xs
xsm
sm
md
lg

ป่าไม้ตรังวิกฤตถูกบุกรุกหนักเหลือแค่ 6.6 แสนไร่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง - ป่าไม้ตรังอยู่ในภาวะวิกฤติ พบเหลือแค่ 6.6 แสนไร่ หรือ 21% ของพื้นที่จังหวัด ทำให้ต้องจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันปราบปรามและฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน พบอีกหลายพื้นที่เสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

นายไชยยศ ธงไชย รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า ขณะนี้ จ.ตรัง มีป่าสงวน 64 ป่า เนื้อที่รวม 1,475,625 ไร่ แต่หลังจากมีการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ทำให้เหลือป่าสงวนเพียง 58 ป่า เนื้อที่ 1,100,504 ไร่ ซึ่งผลจากการตรวจวิเคราะห์พื้นที่ด้วยภาพถ่ายดาวเทียม เมื่อปี 2553 ของกรมป่าไม้ พบว่า จ.ตรัง มีพื้นที่ป่าไม้เหลืออยู่ประมาณ 668,150 ไร่ หรือร้อยละ 21.74 ของพื้นที่จังหวัด จึงนับเป็นสถานการณ์ที่อยู่ในภาวะวิกฤต เพราะตามหลักวิชาการป่าไม้ จะต้องมีพื้นที่ป่าไม้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของพื้นที่จังหวัด หรือประมาณ 1,235,250 ไร่

สำหรับพื้นที่ป่าไม้ของ จ.ตรัง ที่ยังคงเสี่ยงต่อการถูกบุกรุก หรือมีสถิติคดีป่าไม้ค่อนข้างสูงและต่อเนื่อง มีจำนวน 5 พื้นที่ ประกอบด้วย 1.อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ในพื้นที่ 6 ตำบล ของ อ.สิเกา และ อ.กันตัง 2.อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า ในพื้นที่ 9 ตำบล ของ อ.นาโยง อ.เมืองตรัง อ.ห้วยยอด และ อ.รัษฎา 3.เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด ในพื้นที่ 5 ตำบล ของ อ.ปะเหลียน อ.ย่านตาขาว และ อ.นาโยง 4.เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-เขาคราม ในพื้นที่ 2 ตำบล ของ อ.วังวิเศษ และ อ.สิเกา 5.ป่าสงวนแห่งชาติในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ ในพื้นที่ 8 ตำบล ของ อ.สิเกา อ.วังวิเศษ อ.ห้วยยอด อ.ปะเหลียน และ อ.กันตัง

ทั้งนี้ จังหวัดตรังได้จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ประจำปี 2555 ขึ้น เพื่อดำเนินงานหรือฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้ให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด โดยการตรวจลาดตระเวน หรือเฝ้าระวังพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และดำเนินการตรวจยึด จับกุม ดำเนินคดีอย่างเคร่งครัดทุกระดับชั้นการสอบสวน พร้อมทั้งใช้มาตรการทางกฎหมายในการป้องกันและปราบปรามผู้บุกรุก ตามมาตรา 22 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504, มาตรา 25 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ตลอดจนทำการฟื้นฟูปลูกป่า และจัดทำโฉนดชุมชน เป็นต้น

สำหรับการติดตามปัญหาอุปสรรคการดำเนินคดีป่าไม้ที่เป็นคดีรายใหญ่ ผู้มีอิทธิพล หรือสาธารณชนให้ความสนใจ รวมทั้งคดีคงค้าง มีทั้งหมด 6 เรื่อง เช่น กรณีบริษัท เกาะมุก ชาลีบีช รีสอร์ท จำกัด บุกรุกพื้นที่ป่าบนเกาะมุกด์ ซึ่งขณะนี้คดียังอยู่ในชั้นศาล หรือกรณีใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อรื้อถอนทำลายพืชผลอาสิน ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด ต.นาชุมเห็ด และ ต.โพรงจระเข้ ของ อ.ย่านตาขาว จำนวน 20 แปลง เนื้อที่ 142 ไร่ แต่ได้เกิดปัญหาการต่อต้านจากกลุ่มองค์กรเครือข่ายชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด จำนวน 6 แปลง เนื้อที่ 33 ไร่ 3 งาน 35 ตารางวา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างชะลอดำเนินการ

นอกจากนั้น ยังมีกรณีบุกรุกพื้นที่ทุ่งหญ้า ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม ซึ่งจับกุมผู้ต้องหาได้ถึง 65 คน แต่กระทำไปเพื่อต้องการจัดสรรที่ดิน และไม่มีเจตนาบุกรุก โดยคดีนี้ทางพนักงานสอบสวนและอัยการสั่งไม่ฟ้อง ส่วนกรณีบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขารังสาด ป่าทะเลสองห้อง และป่าพะยอมพอก อ.ห้วยยอด ซึ่งเป็นเขตรอยต่อ ที่ผ่านมามีปัญหามานานแล้ว ซึ่งขณะนี้ทางนายอำเภอห้วยยอด เตรียมใช้มาตรา 25 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 เพื่อรื้อถอนทำลายพืชผลอาสินที่มีการบุกรุก จำนวน 12 แปลง

นายไชยยศ ธงไชย รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า ได้ขอให้ทุกหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลทรัพยากรป่าไม้ ร่วมกันบูรณาการให้การปฏิบัติเกิดประสิทธิภาพสูงสุด เนื่องจาก จ.ตรัง มีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีคุณค่ามากมายและอยู่ในกลุ่มพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยว จึงต้องให้ความสำคัญกับทุกภาคส่วน พร้อมทั้งขอให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติยึดหลักความถูกต้องตามระเบียบและกฎหมาย ซึ่งจะเป็นแนวทางที่ทำให้การปฏิบัติมุ่งไปสู่ความสำเร็จ และติดตามผลความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น