ตรัง - สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 สาขาตรัง และอำเภอกันตัง เร่งประสานแก้ปัญหาเรือบาธบรรทุกปูนซีเมนต์อัดเม็ด จมลงทะเลใกล้กับเกาะลิบง เบื้องต้นพบไม่มีปัญหาคราบน้ำมัน เนื่องจากเป็นเรือลากจูง เผย บริเวณที่เรือจมยังเป็นที่ชุมนุมของสัตว์น้ำ ส่งผลดีต่อชาวประมงอีกด้วย
วันนี้ (18 พ.ย.) เมื่อเวลา 10.30 น.นายสุธี สุขสง ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 สาขาตรัง พร้อมด้วย นายวิสิษฐ์ ตั้งปอง นายอำเภอกันตัง และ นายบุญครื้น พรเดชอนันต์ ประมงอำเภอกันตัง นำกำลังเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบจุดที่เรือบาธบรรทุกปูนซีเมนต์อัดเม็ดของ บริษัท จัมโบ้บาจแอนด์ทรัก จำกัด ขนาด 1,200 ตัน จำนวน 5 ลำ จมลงในทะเลตรัง ใกล้กับเกาะลิบง อำเภอกันตัง เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2554 และเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2554 ที่ผ่านมา
โดยจุดแรก เจ้าหน้าที่ได้นำเรือสปีดโบ้ตของกรมเจ้าท่าออกตรวจสอบบริเวณพื้นที่หมู่ที่ 7 บ้านหาดทรายแก้ว ตำบลเกาะลิบง ซึ่งมีระดับน้ำทะเลลึกประมาณ 6 เมตร และเห็นคานเรือโผล่ขึ้นเหนือน้ำ โดยก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 สาขาตรัง ได้นำทุ่นพร้อมธงสีแดง และไฟกะพริบมาติดตั้งเพื่อป้องกันอุบัติเหตุเรือชน แต่ก็ได้ถูกเรือประมงบางลำลักลอบขโมยอุปกรณ์ต่างๆ เหล่านี้ไป โดยเฉพาะไฟกะพริบที่สูญหายไปจำนวนไม่ต่ำกว่า 100 ดวง เจ้าหน้าที่จึงเข้าแจ้งความไว้เป็นหลักฐานที่ สภ.กันตัง แล้ว
และจุดที่ 2 ใกล้ๆ กัน แต่ไม่สามารถมองเห็นส่วนต่างๆ ของเรือที่จมลงไปได้ เนื่องจากระดับน้ำทะเลลึกถึง 8 เมตร โดยแลเห็นเพียงแกลลอนน้ำมันที่เจ้าหน้าที่นำมาติดตั้งไว้เป็นสัญลักษณ์เท่านั้น ส่วนจุดสุดท้ายอยู่ระหว่างหมู่ที่ 2 บ้านเกาะมุกด์ กับหมู่ที่ 5 บ้านหลังเขา ตำบลเกาะลิบง มีระดับน้ำทะเลลึกแค่ 6 เมตร จึงทำให้มองเห็นหลังคาเรือได้ชัดเจน สำหรับจุดที่เรือจมลงไปนี้พบว่ามีสัตว์น้ำรวมกันอยู่เป็นจำนวนมาก จากเดิมที่เคยอยู่กระจายในทะเล กลายเป็นส่งผลดีต่อชาวประมงอย่างมาก
โดย นายวิสิษฐ์ ตั้งปอง นายอำเภอกันตัง กล่าวว่า ขณะนี้ยังมีเรือบาธอีก 5 ลำ ที่ยังจมอยู่ในทะเลตรัง ซึ่งก็ได้ประสานให้สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 สาขาตรัง เข้าไปตรวจสอบสถานการณ์ว่าจะสามารถกู้ซากเรือได้หรือไม่ แต่ในเบื้องต้นคงต้องรอให้คลื่นลมมรสุมสงบลงเสียก่อน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับเปิดฤดูกาลท่องเที่ยวที่จะมีขึ้นใน 2 เดือนข้างหน้า เพื่อป้องกันเรือนักท่องเที่ยวและเรือประมงที่เกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนมา
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ทางเจ้าของเรือได้ยืนยันมาแล้วว่าจะกู้เรือที่จมขึ้นมาโดยเร่งด่วนเพราะเป็นทรัพย์สินมีค่าที่มีการประกันภัยไว้ แต่ถ้าหากกู้ไม่ได้ทางสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 ก็จะลากไปไว้ในจุดที่เหมาะสมที่ไม่กีดขวางเส้นทางการเดินเรือ ส่วนผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมนั้น ได้รับการชี้แจงจากทางบริษัท ว่า ขณะนี้ปูนซีเมนต์ได้จับตัวแข็งเป็นก้อนแล้ว จะต้องใช้เครื่องเจาะเท่านั้น จึงจะสามารถสลายปูนซีเมนต์ที่อยู่ใต้ท้องทะเลได้
ส่วนผลกระทบเรื่องคราบน้ำมันนั้นไม่มี เพราะเป็นแค่เรือลากจูง อีกทั้งบริเวณที่เรือจมยังกลายเป็นผลดีด้วย เพราะทำให้มีสัตว์น้ำจำนวนมากมาอยู่อาศัยรวมกัน ซึ่งทางบริษัทได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ลงพื้นที่ชี้แจงกับผู้นำท้องถิ่นแล้ว ขณะที่ผลกระทบอื่นๆ ยังอยู่ระหว่างการศึกษา
สำหรับเหตุการณ์เรือบาธลากจูงบรรทุกปูนซิเมนต์ของ บริษัท จัมโบ้บาจแอนด์ทรัก จำกัด จมลงในทะเลตรังใกล้เกาะลิบงนั้นเกิดขึ้นรวม 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเรือบาธได้บรรทุกปูนซิเมนต์อัดเม็ดจากท่าเรือแสงทอง อำเภอกันตัง จำนวน 30 ลำ เพื่อไปส่งให้กับเรือใหญ่และส่งออกไปยังประเทศศรีลังกา แต่ระหว่างที่กำลังขนถ่ายได้เกิดลมพายุและมีคลื่นสูงประมาณ 4-5 เมตร ทำให้เรือล่มและจมในทะเลรวม 11 ลำ และสามารถกู้ขึ้นมาได้แค่ 7 ลำ ส่วนอีก 4 ลำที่เหลือกระจายกันจม หลังจากนั้น ไม่นานก็เกิดเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวอีกครั้ง ทำให้มีเรือจมเพิ่มอีก 1 ลำ แต่ไม่สามารถกู้ขึ้นมาได้ เนื่องจากระดับน้ำทะเลลึก ประกอบกับเป็นช่วงมรสุมด้วย