โดย..ศูนย์ข่าวหาดใหญ่
นับตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2554 ที่ นายกฤษฎา บุญราช ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายจากจังหวัดยะลามาปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา รวมเวลา 60 วันแล้วที่มีโอกาสมาทำงานร่วมกับเพื่อนข้าราชการและชาวสงขลา ซึ่งมีงานหลายเรื่องที่ได้ดำเนินการแล้ว และบางเรื่องอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยนายกฤฎาได้ชี้แจงผ่านจดหมาย "60 วัน กับการทำงานที่สงขลา โดยนายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา" ดังนี้
เรื่องแรกเร่งด่วน ที่ผมได้ดำเนินการ คือ การแก้ไขปัญหากรณีราษฎรชุมนุมคัดค้านโรงไฟฟ้าจะนะ ซึ่งยืดเยื้อมาเป็นเวลานาน ผมได้แสดงความจริงใจในการแก้ไขปัญหาโดยการลงไปพบปะกับแกนนำและรับข้อเสนอที่สมเหตุสมผลมาดำเนินการ จนทำให้ผู้ชุมนุมได้ยินยอมสลายการชุมนุม
ขณะเดียวกัน ผมก็ได้ปฏิบัติตามพันธสัญญาที่ให้ไว้อย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการของบประมาณจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) 2.5 ล้านบาท และอนุมัติในหลักการใช้เงินกองทุนโรงไฟฟ้าฯ อีก 2.5 ล้านบาท สำหรับการปรับปรุงคณะกรรมการมูลนิธิคลองนาทับใหม่ โดยให้เพิ่มสัดส่วนตัวแทนของราษฎร ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ซึ่งจะมีสัดส่วนพี่น้อง ประชาชน เพิ่มเป็นกรรมการมูลนิธิฯ อีก 8 คน และผมได้เร่งรัดให้มีการประชุมคณะกรรมการกองทุนรอบโรงไฟฟ้าจะนะไปแล้วเมื่อเดือนมกราคม 2555
ปัญหาอุทกภัย เป็นปัญหาที่สำคัญของจังหวัดสงขลา ทั้งในเรื่องพายุพัดน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง และน้ำท่วมในเขตเศรษฐกิจของอำเภอหาดใหญ่ ผมได้ร่วมกันทำงานอย่างใกล้ชิดกับเทศบาลนครหาดใหญ่ คณะทำงานเฝ้าระวังเก็บข้อมูลน้ำจากภาคเอกชนและอาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ภายใต้การกำกับของรองผู้ว่าราชการจังหวัด นายพิรสิญจ์ พันธุ์เพ็ง ทำให้ระบบการเตือนประชาชนอพยพหนีน้ำเป็นไปด้วยความแม่นยำ
ขณะเดียวกันผมก็ไม่นิ่งนอนใจในการแก้ไขปัญหาระยะยาว โดยนำเสนอต่อกระทรวงมหาดไทยขอรับการสนับสนุนงบประมาณ จำนวน 5,000 ล้านบาท เพื่อทำการปรับปรุงคลองระบายน้ำพระราชดำริ ร.1 ให้สามารถระบายน้ำได้ถึง 1,200 ลบ.ม./วินาที ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบแล้วเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2555
นอกจากนี้ผมยังได้ประสานงานกับหน่วยทักษิณพัฒนา และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการวางแผนขุดลอกคลองอู่ตะเภาและบริเวณปากอ่าวเพื่อเร่งการระบายน้ำ รวมทั้งการวางระบบเตือนภัยในลุ่มน้ำเทพาและจะนะ และผมได้มีหนังสือถึงเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งจะส่งผู้เชี่ยวชาญมาให้คำแนะนำในเรื่องการป้องกันน้ำท่วมและการกัดเซาะชายฝั่งของจังหวัดสงขลาในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้
ปัญหายางพารา เป็นเรื่องการชุมนุมของเครือข่ายชาวสวนยางภาคใต้ ที่มาชุมนุมปิดถนนบริเวณ 4 แยกคูหา อำเภอรัตภูมิ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลประกันราคายางพาราที่กิโลกรัมละ 120 บาท และผมได้มอบหมายให้รองผู้ว่าราชการจังหวัด นายณัฐพงศ์ ศิริชนะ ได้เจรจาร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเครือข่ายชาวสวนยาง จนได้ข้อยุติที่ทุกฝ่ายพึงพอใจในการพยุงราคายางพาราที่กิโลกรัมละ120 บาท โดยใช้กลไกตลาดเป็นเครื่องมือ และเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2555 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณ 15,000 ล้านบาท ส่งผลให้ราคายางปัจจุบันเริ่มมีราคาสูงขึ้นประมาณกิโลกรัมละ 110 บาท จากเดิมประมาณ 80 บาท
ด้านเศรษฐกิจ ผมมีข่าวดีที่จะเรียนให้พี่น้อง ประชาชนทราบว่า โครงการปรับปรุงด่านสะเดา นายจำลอง ไกรดิษฐ์ นายอำเภอสะเดา ร่วมกับนายด่านศุลกากรสะเดา ประชุมหารือร่วมกับเจ้าของที่ดินจนได้ข้อยุติแล้ว เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2555 ซึ่งเจ้าของที่ดินยินดีที่จะรับค่าชดเชย ทำให้การปรับปรุงด่านสะเดาพื้นที่ 28 ไร่ สามารถดำเนินการได้ต่อไปโดยผมจะเร่งรัดการจ่ายเงินให้กับเจ้าของที่ดิน ซึ่งผมต้องขอขอบคุณท่านเจ้าของที่ดินทุกท่านที่กรุณาเสียสละเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ
และผมได้ปรึกษากับกรมทางหลวงว่าในระหว่างรอโครงการก่อสร้างทางยกระดับจากอำเภอสะเดาถึงอำเภอหาดใหญ่นั้น ผมขอให้ดำเนินการก่อสร้างสะพานยกระดับข้ามแยกไฟจราจร จำนวน 20 แห่งไปก่อน เพื่อแก้ปัญหารถติด ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา
ในเรื่องการรับจำนำข้าวเปลือกผมได้เร่งรัดให้โรงสีในพื้นที่สงขลาเริ่มเปิดดำเนินการรับจำนำข้าว ซึ่งมีโรงสีเข้าร่วม จำนวน 32 โรง ผ่านหลักเกณฑ์จากคณะกรรการแล้ว 16 โรง และผมได้ขอความร่วมมือให้ประธานสภาเกษตรกรอำเภอและจังหวัด กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน วิทยุชุมชน ได้ประชาสัมพันธ์ชี้แจงให้พี่น้องเกษตรกรรับทราบโดยทั่วกัน
ด้านศาสนา ผมได้สนับสนุนงบประมาณตามแผนพัฒนาจังหวัดในการถมดินเพื่อก่อสร้าง พุทธมณฑล จำนวน 10 ล้านบาท และจะตั้งงบประมาณสนับสนุนทุกปีจนกว่าจะแล้วเสร็จ โดยได้มอบหมายให้รองผู้ว่าราชการจังหวัด นายสุรพล พนัสอำพล เป็นผู้รับผิดชอบประสานงานโดยใกล้ชิด
ด้านความมั่นคง ผมได้รับมอบตัวผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคงของอำเภอสะบ้าย้อย 2 คนแล้ว และจะได้ร่วมกับหน่วยเฉพาะกิจสงขลา รวมทั้งฝ่ายตำรวจในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกับผู้กระทำผิดในคดีความมั่นคง และจะให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยที่มามอบตัวกับทางราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกันตัว หรือปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างพิจารณาคดีด้วย
นอกจากนี้ ผมยังมีงานอีกหลายเรื่องที่กำลังร่วมมือกับส่วนราชการและพี่น้องชาวสงขลาดำเนินการอยู่เพื่อให้เมืองสงขลาของเรา น่าอยู่ น่าอาศัย เช่น การรณรงค์ให้บ้านเมืองสะอาด สะดวก ปลอดภัย รวมทั้งการรณรงค์ให้ลูกหลานของเรามีสัมมาคารวะ รักษาเอกลักษณ์ท้องถิ่น โดยการพบกันให้ยกมือไหว้ แหลง (พูด)ใต้ ทุกวันศุกร์ เป็นต้น
หากพี่น้องมีข้อแนะนำประการใดในการพัฒนา แก้ไขปัญหาจังหวัดสงขลาของเรา ขอความกรุณาเขียนจดหมายหรือโทรศัพท์มาที่ 089-203-0480 เพื่อพูดคุยหรือแจ้งข่าวสารต่างๆ ให้ผมทราบได้ครับ