xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการเตือน ทางด่วน-สะพานทั่วกรุง เสี่ยงถล่มหากแผ่นดินไหว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิชาการ เตือน สะพาน-ทางด่วน ทั่วกรุงเสี่ยงถล่มหากเกิดแผ่นดินไหว จี้รัฐเร่งตรวจสอบ หวั่นแผ่นดินไหวถล่ม แนะเจ้าของตึกเก่าเสริมความแข็งแรงอาคารควักเงินลงทุนแค่ 3-5% เสนอตั้งหน่วยงานกลางตรวจสอบอาคาร ด้าน กทม.แฉ วิศวกรไร้จรรยาบรรณ ปลอมลายเซ็นอื้อ ขณะที่ “เป็นหนึ่ง” เผยโมเดลเชียงใหม่ ระบุ หากแผ่นดินไหว 5.7 ริกเตอร์ ทำเมืองราบเป็นอัมพาต 2-3 ปี เสียหาย 1.5 แสนล้าน คนตายถึง 8 พัน

 

วันนี้ (19 ก.ย.) ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สำนักสำนักการโยธา (สนย.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้จัดเสวนาทางวิชาการเรื่อง “การเตรียมความพร้อมในการรับมือแผ่นดินไหว” โดยมีรศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย อาจารย์จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) หัวหน้าโครงการลดภัยพิบัติ จากแผ่นดินไหวในประเทศไทย รศ.ดร.วิโรจน์ บุญญภิญโญ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รศ.ดร.อมร พิมานมาศ ประธานคณะอนุกรรมการวิศวกรรมโครงสร้าง และสะพาน วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสถ.) นายพินิต เลิศอุดมธนา ผู้อำนวยการกองควบคุมอาคาร สำนักการโยธา กทม.และ นางคะนึงนิจ สุจิตจร ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการรักอบธุรกิจประกันภัย ร่วมเสวนาซึ่งมีเจ้าของอาคารในพื้นที่กทม.ร่วมรับฟังประมาณ 250 คน

 

รศ.ดร.เป็นหนึ่ง กล่าวถึงภาพรวมแผ่นดินไหวในประเทศไทยและพื้นที่ กทม.ว่า แผ่นดินไหวไม่ได้เกิดกระจายในทุกๆ ที่แต่เกิดบางแนว เช่น ที่ประเทศญี่ปุ่นและอินโดนีเซียจะเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ส่วนของประเทศไทยไม่มีเกิดขึ้นตรงๆ ยกเว้นบางบริเวณที่เกิดมากๆ  คือ บริเวณแนวรอยต่อแผ่นเปลือกโลกซึ่งมีการชนกัน การมุดเสยกันระหว่างแผ่นแนวรอยต่อซึ่งที่ใกล้ไทยที่สุดคือ ทะเลอันดามันอันได้แก่เปลือกโลกยูเรเชียน และแผ่นเปลือกโลกอินโดยูเรเชียนที่มุดเข้ากับเปลือกยูเรเชียนแล้วทำให้เกิดสึนามิ เมื่อ 7 ปีที่แล้ว ทั้งนี้ ประเทศไทยเคยเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงสุดวัดได้ 6.5 ริกเตอร์ ที่จังหวัดน่าน เมื่อวันที่ 13 พ.ค.2478 แต่เหตุแผ่นดินไหวครั้งนั้นไม่ได้ก่อให้เกิดพิบัติภัย อย่างไรก็ตาม ไทยมีโอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.8-7.5 ริกเตอร์ แต่อาจจะต้องใช้เวลานาน เนื่องจากต้องมีการสะสมพลังงานเป็นพันๆ ปี ซึ่งภาคเหนือจะมีความเสี่ยงอย่างชัดเจน

 

รศ.ดร.เป็นหนึ่ง กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ หากเกิดแผ่นดินไหวขึ้นแล้ว มีผู้ติดอยู่ในตัวอาคารที่พังถล่มลงมาซึ่งหากไม่สามารถช่วยชีวิตได้ภายใน 1 วัน 90% ของคนที่ยังติดค้างอยู่ในนั้นจะเสียชีวิต ดังนั้น หัวใจสำคัญ คือ จะต้องสร้างสิ่งปลูกสร้างให้ทนต่อแผ่นดินไหว ทั้งนี้ งานวิจัยพบว่ากทม.มีสภาพดินอ่อนซึ่งหากเกิดแผ่นดินไหวจะสามารถขยายความรุนแรงได้เพิ่มเป็น 3 เท่า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออาคารสูง แม้จะเกิดแผ่นดินไหวจากที่อื่น เช่น ที่กรุงเม็กซิโกซิตี้ เมื่อปี 2528 เกิดแผ่นดินไหวในทะเล แต่กลับได้รับผลกระทบร้ายแรง ซึ่งผลวิจัยภายหลังเกิดเหตุระบุชัดว่าสภาพดินอ่อนเป็นปัจจัยสำคัญอันเนื่องมาจากพื้นที่นี้เดิมเคยเป็นทะเลสาบเก่ามาก่อน ซึ่ง กทม.ก็เหมือนกับกรุงเม็กซิโกซิตี้ ที่มีสภาพเป็นดินอ่อนแบบพิเศษ ดังนั้น หากเกิดแผ่นดินไหวอาจทำให้ได้รับผลกระทบแบบเดียวกันโดยรอยเลื่อนที่ใกล้ กทม.ที่สุด คือ แนวรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ ระยะทางประมาณ 200 เมตร

 

ขณะที่ปัญหาที่เรากำลังประสบอยู่ในขณะนี้คือคนยังไม่ค่อยรู้และยังใช้ไม่เป็น เกี่ยวกับมาตรฐานประกอบการออกแบบอาคารเพื่อต้านทานการสั่นสะเทือนของแผ่นดิน ไหว หรือ มยผ. 1301 (ปรับปรุงครั้งที่ 1) พ.ศ.2554 และมาตรฐานการออกแบบอาคารต้านการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว หรือ มผย.1302 พ.ศ.2552 ดังนั้น สิ่งที่จะเกิดคือปัญหาคารที่สร้างไปแล้วที่ไม่ได้ออกแบบให้ต้านแผ่นดินไหว โดยเฉพาะอาคารในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันตก

 

“ได้มีการทดลองโมเดลการสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวขนาด 5.7 ริกเตอร์ มีจุดศูนยกลางห่างจากจังหวัดเชียงใหม่ 7 กิโลเมตร จะพบว่าจากโมเดลดังกล่าวจะส่งผลให้จังหวัดเชียงใหม่ได้รับความเสียหายอย่างมาก จะมีผู้เสียชีวิตถึง 8,000 คน สูญเสียทรัพย์สินมูลค่ารวม150,000 ล้านบาท และจะทำให้เมืองเชียงใหม่ตกอยู่ในภาวะอัมพาตไป 2-3 ปี อย่างไรก็ตาม ในส่วนของโมเดลแผ่ยดินไหวในพื้นที่กทม.ยังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการดำเนินการ” รศ.ดร.เป็น หนึ่งกล่าวและว่า ส่วนการแก้ปัญหาควรจะเริ่มที่การทำความเข้าใจกับประชาชน เพราะหากประชาชนมีความเข้าใจก็จะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ขณะที่การเรียนการสอนการออกแบบอาคารต้านแผ่นดินไหวควรขยายตัวไปยังระดับปริญญาตรี เพราะที่มีในปัจจุบันมีการเรียนการสอนในระดับชั้นปริญญาโทเพียงบางมหาวิทยาลัยเท่านั้น ขณะเดียวกัน มยผ.ซึ่งจะมีรายละเอียดค่อนข้างมากอีกทั้งยังไม่มีในการเรียนการสอนจึงอาจทำให้วิศวกรทำไม่ถูก นอกจากนี้ อาคารที่มีการก่อสร้างไปแล้วก่อนที่กฎกระทรวงใหม่ออกมาควรที่จะมีการเสริม แรงค้านแผ่นดินไหวโดยเริ่มที่อาคารสำคัญๆ ก่อนแต่จะต้องเข้าสู่กฎหมายดัดแปลงอาคารอันทำให้เป็นอุปสรรคในการเสริมกำลังอาคาร แต่หากมีการจูงใจด้วยการลดหย่อนภาษีก็จะทำให้เจ้าของอาคารหันมาสนใจมากขึ้น

 

หัวหน้าโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ดี ตนเองอยากจะเน้นที่อาคารที่จะสร้างขึ้นใหม่ซึ่งปัญหา คือ เราจะเชื่อเพียงวิศวกรเพียงอย่างเดียวซึ่งโดยส่วนตัวแล้วเห็นว่าควรจะให้บุคคลที่ 3 คือ ผู้ตรวจสอบอาคารเข้ามาช่วยตรวจสอบแต่ระบบการตรวจสอบของบ้านเราที่ปฏิบัติอยู่ในปัจจุบันนั้นค่อนข้างเละเทะ

 

ด้าน รศ.ดร.อมร เปิดเผยว่า เหตุแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 6.7 ริกเตอร์ ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่มีจุดศูนย์ศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศพม่าและเกิดแรงสั่นสะเทือนถึงพื้นที่ภาคเหนือและอาคารสูงของ กทม.มีโอกาสเกิดขึ้นได้อีกทุกเมื่อ โดยสถิติในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา เกิดเหตุแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงระดับเดียวกันถึงกว่า 30 ครั้ง หรือเฉลี่ยปีะละประมาณ 1 ครั้ง แต่ไม่สามารถทำนายได้ว่าจะเกิดขึ้นอีกเมื่อใด ไม่ว่าจะเป็นนักวิทยาศาสตร์หรือหมอดูก็ตาม ดังนั้นจึงไม่อาจชะล่าใจได้และควรเตรียมการรับมือด้วยการปรับปรุงแก้ไขความ มั่นคงแข็งแรงของอาคารให้ได้มาตรฐานความปลอดภัย

 

“สิ่งที่น่าเป็นห่วงนอกเหนือจากอาคารถล่ม ก็คือ ทางด่วน และสะพานต่างๆ มีโอกาสที่คานจะหล่นจากหัวเสาได้ง่าย เพราะพื้นที่การตั้งวางมีระยะหมิ่นเหม่ต่อการตกมาก เมื่อเกิดแผ่นดินไหวก็อาจเคลื่อนตัวและหล่นลงมาได้ สะพาน และทางด่วนเหล่านี้แม้จะแข็งแรงก็จริง แต่ก็ยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานรองรับที่ชัดเจน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งสำรวจตรวจสอบ เพราะการเกิดแผ่นดินไหวทำให้มีผู้เสียชีวิตเพียง 50% เท่านั้น แต่อีก 50% เสียชีวิตเพราะถูกสิ่งของหล่นทับ” รศ.ดร.อมร กล่าว

 

รศ.ดร.อมร กล่าวว่า แม้ประเทศไทยจะมีกฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคารและพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ.2550 แต่ก็ไม่มีผลควบคุมย้อนหลังถึงอาคารเก่าที่ก่อสร้างก่อนปี 2550 ฉะนั้น เจ้าของอาคารควรให้ความสำคัญในการปรับปรุงแก้ไขอาคารจะช่วยลดความ รุนแรงของภัยพิบัติลงได้ โดยใช้งบลงทุนเพียงแค่ 3-5% ของการก่อสร้างอาคารเท่านั้น ใช้วิธีเสริมปลอกเหล็กเพิ่มเติมที่โคนเสาหรือหุ้มโคนเสาด้วยแผ่นคาร์บอนไฟ เบอร์ ซึ่งเหตุแผ่นดินไหวในประเทศญี่ปุ่นที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนน้อย เพราะตัวอาคารมีการออกแบบให้มีความเหนียวเป็นพิเศษ สามารถโยกตัวได้โดยไม่ถล่ม

ทั้งนี้ ลักษณะของอาคารที่มีความเสี่ยง ได้แก่ ตึกแถว ซึ่งใช้เสาขนาดเล็ก แต่คานใหญ่ อาคารจอดรถที่มีการแบ่งซอยพื้นที่จอดหลายชั้น โดยไม่มีคานรองรับ อาคารสูงที่ผนังชั้นล่างเปิดโล่งจะทำให้เสาอาคารมีโอกาสทรุดตัวได้ง่าย รวมทั้งบ้านเดี่ยวหรืออาคารที่ใช้ชิ้นส่วนสำเร็จในการก่อสร้าง ซึ่งไม่สามารถมั่นใจได้ว่ารอยต่อของแต่ละชิ้นส่วนจะแนบสนิทหรือแข็งแรงเพียง พอหรือไม่ นอกจากนี้ยังรวมถึงตึกสูงที่มีการออกแบบที่ผิดแปลกทำให้มีความเสี่ยงที่โครงสร้างอาคารจะถล่มได้

 

ประธานคณะอนุกรรมการวิศวกรรมโครงสร้าง กล่าวต่อว่า ขอเรียกร้องให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง 2550 ใน 4 ประเด็นให้ครอบคลุมอาคารเสี่ยงทุกประเภท ได้แก่ 1.อาคาร 1-2 ชั้น ที่มีความสูงตั้งแต่ 3 เมตรขึ้นไป โดยเฉพาะในพื้นที่ใกล้รอยเลื่อนแผ่นดินไหวทางภาคเหนือและภาคตะวันตก 2.กำหนดพื้นที่ซึ่งเป็นดินอ่อน ปัจจุบันมีเพียง 5 จังหวัดคือ กทม.และปริมณฑล แต่ควรขยายให้ครอบคลุม 14 จังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดที่ตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำบางปะกง ท่าจีน และเจ้าพระยา 3.เพิ่มการควบคุมอาคารประเภทโรงงานอุตสาหกรรม โรงงานสารเคมีหรือวัตถุไวไฟ รวมทั้งสะพานและทางด่วนต่างๆ และ 4.ขยายขอบเขตการควบคุมอาคารเสี่ยงบริเวณภาคอีสานตอนบน ได้แก่ หนองคาย อุดรธานี และสกลนคร ซึ่งอยู่ใกล้รอยเลื่อนแผ่นดินไหวในประเทศลาว

 

ประธานคณะอนุกรรมการวิศวกรรมโครงสร้าง กล่าวด้วยว่า ในอนาคตควรมีการตั้งหน่วยงานเฉพาะในการควบคุมและตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรง ของอาคารเก่าเพื่อรับมือภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวโดยเฉพาะ ซึ่งปัจจุบันภาคเอกชนมีการปรับปรุงแก้ไขอาคารในลักษณะต่างคนต่างทำ ทำให้การตรวจสอบยังไม่ทั่วถึง

 

ด้าน นายพินิต กล่าวว่า แม้รัฐจะมีการออกกฎกระทรวงที่รัดกุมแค่ไหนก็ตาม แต่หากทำไม่ได้ก็ไม่มีประโยชน์ โดยปัญหาสำคัญ คือ จรรยาบรรณทางวิชาชีพของวิศวกรผู้ออกแบบอาคาร ส่งผลให้มาตรการควบคุมของรัฐล้มเหลว

 

“ทุกวันนี้เกิดปัญหาวิศวกรยื่นแบบขออนุญาตก่อสร้างอาคารไม่ตรงตามความเป็นจริง โดยเอาแบบอื่นมาสวมแทน อีกทั้งมีการเซ็นชื่อในใบประจำตัววิศวกรแทนกัน นอกจากนี้ยังมีปัญหากระบวนการตรวจสอบ เนื่องจากเจ้าพนักงานไม่เพียงพอ” นายพินิต กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม นายพินิต กล่าวว่า ทางสำนักการโยธาอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น เพื่อจูงใจให้เจ้าของอาคารเก่ามายื่นเรื่องขอตรวจสอบอาคาร เช่น มาตรการด้านภาษี โดยออกข้อบัญญัติลดหย่อนภาษีให้กับผู้ประกอบการที่มีการเสริมความมั่นคงอาคาร เป็นต้น

 
กำลังโหลดความคิดเห็น