xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ตรวจการแผ่นดินลุยสางรุกป่า “วังน้ำเขียว” - เร่งสรุปทางออกเสนอรัฐ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายศรีราชา  เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดินพร้อมคณะได้เดินทางลงพื้นที่รับฟังปัญหาเกี่ยวกับที่ดินใน อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา เป็นครั้งที่ 2  วันนี้ ( 18 ม.ค.)
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ผู้ตรวจการแผ่นดิน ลุยสางปัญหาที่ดินวังน้ำเขียวรอบ 2 เผย พบพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 หลายจุดต้องเร่งดำเนินการกัน ปชช.ออก ระบุมีพื้นที่ทับซ้อน 3 หน่วยงานอยู่กว่า 5 หมื่นไร่ ต้องแยกให้ชัดเจนก่อนจึงจะจัดการปัญหาได้ ชี้ ปชช.ควรได้สิทธิครอบครองเท่านั้น ไม่ควรได้สิทธิถือครอง เหตุเกรงนำไปขายให้นายทุนแล้วบุกรุกป่าเพิ่ม เผย ก.พ.สรุปแนวทางแก้ปัญหาเสนอหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องก่อนเสนอ ครม.พิจารณา

วันนี้ (18 ม.ค.) เมื่อเวลา 14.00 น.ที่ห้องประชุมชั้น 2 ที่ว่าการอำเภอวังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา นายศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมคณะได้เดินทางลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาเกี่ยวกับที่ดินใน อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา เป็นครั้งที่ 2 โดยมี นายสมศักดิ์ ปริสุทโธ เหมทานนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา, นายภูมิสิทธิ์ วังคีรี นายอำเภอวังน้ำเขียว, เลขาธิการ ส.ป.ก., ตัวแทนจากอุทยานแห่งชาติทับลาน, สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 (นครราชสีมา )และผู้นำชุมชน ภาคประชาชนเข้าร่วมประชุมหารือกว่า 100 คน

ในที่ประชุมได้มีการหารือถึงปัญหาที่ดินใน อ.วังน้ำเขียว ซึ่งมีที่ดินที่คาบเกี่ยว 3 หน่วยงาน ทั้ง อุทยานแห่งชาติทับลาน, เขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.) และเขตป่าสงวนแห่งชาติเขาภูหลวง ซึ่งได้เปิดโอกาสให้แต่ละหน่วยงานได้ชี้แจงปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ โดยใช้เวลานานกว่า 1 ชั่วโมง ก่อนที่จะเคลื่อนขบวนผู้ร่วมประชุมทั้งหมดลงตรวจสอบพื้นที่ที่เป็นปัญหารวม 6 จุด ประกอบด้วย 1.พื้นที่ใกล้กับแนวเขตที่จัดทำไว้เมื่อปี 2543 บริเวณ ต.ไทยสามัคคี, จุดที่ 2, 3 พื้นที่ทับซ้อนระหว่าง ส.ป.ก.และอุทยานแห่งชาติทับลานใน ต.ไทยสามัคคี, จุดที่ 4, 5 พื้นที่ทับซ้อนระหว่าง ส.ป.ก.และ ป่าสงวนแห่งชาติเขาภูหลวง เขาแผงม้า และ จุดที่ 6 คือ พื้นที่ ส.ป.ก.กันคืนให้กรมป่าไม้ ใน ต.วังน้ำเขียว อ.วังน้ำเขียว

นายภูมิสิทธิ์ วังคีรี นายอำเภอวังน้ำเขียว เปิดเผยว่า อ.วังน้ำเขียว จัดตั้งเป็นอำเภอเมื่อวันที่ 5 ธ.ค.2539 ประกอบด้วย 5 ตำบล 83 หมู่บ้าน ประกอบด้วย ต.วังน้ำเขียว, ต.อุดมทรัพย์, ต.ไทยสามัคคี, ต.วังหมี และ ต.ระเริง มีพื้นที่ประมาณ 7.06 แสนไร่ มีประชาชนจำนวน 42,442 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป พื้นที่ อ.วังน้ำเขียว เป็นเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน/เขาใหญ่ ประมาณ 2.5 แสนไร่ เป็นเขตปฏิรูปที่ดินประมาณ 2.4 แสนไร่ เป็นพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์เพียง 9,318 ไร่

ปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว คือ ปัญหาเรื่องแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน/เขตป่าอนุรักษ์ โซน C หรือป่าสงวนแห่งชาติเขาภูหลวง และเขต ส.ป.ก.มีความไม่ชัดเจน นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้ถือปฏิบัติตามมติ ครม.30 มิ.ย.2541 จึงทำให้การแก้ไขปัญหาไม่ได้ ตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา และต่อมา อดีต รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ (นายสุวิทย์ คุณกิตติ) ได้สั่งให้ยกเลิกการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ที่ได้ร่วมกันดำเนินการเพื่อปี 2543 แล้ว ทำให้เขตอุทยานแห่งชาติทับลานทับซ้อนที่อยู่อาศัย ชุมชน และที่ทำกินของประชาชนจำนวนมาก

“เรื่องที่เกิดขึ้นต้องโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยที่ปล่อยปละละเลยไม่ดำเนินการให้ถูกต้อง จนทำให้ปัญหาบานปลาย เช่นเดียวกับประชาชนก็มีการบุกรุกพื้นที่กันจำนวนมาก ตอนนี้ทุกฝ่ายต้องหาทางออกร่วมกัน” นายภูมิสิทธิ์ กล่าว

ด้าน นายศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า จากการรับฟังข้อมูลจากทุกฝ่ายในที่ประชุม ทราบว่า พื้นที่บางแห่งใน อ.วังน้ำเขียว เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 ซึ่งมีอยู่ประมาณ 2-3 จุด เป็นเรื่องที่จะต้องนำมาพิจารณากันอีกว่า พื้นที่เช่นนี้เราควรอนุรักษ์ไว้หรือไม่ ฉะนั้น ต้องพิจารณาลึกลงกว่าเดิมไม่ใช่จะมองแค่ใครเข้ามาก่อนมาหลัง หรือที่มาอยู่ต้องได้สิทธิ์อะไรทุกอย่าง แต่เราจะต้องมองลึกว่า ที่ดินในลักษณะเช่นนี้ควรจะให้ประชาชนอยู่หรือไม่ หากจะอยู่ต้องมีเงื่อนไขอย่างไร

“เราคงไม่ได้มองภาพแค่ว่าเข้ามาแก้ปัญหาแล้วจบๆ ไปอย่างเดียว คงจะมองด้วยว่าประชาชนที่จะอยู่อาศัยควรจะให้ประโยชน์แก่สังคมในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเช่นกัน เช่น ถ้าเขาจะทำการเกษตรในพื้นที่ดินที่ทำการเกษตรไม่ได้ จะยังให้ประชาชนอยู่ได้หรือไม่ ฉะนั้น มันก็ขัดกับเงื่อนไข หรือกรณีที่ว่าหากให้พื้นที่ไปจะไปทำตามที่ประชาชนคิดเอง จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมที่อยู่หรือไม่ ฉะนั้น การแก้ปัญหาต้องมองลึกลงไป และมองว่าควรทำอย่างไรเพื่อที่จะรักษาสภาพแวดล้อมไว้ให้เหมือนเดิม” นายศรีราชา กล่าว

นายศรีราชา กล่าวต่อว่า การเดินทางลงพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ของคณะผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งครั้งแรกได้นำเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่แล้ว 2 ครั้ง ก็เห็นว่า พื้นที่ อ.วังน้ำเขียว มีพื้นที่ทับซ้อนอยู่มาก แต่ละหน่วยงานที่มีแผนที่ก็ไม่ตรงกันอยู่ประมาณ 4-5 หมื่นไร่ ฉะนั้นต้องมาแยกให้ชัดเจนว่าเป็นพื้นที่ของใครเพื่อจะได้ตัดสินลงไปว่าประชาชนควรจะอยู่ได้อย่างไร ภายใต้เงื่อนไขอะไร ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่า การจัดการที่ดินใน อ.วังน้ำเขียว ควรจะให้สิทธิในการครอบครองมากกว่าจะให้เอกสารสิทธิถือครองแก่ประชาชนเพื่อป้องกันการเปลี่ยนมือไปให้กลุ่มนายทุน เพราะพอได้โฉนดแล้วมักจะไปขายและไปบุกรุกพื้นที่ใหม่ต่อ

การแก้ไขปัญหาที่ดินใน อ.วังน้ำเขียว นั้น ควรเป็นการตัดสินของรัฐบาลจะเหมาะสมกว่า แต่ในชั้นนี้เราทำได้เพียงการเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาเท่านั้น ซึ่งการเสนอต้องกลับไปที่กรมที่เกี่ยวข้องก่อนหากเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับแนวทางของผู้ตรวจการแผ่นดินก็เป็นอีกเรื่อง แต่ถ้าเห็นด้วยก็เสนอเข้าสู่ ครม.พิจารณา คาดว่า ทางสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินจะสรุปแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดินทั้งหมดของ อ.วังน้ำเขียว และเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ หากทุกหน่วยเห็นด้วยก็จะง่าย เพราะจะได้สรุปนำเสนอ ครม.ต่อไป นายศรีราชา กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น