร่วม” และประเด็นที่ 2 คือ เรื่องอาวุธปืนที่อยู่ในรถยนต์ของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ซึ่งชาวบ้านทั้งหมดต่างเชื่อว่าเป็นการ “จัดฉาก” ของเจ้าหน้าที่เพื่อเอาตัวรอด หลังจากรู้ว่าเกิดความผิดพลาดในการปฏิบัติการ
เรื่องอาวุธปืนจึงเป็นเรื่องใหญ่ที่สร้างความคับแค้นใจให้กับคนใน 3 จังหวัด รวมทั้งประชาชนทั่วไป ถึงแม้ขณะนี้ประเด็นเรื่องอาวุธปืนยังอยู่ในขั้นตอนของการตรวจสอบทางนิติวิทยาศาสตร์ เช่นลายนิ้วมือ ดีเอ็นเอ เขม่าดินปืน และอื่นๆ แต่ในความรู้สึกของชาวบ้านทุกคนเชื่อไปแล้วว่า เป็นการ “จัดฉาก” ของเจ้าหน้าที่ เพื่อที่จะให้ประชาชนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บมีความผิดร่วม
เหมือนกับคดีขับรถชนคนตาย แล้วหาหลักฐานให้คู่กรณีมีความผิดร่วม เพื่อที่จะได้ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหาย หรือถึงแม้ต้องจ่ายก็จ่ายเพียงครึ่งเดียว หรือแค่จ่ายค่าเสียหายแต่ไม่ต้องรับโทษทางอาญา
ดังนั้นประเด็นนี้ หากผลการพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ออกมาว่า มีลายนิ้วมือ หรือมีดีเอ็นเอของผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บติดอยู่ที่อาวุธปืน สิ่งที่จะติดตามมาคือความคับแค้นใจของคนในพื้นที่ และเป็นความยินดีของขบวนการแบ่งแยกดินแดน ที่จะได้ใช้เงื่อนไขที่เกิดขึ้นเป็นข้ออ้างในการปลุกระดมทางการเมือง เพื่อเพิ่มจำนวนแนวร่วมให้กับขบวนการ
ดังนั้น กอ.รมน. ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ต้องตั้งรับกันให้ดี และนอกนั้น ครู พระ และข้าราชการพลเรือนอื่นๆ ก็เตรียมตัวรับเคราะห์จากการก่อเหตุรุนแรงเพื่อเป็นการตอบโต้เจ้าหน้าที่รัฐ
เช่นเดียวกับเรื่องการ “เยียวยา” ซึ่งกลายเป็นประเด็นร้อน ที่ร้อนยิ่งกว่าประเด็นฆ่า 4 ศพ เพราะหลังจากที่ ครม.มีมติจ่ายค่าเยียวยาให้ให้คน “เสื้อแดง” 91 ศพที่เสียชีวิตทางการชุมนุมเรียกร้องทางการเมือง
เสียงทวงถามความชอบธรรมจากคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เสียชีวิตจากน้ำมือเจ้าหน้าที่ก็ค่อยๆ ดังขึ้น จากทีละน้อย กลายเป็น “กระหึ่ม” และขณะนี้เสียงทวงถามรัฐบาลถึงความชอบธรรมถึงมาตรฐานของรัฐบาลก็ดัง “กึกก้อง” ขึ้นอย่างน่าตกใจ
ยิ่งมีข่าวว่ากรณี “กรือเซะ” และ “ตากใบ” รวมถึง “ไอร์ปาแย” ไม่อยู่ในกฎเกณฑ์ของการเยียวยา 7.75 ล้าน ยิ่งทำให้เกิดความสับสนวุ่นวายขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากขณะนี้มี “นายหน้าประชาชน” เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เข้าไปพบปะกับญาติผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ ผู้พิการและผู้เสียหาย ที่ต่างมีส่วนที่จะได้รับเงินค่าเยียวยารอบใหม่ ซึ่งมีกรณีของคน “เสื้อแดง” เป็นตัวอย่าง
รวมถึงหลักเกณฑ์ใหม่ของ ศอ.บต.ในเรื่องการเยียวยา “เหยื่อ” สถานการณ์ ที่จากการเยียวยาศพละ 100,000 บาท เป็น 500,000 บาท ซึ่งยังอยู่ระหว่างการตั้งคณะกรรมการกำหนดกฎเกณฑ์กติกาว่า จะมีการจ่ายย้อนหลัง หรือจะเริ่มจากปีไหน ยิ่งทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นชนิดที่ฝุ่นตลบ เพราะมีขบวนการ “นายหน้าประชาชน” เกิดขึ้นมากมายเพื่อแบ่ง “เม็ดเงิน” ในการเข้าไปช่วยเหลือผู้ตกเป็นเหยื่อ
หากสุดท้ายกฎเกณฑ์กติกาไม่เป็นไปอย่างที่คนส่วนหนึ่งคาดหวัง สิ่งที่เกิดขึ้นคือการเรียกร้อง ชุมนุมและเดินขบวน สุดท้ายความวุ่นวายก็จะเกิดขึ้น เพราะเรื่องของ “เงิน” ที่ใช้ในการเยียวยานั่นเอง
ล่าสุดผมเห็นเอกสารของขบวนการพูโลที่ส่งผ่านทางเว็บต่างๆ กล่าวหารัฐบาลใช้ “เงิน” ฟาดหัวคน “มุสลิม” ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เหมือนกับชีวิตชาว “มาลายู” ไม่มีค่า ไม่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ฆ่าแล้วจ่ายเงินทุกอย่างก็จบกัน
รวมทั้งผมเห็นการนำเรื่อง 4 ศพที่ถูกกระทำโดยทหารพราน ถูกเผยแพร่ทั้งทางเฟสบุ๊คและอื่นๆ ในโลกออนไลน์อย่างรวดเร็ว และมีเสียงตอบรับด้วยความคับแค้นจากคนส่วนหนึ่งทั้งในพื้นที่ นอกพื้นที่และในสังคมโลก
ด้วยประสบการณ์ของผม ผมตอบได้ทันทีว่า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งจังหวัดสงขลา จะมีเหตุการณ์ก่อการร้ายที่รุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในปี 2555 นี้ ใครมีหน้าที่แก้ปัญหาก็เตรียมๆ กันให้พร้อม เพราะความประมาทคือหนทางแห่งความสูญเสีย
และผมก็เชื่อด้วยประสบการณ์ของผมเช่นกันว่า เรื่องการใช้เงินเยียวยาจะเป็นอีกปัญหาหนึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่สุดท้ายไม่ว่าจะจ่ายเท่าไหร่ ก็จะเป็นการสูญเปล่าคือ เสีย “เงิน” แต่ไม่ได้ “ใจ” นั่นเอง
และที่ผิดพลาดเป็นอย่างยิ่งในนโยบายของรัฐ ต่อการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้คือ การใช้ “เงิน” เป็น “ตัวตั้ง” ในการแก้ปัญหา ซึ่งมีตัวอย่างของความล้มเหลวที่ชัดเจน นั่นคือ การแก้ปัญหาของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าที่ผ่านมา ที่มีการใช้งบประมาณกว่า 100,000 ล้าน แต่ล้มเหลวในการแก้ปัญหานั่นเอง
แต่แปลกที่รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ไม่เคย “ซึมซับ” บทเรียนที่เกิดขึ้น และยังพร้อมที่จะเดินไปสู่เส้นทางแห่งความหายนะ ครั้งแล้วครั้งเล่า