รายงาน
สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นสถานการณ์ที่กองทัพ โดยการบริหารจัดการของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เป็นฝ่ายตั้งรับมาตลอดเวลา 8 ปี โดยมีขบวนการแบ่งแยกดินแดนในชื่อ “นักรบปาตานี” เป็นฝ่ายรุกด้วยวิธีการใช้ความรุนแรง เพื่อสร้างความหวาดกลัวให้แก่ประชาชน เพื่อมิให้ประชาชนให้ความร่วมมือกับ กองกำลังทหารและเจ้าหน้าที่รัฐหน่วยอื่นๆ โดย “แนวร่วม” จะก่อเหตุร้ายเฉลี่ยวันละ 3-5 ราย ติดต่อกันมานาน 8 ปี เพื่อให้สังคมในประเทศและสังคมโลกเห็นถึงความ ล้มเหลว ในการ “จัดการ” กับปัญหาความไม่สงบของรัฐบาล
เหตุการณ์ร้ายที่ชาวบ้าน 9 คน ใช้รถกระบะเป็นพาหนะเพื่อเดินทางไปร่วมละหมาดงานศพของอดีตผู้ใหญ่บ้าน บ้านทุ่งโพธิ์ ต.ลิปะสะโง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี และเมื่อขับผ่านบ้านกาหยี หมู่ที่ 1 ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ห่างจากฐานทหารพราน 4302 ประมาณ 2 กิโลเมตร รถยนต์คันดังกล่าวถูกกราดยิงเข้าใส่จนพรุนหมดทั้งคัน ทำให้คนในรถยนต์เสียชีวิตทันที 4 ราย และบาดเจ็บสาหัส 4 ราย
ผู้ที่บาดเจ็บทั้ง 3 ราย โดยเฉพาะนายยา ดือราแม ต่างยืนยันว่า ผู้ที่กราดยิงใส่รถยนต์คันดังกล่าวเป็น เจ้าหน้าที่ทหารพราน โดยก่อนเกิดเหตุมีคนร้ายไม่ทราบจำนวนได้ใช้อาวุธเครื่องยิงระเบิดเอ็ม 79 ยิงเข้าใส่ฐานทหารพราน 4302 หมู่ 3 บ้านน้ำดำ ต.ปุโละปุโย ทำให้ทหารพรานถูกสะเก็ดระเบิดบาดเจ็บ 1 นาย ทหารพรานจึงได้ออกติดตามคนร้าย บนถนนสายดังกล่าว จนพบรถกระบะ อีซูซุ สีบรอนซ์เงิน หมายเลขทะเบียน 3105 ปัตตานี วิ่งย้อนศรผ่านมา และไม่หยุดให้ตรวจ จึงมีการกราดยิงใส่จนเป็นเหตุให้มีผู้ตายและบาดเจ็บเกิดขึ้น
แต่ สิ่งที่สร้างความคลางแคลงใจกับเหตุการณ์ดังกล่าวคือ การการตรวจสอบภายในรถยนต์คันดังกล่าว เจ้าหน้าที่กล่าวว่าพบปืนยิงเร็วอาก้า 1 กระบอก ปลอกกระสุน 2 นัด ซึ่งเจ้าหน้าที่เชื่อว่าเป็นของผู้อยู่ในรถยนต์ ในขณะที่ผู้ได้รับบาดเจ็บกล่าวว่า อาวุธปืนที่พบไม่ทราบมาจากที่ไหน เพราะชาวบ้านทั้งหมดเดินทางไปร่วมงานศพ ไม่มีใครมีอาวุธปืนติดตัวไปด้วย
และนี่คือปฐมเหตุของความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เกิดขึ้น ซึ่งเกิดจากความเข้าใจผิดของเจ้าหน้าที่ ผู้ปฏิบัติงานรักษาความสงบในพื้นที่
ในอดีตเคยเกิดเหตุเช่นนี้ที่ อ.เมือง จ.ปัตตานีมาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารนำกำลังเข้าปฏิบัติการในเหตุการณ์ “แนวร่วม” วางเพลิงเผาเสาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ในยามค่ำคืน และผ่านตลาดนัดพบเยาวชนกลุ่มหนึ่งวิ่งเล่นในตลาด ทหารเข้าใจผิดว่าเป็น “แนวร่วม” จึงกราดยิงด้วยอาวุธสงคราม เป็นเหตุให้มีคนตาย บาดเจ็บ พิการ กลายเป็น “เงื่อนไข” ความขัดแย้ง ก่อนที่จะจบลงด้วยการยอมรับผิดและ “เยียวยา” ให้แก่ผู้เสียหาย
และอีกหลายครั้งที่ “เงื่อนไข” ความขัดแย้งเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ เช่นคดีฆ่า 10 ศพ ในมัสยิดอัลฟูรกอน ต.ไอร์ปาแย อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ที่หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ไม่ยอมรับว่าเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่ จนกลายเป็นเงื่อนไขสงครามขึ้น สุดท้ายเมื่อจำนนด้วยหลักฐาน จึงยอมรับว่าเป็นการลงมือของอดีตทหารพราน
เช่นเดียวกับการกราดยิงร้านน้ำชา ที่บ้านกาโสด อ.บันนังสตา จ.ยะลา เมื่อกลางปี 2554 ที่ผ่านมา ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง ซึ่งกว่าที่จะมีการยอมรับว่าเป็นการลงมือของทหารพราน สถานการณ์ก็เข้าวิกฤต เกือบสูญเสียมวลชนทั้งหมู่บ้าน และอีกหลายต่อหลายครั้งที่ความสูญเสียของผู้บริสุทธิ์เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐทั้งโดยประมาท โดยไม่ตั้งใจ และโดยเจตนา
สิ่งเหล่านี้ ถ้าเกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆ ซึ่งไม่ใช่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหาคลี่คลายได้ไม่ยาก แต่สำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้ สิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการไม่ตั้งใจ ประมาท หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ตาม แต่กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง และความแตกแยกของมวลชน ซึ่งวิธีการของการแก้ปัญหาคือ ต้องรีบคลี่คลายสถานการณ์โดยเร็วที่สุด ก่อนที่จะมีการรวมตัวของมวลชน ก่อนที่ “แนวร่วม” จะมีการนำประเด็นที่เกิดขึ้นไปปลุกระดมให้ประชาชน โกรธแค้น เกลียดชัง เจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อให้เข้าทางของขบวนการแบ่งแยกดินแดน
เพราะหลายต่อหลายครั้งของการออกมาชุมนุม เรียกร้องขอความเป็นธรรม หรือการต่อต้านเจ้าหน้าที่รัฐ เกิดจากการที่เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติการรุนแรงเกินกว่าเหตุ หรือบ่อยครั้งที่ปฏิบัติการผิดพลาดเกิดขึ้น และโยนความผิดหรือสร้างสถานการณ์ให้ประชาชนผู้เคราะห์ร้ายกลายเป็น “แนวร่วม” เพื่อต้องการให้เจ้าหน้าที่รัฐพ้นจากความผิด โดยไม่ได้คำนึงถึงความรู้สึกของชาวบ้าน ผู้ซึ่งต้องสูญเสียแล้วยังถูกป้ายสีให้กลายเป็น “คนร้าย” อีกต่างหาก
เช่นเดียวกับ กรณี 4 ศพ และบาดเจ็บ 4 ราย ที่เกิดขึ้น สิ่งแรกที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบด้านยุทธการในพื้นที่ต้องดำเนินการในทันที คือสอบสวนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นโดยเร็ว อย่าได้มีการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่สีเดียวกัน ยิ่งการสร้างหลักฐานเท็จยิ่งไม่ควรทำ และเมื่อรู้แน่ว่าการสูญเสียของประชาชนทั้งหมดในครั้งนี้เกิดจากการปฏิบัติการโดยไม่ตั้งใจของเจ้าหน้าที่รัฐ สิ่งที่ต้องทำอย่างรวดเร็วคือ รับความจริงที่เกิดขึ้นว่าเป็นความผิดพลาด ทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่รวมทั้งประชาชนผู้เคราะห์ร้าย และให้การช่วยเหลือเยียวยาตามหลักมนุษยธรรม หรือตามกฎเกณฑ์ของทางราชการ
ทั้งนี้ เพื่อลดกระแสความไม่พอใจ และยุติการฉกฉวยโอกาสของ “นักรบปาตานี” ที่ต้องนำประเด็นดังกล่าวไปปลุกระดม โฆษณาชวนเชื่อ ให้ประชาชนเกลียดชัง ทหารพราน อย่างเช่นทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้
การให้ความเป็นธรรมแก่ “เหยื่อ” ที่เป็นผู้บริสุทธิ์ โดยไม่ต้องรอให้เขาเรียกร้อง หาความเป็นธรรม คือสิ่งที่ดีที่สุด เพราะหากปล่อยให้สถานการณ์ยาวนาน และสุดท้ายต้องคืนความเป็นธรรมให้แก่ “เหยื่อ” ผู้บริสุทธิ์ เพราะมีการออกมาเรียกร้องขอความเป็นธรรม ก็จะเหมือนกับว่า เราต้อง “เสียเงิน” แต่ไม่ได้ “ใจ” และสิ่งที่ตามมาคือการเสียมวลชน ซึ่งหมายถึงความล้มเหลวของงาน “การเมือง” ในพื้นที่
และสุดท้าย กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ต้องมีแผนในการป้องกัน คือ การป้องกันอย่าให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยๆ เพราะเหตุการณ์เยี่ยงนี้เกิดขึ้นแต่ละครั้ง หมายถึงความ “ศรัทธา” ของมวลชนที่มีต่อเจ้าหน้าที่หายไปอย่างหมดสิ้น หลายหน หลายครั้ง ที่เกิดเหตุการณ์เยี่ยงนี้ ขึ้น ทำให้เจ้าหน้าที่ต้อง นับหนึ่งใหม่ในการทำงานมวลชน และงานมวลชนคืองานที่สำคัญที่สุดในการแก้ปัญหาความไม่สงบของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้างานด้านมวลชน “พ่ายแพ้” นั่นหมายถึงความพ่ายแพ้ของประเทศนั่นเอง