ศูนย์ข่าวภูเก็ต - กล่องบรรจุขนมพื้นเมืองภูเก็ต รูปแบบอาคารสถาปัตยกรรมชิโนโปตุกีสเมืองเก่าภูเก็ต ของร้านพรทิพย์ คว้ารางวัลชนะเลิศระดับโลก “Good Design Award” ที่ประเทศญี่ปุ่น เผยลูกค้าตอบรับดีทั้งไทยและต่างชาติ ขณะที่ภาพรวมของสินค้าภายใต้แบรนด์พรทิพย์กว่า 70 รายการทำตลาดได้ดีทั้งในประเทศและส่งออก
นายวิรวัฒน์ เปี่ยมวิวัตติกุล ประธาน บริษัท พรทิพย์ จำกัด เปิดเผยว่า กล่องบรรจุขนมพื้นเมืองภูเก็ต รูปแบบอาคารสถาปัตยกรรมชิโนโปตุกีส ที่ถนนถลาง ของบริษัท พรทิพย์ ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับโลก “Good Design Award” ที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเร็วๆนี้ ซึ่งเป็นรางวัลมีอายุยืนยาวกว่า 54 ปี มีผู้ส่งสินค้าเข้ารับการคัดเลือกกว่าแสนบริษัท จากนักออกแบบประเทศญี่ปุ่นและนานาชาติรวมทั้งประเทศไทย
รางวัลดังกล่าวเป็นการมอบรางวัลการออกแบบที่ดีที่สุดของญี่ปุ่น เพราะไม่เพียงแต่เป็นการแข่งขันด้านการออกแบบเท่านั้น แต่ยังเป็นการพัฒนาและส่งเสริมการออกแบบสินค้าหลากหลายได้อย่างกว้างขวาง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและสนับสนุนการพัฒนาของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอีกด้วย
การประกวดในครั้งนี้ มีผลงานจากกว่า 70 ประเทศ ทั้งจากยุโรป ญี่ปุ่น ไทย และอีกหลายๆประเทศ มีผลงานเข้าประกวดกว่าหมื่นผลงาน ซึ่งการที่ผลงานของบริษัทได้รับรางวัลชนะเลิศถือเป็นความภาคภูมิใจของบริษัท ภูเก็ต และประเทศไทย
การได้รับรางวัลดังกล่าวจะเป็นการกกระตุ้นให้ผู้ประกอบการนำวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นมาต่อยอดทางธุรกิจมากขึ้น และในส่วนของบริษัทมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการนำวัฒนธรรมท้องถิ่นมาใช้ในการต่อยอดธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะย่านเมืองเก่าภูเก็ต ซึ่งเทศบาลนครภูเก็ตมีโครงการที่จะผลักดันให้เป็นมรดกโลก รวมทั้งจังหวัดภูเก็ตและอันดามันมีวัฒนธรรมประเพณีที่สวยงามที่ยังสามารถนำมาต่อยอดธุรกิจได้อีกมาก
การได้รับรางวัลดังกล่าว สืบเนื่องกล่องบรรจุขนมพื้นเมืองภูเก็ตของบริษัทมีความโดดเด่นไม่เหมือนใคร ที่นำตึกเก่าสถาปัตยกรรมนิโนโปตุกีสมาออกแบบเป็นกล่องขนม เพื่อนำเสนอความเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่นย่านเมืองเก่าภูเก็ตมาใช้บรรจุสินค้า และสามารถเล่าเรื่องราวความเป็นเมืองเก่าภูเก็ต วัฒนธรรมของภูเก็ตผ่านกล่องบรรจุขนมที่เป็นการต่อยอด ประชาสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยวของภูเก็ตและอันดามัน รวมทั้งกล่องบรรจุขนมดังกล่าวยังเป็นการรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมที่ทำมาจากกระดาษอีกด้วย
นายววิรวัฒน์ กล่าวต่อว่า สำหรับกล่องบรรจุขนมพื้นเมืองภูเก็ตที่ส่งเข้าประกวดและได้รับรางวัลนั้นมี 6 แบบ ด้วยกัน คือ รูปแบบหอนาฬิกา โรงแรมออนออนซึ่งเป็นโรงแรมแห่งแรกในภูเก็ต ตึกในซอยรมณีย์ ตึกถนนระนอง ตึกมอเหล่า และพิพิธภัณฑ์ไทยหัว ซึ่งรูปแบบอาคารทั้งหมดนี้เป็นสถาปัตยกรรมชิโนโปตุกีสย่านเมืองภูเก็ตที่ทรงคุณค่า
ขณะนี้ บริษัทได้ออกแบบเพิ่มอีก 4 แบบ คือ อาคารธนาคารซาร์เตอร์ ตึกศูนย์รวมข่าวพรหมเทพ อาคารที่ถนนกระบี่ และถนนระนอง ทำให้ขณะนี้มีกล่องขนมแล้วทั้งหมด 10 แบบ โดยขนมที่บรรจุในกล่องจะเป็นขนมพื้นเมืองของภูเก็ตที่หารับประทานได้ยากแล้วในบางชนิด เช่น ขนมเต้าส้อ ขนมก้องถึง ขนมดอกบัว ขนมปลา ขนมก้องหยุ่น ขนมชิต่าวซ้อ ขนมหมั่วหล้าว ขนมบี้พ้าง ขนมไส้ไก่ ขนมต้าวโก้ย เป็นต้น
ภายหลังจากที่ทางบริษัทนำขนมพื้นเมืองภูเก็ตมาบรรจุในกล่องที่เป็นอาคารสถาปัตยกรรมชิโนโปตุกีส ปรากฏว่าได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้ากลุ่มเด็ก วัยรุ่นและวัยทำงาน จากที่เดิมทีบริษัทคาดหวังไปที่กลุ่มผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ แต่ผิดคาดกลุ่มวัยรุ่นให้ความสนใจมากจากความโดดเด่นของอาคารสถาปัตยกรรมชิโนโปตุกีส รวมไปถึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในกลุ่มเอเชีย ทั้งจีน เกาหลี มาเลเซีย ญี่ปุ่น ซื้อกลับไปประเทศของตน
นายวิรวัฒน์ ยังกล่าวถึงสินค้าของร้านพรทิพย์โดยรวมว่า ได้รับการตอบรับที่ดีจากนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ เพราะสินค้าภายใต้แบรนด์พรทิพย์ที่จำหน่ายอยู่ในขณะนี้มีกว่า 70 รายการ ทั้งที่เป็นอาหารทะเลแปรรูป สินค้าประเภทน้ำพริก ขนมพื้นเมืองภูเก็ต โดยเฉพาะอาหารทะเลแปรรูปและน้ำพริกนั้นได้รับการตอบรับที่ดีจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในกลุ่มเอเชีย ซึ่งสินค้าที่นิยมมากที่สุดจะเป็นปลาข้าวสารรสชาติต่างๆ ซึ่งขณะนี้ทางบริษัทได้ปรับปรุงปลาข้าวสารให้มีรสชาติตรงกับความต้องการของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมากขึ้น ทำให้เป็นที่ยอมรับของนักท่องเที่ยว ทั้งที่เป็นการขยายที่ร้านพรทิพย์และร้านต่างๆ ทั่วประเทศ และการส่งออก
ขณะนี้สินค้าแบรนด์พรทิพย์ที่ส่งออกไปต่างประเทศประมาณ 20% ของการผลิตทั้งหมด ซึ่งส่งไปยังประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย ออสเตรเลีย ฮ่องกง จีน และที่เหลือประมาณ 80% จำหน่ายภายในประเทศ โดยที่ภูเก็ตมีโชว์รูมอยู่ที่ร้านพรทิพย์ และปั๊มน้ำมันปตท.ถลาง และจังหวัดอื่นๆ ที่ปตท.กรุงเทพ รวมทั้งวางจำหน่ายที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน เดอะมอลล์ ท็อปทุกสาขา โกลด์เด้นท์เพลส ดอยคำ ซึ่งในแต่ละปีมียอดขายเพิ่มขึ้นประมาณ 30%
นายวิรวัฒน์ กล่าวในตอนท้ายว่า บริษัทมีโครงการที่จะขยายช่องทางการทำตลาดให้มากขึ้น โดยการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นหลักในการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้บริษัทเดินต่อไปอย่างมั่งคงและยั่งยืน