xs
xsm
sm
md
lg

อุตุฯเตือนใต้อันตราย คลื่นยักษ์-ฝนจ่อถล่มซ้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูมิภาค-อุตุฯ เตือนภาคใต้ช่วงนี้ยังอันตราย ตั้งแต่ 27-ธ.ค.-2 ม.ค.54 ให้ระวังคลื่นลมแรงที่พัดเข้าหาฝั่งอีกรอบและอันตรายจากฝนที่ตกหนักช่วงปีใหม่ ปภ.เผย 7 จังหวัดใต้โดนคลื่นยักษ์ซัดเสียหายยับ ด้าน “ปลอดประสบ” เดินหน้าศึกษาสร้างแนวป้องกันคลื่น เหตุน้ำทะเลสูงขึ้น ดีเดย์หลังปีใหม่ประชุมเตรียมความพร้อมระบบเตือนภัย ยันสมัย “รัฐบาลปู” มีฟลัดเวย์แน่ พร้อมทำนายปีหน้าไม่ท่วมเยอะ

นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 24-25 ธ.ค.ที่ผ่านมา ได้เกิดคลื่นลมแรงพัดสู่เข้าชายฝั่งและน้ำทะเลหนุนสูง ส่งผลให้บ้านเรือนและสิ่งสาธารณูปโภคได้รับความเสียหายใน 7 จังหวัด รวม 19 อำเภอ ดังนี้ ชุมพร 6 อำเภอ ได้แก่ อ.หลังสวน อ.ปะทิว อ.เมืองชุมพร อ.สวี อ.ทุ่งตะโก และ อ.ละแม, จ.ประจวบคีรีขันธ์ 4 อำเภอ ได้แก่ อ.ทับสะแก อ.หัวหิน อ.กุยบุรี และ อ.สามร้อยยอด, จ.นครศรีธรรมราช 1 อำเภอ ได้แก่ อ.ปากพนัง, จ.สุราษฎร์ธานี 5 อำเภอ ได้แก่ อ.ดอนสัก อ.ไชยา อ.ท่าชนะ อ.กาญจนดิษฐ์ อ.เกาะสมุย, จ.สงขลา 1 อำเภอ ได้แก่ อ.ระโนด, จ.จันทบุรี 2 อำเภอ ได้แก่ อ.ท่าใหม่ อ.นายายอาม, จ.ปัตตานี 1 อำเภอ ได้แก่ อ.ยะหริ่ง

ทั้งนี้ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่ประสบภัย ได้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยริมชายฝั่งทะเล ระวังอันตรายจากคลื่นลมแรงที่ซัดเข้าฝั่งในระยะนี้ รวมถึงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือประชาชนในเบื้องต้นแล้ว และเร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือตามระเบียบฯ กระทรวงการคลังโดยด่วนต่อไป ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์คลื่นซัดชายฝั่งสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง

**อุตุฯภาคใต้เตือน27-28คลื่นลมแรง

นายวันชัย ศักดิ์อุดมชัย ผู้อำนวยการศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก กล่าวว่า ศูนย์ฯ ได้ออกประกาศเตือน ฉบับที่ 8 เรื่องคลื่นลมแรงในอ่าวไทย โดยลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ยังคงมีกำลังแรง ทำให้คลื่นลมในอ่าวไทยมีกำลังแรง ความสูงของคลื่น 2-3 เมตร ขอให้ประชาชนที่อาศัยแนวชายฝั่งทะเลภาคใต้ฝั่งตะวันออก ระวังอันตรายจากคลื่นที่ซัดเข้าหาฝั่ง ชาวประมง เดินเรือด้วยความระมัดระวัง เรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง วันที่ 27-28 ธ.ค.นี้ และในช่วงวันที่ 29 ธ.ค.2554-2 ม.ค.2555 ประชาชนบริเวณภาคใต้ตอนล่างให้ระมัดระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนัก

**ผู้ว่าฯ สงขลาสั่งเฝ้าระวัง 6 อำเภอ

ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์คลื่นยักษ์ถล่มหลายพื้นที่ทางภาคใต้ วานนี้ (27 ธ.ค.) ว่า บางพื้นที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลายลงแล้ว แต่บางพื้นที่ยังน่าเป็นห่วง โดยภาพรวม จ.สงขลา ขณะนี้มีเพียง อ.ระโนด ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะคลื่นลมแรง เนื่องจากเป็นพื้นที่เชื่อมต่อ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช

ขณะที่นายกฤษดา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้สั่งการให้เฝ้าระวังพื้นที่ริมทะเลของ จ.สงขลา ทั้ง 6 อำเภออย่างต่อเนื่อง ในช่วง 1-2 วันนี้ เพราะคลื่นลมยังมีกำลังแรง ประกอบด้วย อ.ระโนด อ.สะทิงพระ อ.สิงหนคร อ.จะนะ อ.เทพา และ อ.เมือง พร้อมให้ความช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน

ด้านนายอุทิศ ชูช่วย นายก อบจ.สงขลา กล่าวว่า จากปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่งจังหวัดสงขลา พบว่าพื้นที่ อ.อระโนดใน 2 ตำบล คือ ต.ท่าบอน และ ต.คลองแดน ได้รับผลกระทบหนักที่สุด ล่าสุดปัญหายังไม่ทุเลา เพราะกำลังแรงของคลื่นลมในทะเลยังไม่ไม่หยุด เนื่องจากลมทะเลทำมุม 90 องศาฯ กับชายฝั่ง ทำให้ปีนี้มีปัญหาการกัดเซาะรุนแรงมากผิดปกติ โดยปีนี้หนักกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นภัยพิบัติที่สร้างความเสียหายให้พี่น้องของเราอย่างมาก โดยปัญหาคลื่นลมแรงจัดในขณะนี้ได้ทำให้ประชาชนตกอยู่ในสภาพไม่มีแผ่นดินอยู่ อีกทั้งไม่มีบ้านอยู่ ซึ่งถือว่าวิกฤตหนัก โดยเฉพาะ ต.ท่าบอน และ ต.คลองแดน อ.ระโนด แต่จะหนักหน่วงคนละแบบกับหาดสมิหลา ในแง่ของเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ ดังนั้น ต้องเร่งแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนที่สุด

"หลังสิ้นมรสุม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับจะต้องระดมทำแนวหินทิ้งบริเวณหน้าหาด เนื่องจากแนวทางนี้ได้ผลมาแล้วในบางช่วงบางตอนของพื้นที่ชายฝั่งที่ อบจ.สงขลาได้ดำเนินการในปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม อยากให้ส่วนกลางช่วยทุ่มงบประมาณสนับสนุนลงมา ไม่เช่นนั้นอาจต้องมาเสียดายภายหลัง เพราะที่ดินจำนวนไม่น้อยสูญหายถูกทะเลกลืน ดังนั้น ปัญหาชายฝั่งควรเป็นวาระของชาติได้แล้ว"

**เผยสภาพแหลมตะลุมพุกเละเทะ

ด้านความคืบหน้าสถานการณ์คลื่นลมมรสุมกำลังแรงพัดถล่มชายฝั่ง โดยพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด ที่ชุมชนบ้านแหลม หมู่ที่ 2, 3 ต.แหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช สภาพหมู่บ้านทั้งสองหมู่บ้านแทบกลายเป็นซากปรักหักพัง บ้านเรือหลายหลังเหลือทิ้งไว้แค่เสาตอหม้อ ถนนคอนกรีตพังยับเยิน เศษขยะ ซากบ้านเรือน เศษซากสวะจากท้องทะเลกระจายเกลื่อนเต็มหมู่บ้าน บ้านเรือนของประชาชนที่ยังคงพอที่จะอยู่อาศัยได้ ต่างช่วยกันทำความสะอาดเพื่อกลับมาพักอาศัยไปได้ชั่วคราวก่อน

ขณะที่บ้านเรือนของประชาชนกว่า 10 หลังที่ถูกรื้อหลบความรุนแรงของคลื่นนั้น ได้ถูกแนวคลื่นพัดฐานที่เหลือของบ้านจนแทบไม่เหลือ โดยความรุนแรงของมรสุมในช่วง 2-3 วัน ที่ผ่านมา ได้กัดเซาะพื้นดินเข้ามาบางจุดถึงกว่า 20 เมตร ชาวบ้านที่อยู่ในแนวกัดเซาะต่างถือเอกสารโฉนดที่ดิน ซึ่งที่ดินตามโฉนดนั้น ในวันนี้กลายเป็นทะเลไปแล้วอย่างไม่มีจุดหมาย ส่วนแนวชายฝั่งตลอดทั้งแนวของนครศรีธรรมราชนั้นแนวคลื่นเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านที่รื้อบ้านจากในหมู่ 2 และ 3 ต.แหลมตะลุมพุก ช่วงคลื่นซัดหนักเมื่อวันที่ 26 ธ.ค.รวม 16 หลังคาเรือนได้พาเอาวัสดุที่เหลือจากการรื้อถอนเตรียมที่จะไปปลูกสร้างในพื้นที่เขตสงวนห้ามล่าสัตว์ป่าในพื้นที่ 150 ไร่ฝั่งตะวันตกของแนวถนนสายหลักยังไม่สามารถที่จะบุกเข้าไปได้ เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่เข้ามาแจ้งว่าหากบุกรุกเข้าไปปลูกสร้างหรือตัดทำลายไม้ในป่าชายเลนจะมีความผิดตามกฎหมาย และจะถูกดำเนินคดี เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าว ยังอยู่ในขั้นตอนไม่แล้วเสร็จ ดังนั้น สภาพพื้นที่จึงยังสภาพบังคับตามกฎหมายอยู่ไม่สามารถละเว้นได้

**“ปลอด”เดินหน้าศึกษาผุดแนวกันคลื่น

นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวถึงกรณีที่เกิดเหตุคลื่นสูงบริเวณพื้นที่ภาคใต้ว่า เรื่องที่ต้องระวังในปีหน้า คือ เรื่องทะเล ซึ่งตนเคยบอกเรื่องนี้มาแล้วว่า ระวังน้ำทะเลจะขึ้น มีคลื่นสูง ชายหาดจะเดือดร้อน และเห็นแล้วใช่หรือไม่ว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้น ซึ่งขณะนี้มันเป็นช่วงชิมลาง เพราะฉะนั้นสิ่งที่พรรคเพื่อไทยเคยพูดเอาไว้ว่า คงจะต้องศึกษาและทำเขื่อนป้องกันน้ำทะเลไม่ให้ท่วม จากนี้ก็คงต้องเริ่มศึกษาแล้ว แต่จะทำอย่างไร เมื่อไร ต้องรอให้ศึกษาเสียก่อน

อย่างไรก็ตาม เมื่อครั้งที่ตนพูด ทางฝ่ายค้านก็ว่าตน ตนก็บอกว่าแค่ศึกษา มาว่าอย่างนี้ มันก็เกินไปหน่อย แล้วเป็นอย่างไร ภาคใต้ซึ่งเป็นฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ ก็เสียหาย ตอนนี้จะให้ตนศึกษาได้หรือยัง

นายปลอดประสพ กล่าวว่า สำหรับเรื่องระบบเตือนภัยนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ได้มอบหมายให้ตน และนายสมิทธ ธรรมสโรช กรรมการ กยน.ไปปรับปรุงระบบเตือนภัย โดยหลังจากปีใหม่ ตนจะเชิญกรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) มาคุยเพื่อปรับปรุงโครงสร้างการเตือนภัยกันใหม่ โดยมีศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติคอยให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับระดับการเตือนภัย ซึ่งตนจะเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้

**ยัน สมัย “รัฐบาลปู” มีฟลัดเวย์แน่

ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ประชุม กยน.ได้กำหนดพื้นที่ทำฟลัดเวย์บริเวณใด นายปลอดประสพกล่าวว่า อยู่ในกรอบงบประมาณ แต่จะทำพื้นที่ใดยังไม่แน่นอน ต้องรอศึกษาระดับความสูงของพื้นที่ก่อน แต่ประเทศไทยจะมีฟลัดเวย์แน่นอน ทั้งทางปีกซ้ายและปีกขวา เพราะเราจะปล่อยให้น้ำผ่านกทม.แบบนี้ไม่ได้ ซึ่งฟลัดเวย์ จะเกิดขึ้นแน่นอนในสมัยรัฐบาลนี้

เมื่อถามว่า การดำเนินการในช่วงปีใหม่ ถือว่ายังทันการณ์ใช่หรือไม่ นายปลอดประสภกล่าวว่า ทันการณ์ เนื่องจากน้ำยังไม่มา ซึ่งถ้าน้ำจะมาจริงๆ จะมาในช่วงเดือนพ.ค.ไปแล้ว หลังจากนั้นเราจะรู้ว่า สถานการณ์ปีหน้าจะเป็นอย่างไร ฉะนั้น นักพยากรณ์ที่พยากรณ์ตั้งแต่วันนี้ ตนว่าเกินไปหน่อย ทูนหัว จะเก่งอะไรขนาดนั้น ตอนนี้พูดอย่างมากก็ได้แค่โอกาสที่น้ำจะมากและน้ำจะท่วมนั้นมี แต่จะท่วมน้อยกว่าเดิม เวลา ความลึกจะน้อยกว่าเดิม และเรารู้ดีขึ้นมากว่าควรจะทำอย่างไร ฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศคงไม่เกิดขึ้นอีกแน่นอน ตนให้คำยืนยัน
กำลังโหลดความคิดเห็น