xs
xsm
sm
md
lg

จากคดีโลกร้อนถึงคดีจินตนา...ท่านผู้พิพากษาครับ/บรรจง นะแส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย..บรรจง นะแส

“หากบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ไม่ใช้กฎหมายให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชนแล้ว อาจเป็นการผลักให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ไม่ยอมรับและหนีออกไปจากกระบวนการยุติธรรม โดยหันไปพึ่งวิธีการอื่น ซึ่งย่อมไม่เป็นผลดีต่อกระบวนการยุติธรรม สิทธิมนุษยชนและสังคมประชาธิปไตยที่กำลังร่วมกันพัฒนาขึ้นก็ได้” เป็นข้อความปรารภที่มูลนิธิส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน จัดทำความเห็นทางวิชาการเกี่ยวกับหลักสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรมต่อคำพิพากษาศาลฎีกา คดีที่จินตนา แก้วขาว แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด ที่ถูกตัดสินจำคุก 4 เดือนโดยไม่รอลงอาญาในข้อหาบุกรุก

ซึ่งฝ่ายวิชาการของมูลนิธิฯ มองว่าเป็นการลงโทษที่ไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำความผิด เพราะคุณจินตนาเธออ้างเหตุที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ แต่ในเมื่อการกระทำนั้น ผิดกฎหมายบ้านเมือง แต่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ศาลย่อมต้องหาเหตุผลแห่งความยุติธรรมในการลงโทษด้วยวิธีอื่น เพราะการกระทำของคุณจินตนา เธอไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเป็นความชั่วร้าย แต่กระทำไปเพื่อปกป้องชุมชน แต่สุดท้ายเธอก็แถลงยอมรับคำพิพากษาและคำตัดสินของศาลโดยดุษฎีและเข้าสู่แดนตะราง ซึ่งแตกต่างจากผู้กระทำความผิดอีกจำนวนไม่น้อยที่หลบหนีคดีและเขาเหล่านั้น

ส่วนหนึ่งคืออดีตนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรี คนพวกนั้นเขาเชื่อมั่นในศาล ในกระบวนการยุติธรรมของสังคมจริงแค่ไหน? ทำไมคนพวกนั้นเขาจึงไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรม? ทำไมขบวนการให้ความเป็นธรรมทางสังคม จึงปล่อยให้คนพวกนั้นหลบหนีไปได้อย่างลอยนวลและง่ายดาย???

จินตนา แก้วขาว เธอได้รับการนิรโทษกรรมเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระชนมายุ 84 พรรษา เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ที่ผ่านมา และเธอก็ได้กลับมาสู่อ้อมอกของครอบครัวและชุมชน หลังจากที่เธอออกมาจากคุก สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสได้นำเธอไปออกรายการตอบโจทย์ ซึ่งผมคิดว่าสังคมไทยโดยเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมทั้งหลาย ไม่ว่าตำรวจ อัยการ และศาลน่าจะได้สละเวลาฟังความรู้สึก ความคิดเห็นของจำเลยคนนี้สักครั้ง

หากท่านพอมีเวลาลองเข้าไปรับฟังได้ที่www.youtube.com/watch?v=JVHv2j6L72s และ www.youtube.com/watch?v=a0HZVwLIz-w หลายๆ ท่านบอกว่าฟังดูแล้วถึงกับสะอื้นถึงกับจุกอก แต่ด้วยความเคารพในศาล เคารพในบรรดาท่านผู้พิพากษาและกระบวนการยุติธรรมของสังคม แต่ในความเป็นจริงหลายๆคนก็อดที่จะถอนใจไม่ได้

ศาลเป็นบุคคลที่มีเกียรติและได้รับการคุ้มครอง แต่สังคมก็เปิดช่องให้แสดงความเห็นในคำพิพากษาในทางวิชาการได้ ซึ่งเป็นความก้าวหน้าอย่างหนึ่งของสังคมไทย กรณีคำพิพากษาคดีคุณจินตนา แก้วขาว มีนักวิชาการได้แสดงความคิดเห็นแย้งต่อคำพิพากษาไว้อย่างน่าสนใจ เช่น ศาสตราจารย์คณิต ณ นคร “หลักการดำเนินคดีอาญาของไทยนั้นเป็นการดำเนินคดีโดยรัฐ คือ รัฐหรือตัวแทนของรัฐ (ตำรวจ อัยการ ศาล) เป็นผู้รับผิดชอบ โดยเฉพาะศาลเองก็ทำให้คดีของรัฐเสียหายไม่ได้

แม้ว่าในคดีนี้เป็นกรณีการบุกรุกที่ดินเอกชน (บริษัท ยูเนี่ยน เพาเวอร์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด) แต่เอกชนซึ่งสามารถเป็นผู้เสียหายดำเนินการฟ้องคดีเองได้ ไม่ประสงค์ดำเนินคดีเอง มอบให้รัฐเป็นผู้ฟ้องคดี ดังนั้น เมื่อรัฐเป็นผู้ดำเนินคดี บุคลากรของรัฐในกระบวนการยุติธรรมทุกฝ่ายตั้งแต่ตำรวจ อัยการ ศาล จึงมีหน้าที่ในการ ตรวจสอบค้นหาความจริงในเนื้อหา หมายความว่าเจ้าพนักงานมีหน้าที่ต้องตรวจสอบค้นหาความจริงโดยไม่ผูกมัดกับคำขอหรือคำร้องขอของผู้ใด และในการดำเนินคดีอาญาชั้นศาล ศาลเองก็จะวางเฉย (passive) ไม่ได้”

ศาลต้องมีส่วนร่วมในการค้นหาความจริงในคดีที่ฟ้องต่อจำเลย หากพบในทางการพิจารณาคดีว่าจำเลยไม่ใช่ผู้กระทำความผิด หรือไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะเอาผิดจำเลย หรือหลักฐานที่นำมาฟ้องจำเลยมีความน่าสงสัย ศาลต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย หลักการดำเนินคดีอาญาอีกหลักการหนึ่ง คือ ในคดีอาญา จำเลยเป็นประธานในคดี ดังนั้น จำเลยอาจไม่ต้องค้นหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวน อัยการและศาล นั่นเอง นี่เป็นหลักการดำเนินคดีอาญาในคดีปกติ

แต่กรณีของ นางจินตนา แก้วขาว เป็นคดีอาญาที่มีสาเหตุมาจากการรณรงค์เรียกร้องสิทธิชุมชนและสิทธิในการพัฒนาที่ได้รับความคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญ 2540 (ที่ใช้ในขณะกระทำความผิด) และสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี การดำเนินกระบวนพิจารณาคดี จำเป็นต้องคำนึงว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด บทบัญญัติหรือกฎหมายใดจะขัดแย้งไม่ได้

อีกคดีความหนึ่งที่เกิดขึ้นและเป็นที่ถกเถียงกันมากในสังคม คือ คดีที่มีการเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่ง ในข้อหาบุกรุก แผ้วถาง ยึดถือครอบครองพื้นที่ป่าหรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าคดีโลกร้อน คดีนี้เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับปัญหาทางโครงสร้างของสังคมไทย ในกรณีการขีดวง การจำกัดพื้นที่ตามกฎหมายต่างๆ ไม่ว่าพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ เขตห้ามล่า ป่าสงวนแห่งชาติ ฯลฯ ซึ่งข้อเท็จจริงในพื้นที่มักปรากฏปัญหาในเรื่องการบุกรุกหรือการกำหนดเขตทับที่ ที่ชุมชนมีอยู่ดั้งเดิม

แม้แต่หน่วยงานราชการหลายแห่งก็อยู่ในข่ายของการบุกรุกผิดกฎหมาย ผิดพระราชบัญญัติต่างๆ มากมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ดิน การที่ศาลได้พิพากษาให้ประชาชนที่เป็นเกษตรกร ต้องจ่ายค่าชดเชยตามเกณฑ์ที่กรมอุทยานฯ กำหนดขึ้น ที่ว่าหากมีการบุกรุกที่ดินอันเป็นของรัฐ (???) ประชาชนจะมีความผิดและต้องจ่ายตามเกณฑ์ที่ระบุไว้

ในช่วงปี 2549-2552 ในจังหวัดตรังและพัทลุงมีราษฎรถูกดำเนินคดีไปแล้ว 13 ราย ศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว 7 ราย และอยู่ระหว่างดำเนินคดี 6 ราย กรมอุทยานฯ ได้เรียกค่าเสียหาย 20.306 ล้านบาท แต่ศาลพิพากษาให้จ่าย 14.76 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี อาจารย์ประสาท มีแต้ม ได้มีคำถาม 2 ข้อต่อคำพิพากษาว่า (1) ค่าเสียหายดังกล่าวคืออะไรบ้าง และ (2) วิธีประเมินเป็นอย่างไร คงไม่เหมือนการประเมินราคาที่ดินในเมืองที่ใช้ราคาตลาดเป็นเกณฑ์ ค่าเสียหายที่พบในคำตัดสินประกอบด้วย 5 รายการ รวมกันไร่ละ 150,942.70 บาทต่อปี คือ

(1) ค่าไม้และของป่า 40,825.10 บาท (2) ค่าดินสูญหาย 1,800.00 บาท (3) ค่าน้ำสูญหาย 58,800.00 บาท (4) ค่าปุ๋ยสูญหาย 4,064.15 บาท และ (5) ค่าทำให้อากาศร้อน 45,453.45 บาท

ด้วยความเคารพในศาล ด้วยความเชื่อมั่นในคำตัดสินคำพิพากษาของท่าน คดีโลกร้อนและคดีของจินตนา แก้วขาว เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ ที่เกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมโดยรวม ซึ่งกระบวนการยุติธรรมก็เป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญของสังคม การเกิดขึ้นของการบังคับคดีให้เป็นไปตามกฎหมายบ้านเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบันน่าจะมีปัญหาที่จะต้องได้รับการแก้ไข เพราะการที่ผู้ทำลายทรัพยากรสิ่งแวดล้อมที่เป็นคนรวยทั้งบุกรุกที่ดิน ปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำลำคลอง เป็นนักธุรกิจเป็นข้าราชการ ไม่ค่อยได้รับการลงโทษ อัยการปล่อยให้คดีหมดอายุความ (คดีคนรวยๆ) ผู้ที่โกงบ้านกินเมือง หนีภาษี หนีคดี ยังลอยหน้าลอยตาให้คนจนๆ คนทั่วๆ ไปต้องช้ำใจ ท่านผู้พิพากษาที่เคารพครับ ท่านคงต้องร่วมรับผิดชอบและช่วยหาทางออกด้วยนะครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น