ยะลา - นักวิชาการยะลาชี้ต้องนำคนในพื้นที่ประกบการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจ ป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาด เหมือนกรณี 4 ศพ ปัตตานี และต้องมีรัฐมนตรีเฉพาะดูแลพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้
จากกรณีทหารพรานใน อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ใช้อาวุธสงครามยิงเข้าใส่รถยนต์กระบะ ยี่ห้ออีซูซุ สีบรอนซ์เงิน ทะเบียน 3105 ปัตตานี เพราะเข้าใจผิดว่าเป็นรถยนต์ของกลุ่มคนร้ายที่ก่อเหตุยิงฐานทหารพราน 4302 บ้านน้ำดำ หมู่ที่ 2 ต.ปุโละปุโย ทำให้มีผู้เสียชีวิตทันทีภายในรถยนต์ จำนวน 4 คน ได้รับบาดเจ็บอีก 5 คน เหตุเกิดเมื่อคืนวันที่ 29 ม.ค. ที่ผ่านมานั้น เป็นที่ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้สนใจอย่างมาก ว่าข้อแท้จริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร รวมทั้งประเด็นที่เจ้าหน้าที่ออกมาบอกว่า มีอาวุธปืนอาก้า และ 11 ม.ม. อยู่ภายในรถยนต์คันดังกล่าวด้วย
ที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เขตเทศบาลนครยะลา อ.เมือง จ.ยะลา ผช.ศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์และนักวิชาการอิสระ กล่าวว่า สำหรับกรณีนี้เป็นปรากฏการณ์หนึ่งซึ่งมีอยู่จริงในพื้นที่ เป็นบทเรียนสำหรับผู้ปฏิบัติงานในหลายๆ กรณี เช่น เมื่อเกิดปัญหาขึ้น ทางหน่วยงานราชการได้รีบเข้าไปแก้ปัญหาโดยฉับพลัน โดยเฉพาะแม่ทัพภาคที่ 4 ลงเข้าไปแก้ปัญหาด้วยตนเอง และที่ต้องชมเชยเป็นกรณีพิเศษ คือ นายธีระ มินทราศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ที่มีการติดตามเหตุการณ์อย่างใกล้ชิด มีการบรรเทาทุกข์ให้กับชาวบ้าน พร้อมทำความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่ สิ่งที่สำคัญในขณะนี้และเป็นเรื่องเร่งด่วนในขณะนี้ คือ ชาวบ้านในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องการทราบความจริง ว่าสิ่งที่ปรากฏมีมูลเหตุมาจากสิ่งใด และใครเป็นผู้กระทำผิด ส่วนผู้ที่กระทำผิดก็ต้องรับผิดตามกฎหมายไทย
ฉะนั้น ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องรีบทำความจริงให้ปรากฏ โดยคณะกรรมการที่เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ ตนเองอยากวิงวอนให้มีภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม เพราะจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ ถ้าคณะกรรมตรวจสอบมีการแต่งตั้งเป็นเจ้าหน้าที่ทั้งหมดก็จะสร้างความเคลือบแคลงใจต่อประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งต้องนำบุคคลในพื้นที่ที่ประชาชนมยอมรับเข้าไปมีส่วนร่วมในการเป็นคณะกรรมการในการเข้าไปตรวจสอบ
และเมื่อเห็นถึงปรากฏการณ์ในส่วนนี้แล้ว ปัญหาเกิดขึ้นมีการสูญเสีย ทางรัฐจะต้องรีบเยียวยาด้วยความเป็นธรรมกับผู้เสียหายทั้งหมดเป็นการด่วน ในส่วนต่อไปนั้นเกี่ยวกับประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ การปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานทางด้านความมั่นคง กองกำลังต่างๆ ตนเองและประชาชนในพื้นที่ก็มีความเห็นใจในการปฏิบัติงาน เพราะเป็นเรื่องที่ต้องรีบเร่ง เป็นเหตุเฉพาะหน้า โอกาสพลาดพลั้งก็มีสูง
แต่หากว่ามีวิธีการที่ดีกว่านี้ เช่น ในกองกำลังต่างๆ ที่มีการตั้งฐานอยู่ในแต่ละพื้นที่ ต้องใช้กองกำลังผสมโดย มีตำรวจ อาสาสมัครรักษาดินแดน และ ชรบ. ซึ่งอาสาสมัครรักษาดินแดน และ ชรบ. เป็นจุดสำคัญ เพราะเป็นคนในพื้นที่ หรือมีผู้นำชุมชน ผู้นำหมู่บ้าน เข้าไปอยู่ในฐานปฏิบัติการ เป็นส่วนหนึ่งเกี่ยวกับการร่วมทำงานด้านความมั่นคงในพื้นที่ คนเหล่านี้จะเป็นกระบอกเสียงให้ฐานปฏิบัติการที่อยู่ในพื้นที่ได้อย่างชัดเจน ซึ่งตนเองอยากจะให้ภาคประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการตั้งฐานปฏิบัติการ เพราะจะเกิดความเข้าใจ และ ความรู้สึกที่ดี
ผช.ศ.ดร.สมบัติ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังมีอีกหลายๆ เหตุการณ์ที่ประชาชนในพื้นที ยังมีความเคลือบแคลงใจสงสัย เนื่องจากความจริงยังไม่ได้ถูกเปิดเผยออกมา ตนเองอยากให้ถือโอกาสนี้ ในการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเหตุการณ์ต่างๆ ว่าอะไรบ้างที่ประชาชนในพื้นที่สงสัย กรณีเหตุการณ์ใดบ้าง หากทางรัฐผิดก็ต้องดำเนินการ และก็ต้องมีการเยียวยาต่อผู้ที่เสียหาย ซึ่งสิ่งนี้เป็นการช่วงชิงมวลชน ความรู้สึกและความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ วันนี้ภาครัฐจะสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนในพื้นที่ได้อย่างไร นั่นเป็นคำถามที่ต้องตอบโจทย์ให้ได้
ตนเองอยากเห็นผู้ที่รับผิดชอบในแนวนโยบาย รับผิดชอบในการปฏิบัติงาน อยากให้มีรัฐมนตรีที่มีหน้าที่รับผิดชอบในกรณี พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สัก 1 ท่าน ให้ประกาศออกมาเลยว่าเป็นใคร และให้รัฐมนตรีท่านนี้ติดตามสถานการณ์ วางนโยบาย จัดกระบวนการต่างๆ เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาอย่างชัดเจน และพัฒนาพื้นที่ต่อไป อยากจะวิงวอนในจุดนี้ เพราะทางรัฐบาลเองก็ได้ทำงานมาพอสมควรแล้ว น่าจะสามารถหารัฐมนตรีที่จะมาดูแลเรื่องนี้โดยตรงได้