รายงาน...ศูนย์ข่าวหาดใหญ่
ภัยธรรมชาติที่ประเทศไทยต้องเผชิญในห้วงเวลานี้ แม้จะมีความรุนแรงน้อยกว่า “สึนามิ” ถล่มทะเลอันดามัน เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 อีกหนึ่งมหันตภัยครั้งร้ายแรงที่เกิดขึ้นใน 14 ประเทศรอบมหาสมุทรอินเดีย ส่งผลให้มีประชากรโลกเสียชีวิตกว่า 230,000 คน แต่ทว่าเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติที่เกิดขึ้นถี่ เหนือการคาดเดา ไม่ทันต่อการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลซึ่งเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้ เครื่องมือ และบุคลากร นอกจากจะสร้างความเสียหายให้ชีวิต ทรัพย์สินแล้ว ยังสร้างความตื่นตระหนก กระทบต่อสภาวะจิตใจคนไทยอีกด้วยว่าเป็นที่ภัยใกล้ตัว และธรรมชาติก็กำลังจะรุกคืบเข้าหามนุษย์มากขึ้นทุกที หลังจากที่มนุษย์ได้รุกล้ำทำลายความสมดุลมาเนิ่นนาน
เช้าตรู่ของวันที่ 25 ธันวาคม ก่อนครบรอบ “7 ปีสึนามิ” เพียงแค่วันเดียวชาวบ้านต่างตื่นตระหนกกับคลื่นขนาดใหญ่ 4-5 เมตร ที่ถาโถมจู่โจมชายหาดในภาคใต้ ทำลายบ้านเรือนและสิ่งสาธารณูปโภคได้รับความเสียหายใน 4 จังหวัด รวม 8 อำเภอ ได้แก่ 1.อ.หลังสวน จ.ชุมพร, 2.อ.ทับสะแก 3.หัวหิน 4.กุยบุรี 5.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์, 6.อ.ปากพนัง นครศรีธรรมราช และ 7.อ.ดอนสัก 8.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี
และอาจจะยังไม่หยุดลงแค่นั้น ล่าสุดกรมอุตุนิยมวิทยายังคงเตือนให้เฝ้าระวังคลื่นลมแรงเช่นนี้ที่จะมาเยือนอีกระลอกในห้วงส่งท้ายปี 30-31 ธันวาคมนี้ ท่ามกลางความสับสนที่จะจำกัดความเหตุการณ์คลื่นยักษ์โถมเข้าฝั่งโดยเหล่านักวิชาการเองว่าคืออะไรกันแน่ บ้างว่าเป็นแค่คลื่นลมแรงจากอิทธิพลของมวลอากาศเช่นที่แผ่มาจากประเทศจีน จากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ กับลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ครั้งนี้ทำให้เกิดลมและคลื่นแรงกว่าปกติเท่านั้น
ทว่า นายสมิทธ ธรรมสโรช ประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กลับระบุในทิศทางที่ตรงกันข้ามอย่างชัดเจน และตรงไปตรงมาว่า เหตุการณ์ดังกล่าวคือปรากฎการณ์ของ “สตอร์มเสิร์จ” หรือคลื่นยักษ์ที่พัดขึ้นสู่ฝั่ง ซึ่งตรงกับช่วงที่มีลมหนาวมาแรงทำให้เกิดขึ้นได้กับพื้นที่ชายฝั่งภาคใต้ แม้ไม่ใช่ “สึนามิ” แต่ภัยธรรมชาติชนิดนี้ก็สามารถสร้างความรุนแรงได้ไม่ต่างกัน ด้วยมักจะเกิดจากพายุในเขตฤดูร้อน และประเทศไทยนั้นได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งหากมีกำลังแรงและอุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นแล้ว ก็มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นได้เช่นกัน
“สตอร์มเสิร์จ” (Storm Surge) คืออะไร? คนไทยเรียกตามลักษณะว่า “คลื่นพายุซัดฝั่ง” และ “คลื่นพายุหมุน” ข้อมูลทางวิชาการระบุว่าเป็นคลื่นทะเลที่มีการยกตัวเข้าหาฝั่งที่เกิดขึ้นเนื่องมาจากพายุหมุนที่มีลมรุนแรงในทะเลบริเวณที่มีความกดอากาศแตกต่างกันที่ซัดผ่านเข้าชายฝั่งทะเลอย่างรุนแรง แต่แตกต่างจาก “สึนามิ” ที่เรียกได้เช่นกันว่า “คลื่นท่าเรือ” และ “คลื่นชายฝั่ง” ด้วยเกิดขึ้นภายหลังจากกรณีแผ่นดินไหว แผ่นดินเคลื่อนตัว ภูเขาไฟระเบิด หรือการชนของวัตถุนอกโลก เช่น ดาวหาง อุกกาบาต สู่ทะเลอย่างรุนแรง ทำให้น้ำทะเลปรับระดับจุดสมดุล เกิดเป็นคลื่นใต้น้ำที่สามารถเดินทางในระยะไกลโดยไม่สูญเสียพลังงาน เพื่อถาโถมเข้าสู่ชายฝั่งอย่างรุนแรงและรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าคนไทยจะไม่รู้จัก “สตอร์มเสิร์จ” เสียทีเดียว เพราะราว 50 ปีก่อน หรือเมื่อ พ.ศ.2505 พายุโซนร้อนแฮเรียตได้พัดเข้าฝั่งกวาดแหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ราบเป็นหน้ากลองมาแล้วครั้งหนึ่ง คนเฒ่าคนแก่ที่รอดชีวิตยังคงเล่าปากต่อปากถึงว่าความสะพรึงกลัวที่เห็นคลื่นสูงเทียมยอดมะพร้าว ซัดกระหน่ำหมู่บ้านให้แหลกเป็นจุล บ้านเรือนเฉียดแสนครอบครัวเหลือเพียงซากปรักหักพังเพียงแค่ไม่นาน
และเป็นที่น่าสังเกตว่า ห้วงใดที่มนุษย์รู้สึกกำลังถูกธรรมชาติเอาคืนเช่นนี้นั้น มักจะมาพร้อมกับกระแสคำทำนายที่ต้องใช้วิจารณญาณส่วนบุคคลที่จะเชื่อถือ ยิ่งหากไม่มีข้อมูลและการคาดการณ์ที่แม่นยำจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมายืนยันแล้ว ก็จะกระพือข่าวลือที่สร้างความตระหนกในสังคมวงกว้าง เช่นเดียวกับการคาดการณ์ของนักวิชาการบางท่านที่ระบุการเปลี่ยนแปลงของภัยธรรมชาติที่ถูกสบประมาทว่า “เพ้อเจ้อ” (เพราะยังไม่เจอกับตัว) เช่น อีก 30-50 ปีข้างหน้า น้ำจะท่วมกรุงเทพฯ และภาคใต้ให้จมหายไปจากแผนที่ หรือเกิดหิมะตกในเมืองไทย แต่ก็เป็นเสมือนสัญญาณกระตุ้นเตือนให้เกิดความตระหนักต่อการหันมาเรียกร้องหยุดทำลายธรรมชาติ ทว่าก็ยังไม่มีการทำอย่างจริงจังสักทีก็ตาม
ที่ฮือฮาในสังคมโซเชียลเน็ตเวิร์ก ณ เวลานี้ ไม่พ้นคำทำนายของเด็กชายปลาบู่ก่อนจะเสียชีวิตเมื่อ 37 ปีที่แล้ว ว่าจะเหตุอาเพศรุนแรงแผ่นดินไหวเกือบทั่วโลก ทำให้กรุงเทพฯ จมอยู่ใต้บาดาล เขื่อนภูมิพล จ.ตาก พังเสียหายลงในเวลา 2 ยาม (เวลาประมาณ 22.00.24.00) ของคืนวันปีใหม่ 2555 นี้ ทำให้หน่วยงานภาครัฐออกมาให้ข่าวและตรวจสอบเตรียมความพร้อมเพื่อให้ประชาชนได้มั่นใจ แต่พ่อของเด็กชายปลาบู่ได้ยืนยันว่า คำพยากรณ์นี้ได้เกิดขึ้นจริงแล้วในอดีต ทั้งเครื่องบินชนตึกในสหรัฐอเมริกา 2544, คลื่นสึนามิปี 2547, แผ่นดินไหวในต่างประเทศ 2552 และหากใครยังคงมีชีวิตอยู่ได้อีก 40 ปีข้างหน้า ก็คงได้ร่วมพิสูจน์คำทำนายที่ว่าจะเกิดสงครามนิวเคลียร์ว่าจริงหรือไม่!!
แต่ที่แน่นอนที่สุดในปี 2555 น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (ศภช.) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ออกมาเปิดเผยถึงแนวโน้มภัยพิบัติในปีหน้า ว่า ยังเฝ้าระวังเป็นพิเศษในเรื่องภัยพิบัติของน้ำ ทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วม ที่จะสับเปลี่ยนกันเกิดในแต่ละภูมิภาคของไทย โดยเฉพาะในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ที่ต้องเตรียมความพร้อมด้วยความไม่ประมาท
หากตอนนี้ยังไม่สายเกินไป ประเทศไทยต้องเป็นส่วนหนึ่งในสังคมโลกที่ร่วมมือยุติการทำร้ายธรรมชาติ โดยเฉพาะโครงการพัฒนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานการทำลายทรัพยากรตลอดแนว 2 ฝั่งทะเลด้ามขวาน เพราะภัยพิบัติธรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างตั้งตัวไม่ติดทุกวันนี้ ก็พิสูจน์แล้วว่าทุกคนล้วนแต่ไม่ทันตั้งรับ ข้อมูลขาดการจัดการและเชื่อมโยงที่แม่นยำ การแก้ไขจึงยังไร้ทิศทาง แม้แต่การแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ที่ผ่านมาของ “รัฐบาล” ก็สวนทางกับวลียอดฮิต “เอาอยู่” แต่ก็ไม่มีใครรู้ว่า แท้จริงแล้วรัฐบาลคิดอะไรอยู่ต่างหาก