xs
xsm
sm
md
lg

อดีต+ปัจจุบัน ตึกแถวเมืองกรุง ‘ลมหายใจแห่งยุคสมัยที่แผ่วลงอย่างช้าๆ’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในยุคนี้เวลานั่งหรือขับรถไปหนแห่งใดของกรุงเทพฯก็ตาม ตึกสูง คอนโดมิเนียมทั้งหรูเยอะ หรูน้อยแย่งกันแทงขึ้นฟ้า เรียงรายราวกับดอกเห็ดดันตัวออกจากพื้นหลังฝนแรกซึมลงดิน ตัวตึกแบบไทยๆ รวมทั้งอาคารพาณิชย์หรือตึกแถวแบบเก่าๆ ที่เคยปกคลุมเกือบทุกพื้นที่กลับกลายเป็นผู้พ่ายแพ้พากันล้มหาย สลายจากไปตามกระแสเงินทุน

‘วันชื่นคืนสุข’ ของคนในสังคมเมืองหลวงของไทย ในยุคที่ตึกรามสูงๆ ยังไม่งอกเงยเป็นห้างสรรพสินค้าหรือซูเปอร์สโตร์บานเบ่ง รวมถึงคอนโดมิเนียมที่ผุดราวกับดอกเห็ดตามเส้นทางรถไฟลอยฟ้าและใต้ดิน ตึกแถวเชิงพาณิชย์ที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยด้วยนั้น เป็นดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจของสังคมไทยอีกมาตรการหนึ่ง และก็ลามไปสู่ต่างจังหวัดที่เจริญและมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ล้วนวัดกันด้วยตึกแถวที่มีมากมายในตัวจังหวัด

วันนี้ลมหายใจของตึกแถวในหลายๆ ยุคของเมืองกรุงและต่างจังหวัด กำลังพ่ายแพ้ต่อความเจริญทางการค้าและอสังหาริมทรัพย์เทรนด์ใหม่ ที่ทิ้งตึกแถวให้ตกยุคไปอย่างไม่เห็นหลัง และรอหมดเวลาใช้งานอย่างช้าๆ แต่แน่นอน หรือถ้ามีอยู่ก็เน้นความสำคัญในเชิงอนุรักษ์ของชุมชนโบร่ำโบราณที่สะท้อนชีวิตเก่าก่อนผ่านตึกแถว คล้ายแช่แข็งกาลเวลาให้ย้อนรำลึกถึงพอผ่อนคลายใจของคนโรแมนติก

ก้าวผ่านยุคสมัยของตึกแถว
 
ถ้าจะเล่าความสัมพันธ์ของตึกแถวในกรุงเทพมหานคร คงต้องยอมรับว่า จริงๆ แล้วถือว่าเป็นของแปลกหน้าระหว่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะตามพื้นเพการสร้างเรือนของชาวไทยนั้นจะเน้นการสร้างเป็นบ้านสูงแค่ชั้นเดียว มีพื้นที่กว้างขวาง เน้นบรรยากาศที่โปร่งรับลมเพื่อให้สอดรับกับภูมิอากาศร้อนๆ ของเรา แต่ตึกแถวนั้นมีลักษณะที่ต่างออกไป เพราะเน้นการสร้างเป็นตึกสูงๆ หลายชั้น และไม่เน้นความกว้างขวางสักเท่าใด โดยต้นรากของตึกแถวก็คือ คนจีนที่โล้สำเภามายังดินแดนสยาม นอกจากเสื่อผื่นหมอนใบแล้ว ยังมีภูมิปัญญาในการสร้างบ้านพร้อมความเชื่อติดตัวมาด้วย ว่าบ้านไหนที่มีพื้นที่หน้าบ้านมากก็จะเก็บภาษีมากเช่นกัน

ถึงแม้เรื่องนี้จะ ‘เริ่ม’ ขึ้นที่เมืองจีน แต่วัฒนธรรมการสร้างตึกแถวกลับกลายเป็นเครื่องสะท้อนความเปลี่ยนแปลงสังคมเมืองกรุงที่กำลังจะกลายเป็นเรื่องที่ ‘ลงเอย’ ที่เมืองไทย โดยสามารถเล่าเรื่องผ่านยุคสมัยของการสร้างตึกได้ดังนี้
1. ยุคก่อนกาล ว่ากันว่า ยุคแรกที่ตึกแถวเริ่มเกิดขึ้นนั้น มาพร้อมกับการสร้างถนนสายแรกในเมืองไทย อย่างถนนเจริญกรุงพื้นที่การค้าสำคัญแห่งหนึ่ง ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นของบรรดาเจ้าขุนมูลนาย หน่วยราชการ หรือมหาวิทยาลัยไม่ก็จะเป็นวัด เนื่องจากมีพื้นที่ว่างเปล่ามากมาย จึงสร้างเป็นตึกให้คนยากจนเช่าและทำเป็นสัญญาระยะยาว เช่น บริเวณเวิ้งนาครเขษม หรือชุมชนหวั่งหลี ที่มีรูปแบบตัวตึกที่อยู่ติดกันเป็นพืด แบบผนังชนผนัง ด้านในที่ไม่ติดถนนก็เป็นบ้านพักอาศัยธรรมดา แต่ส่วนที่อยู่ติดถนนหรือหัวมุมก็มักจะเป็นร้านของขาย จนกลายเป็นต้นแบบของตึกแถวของพื้นที่ต่อๆ มา มักพูดกันว่ามีตึกแถวขึ้นเยอะ แสดงว่าที่นั่นคือย่านการค้า และที่ดินก็จะราคาแพงขึ้นไปด้วย

2. ยุคเร่งสร้างเมือง ต้องยอมรับว่า ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เรื่อยมาจนถึงยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถือเป็นยุคทองในเรื่องการตื่นตัวและเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างสูงสุด เห็นได้จากการร่างแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 ขึ้นมา เพื่อรองรับการเติบโตของเมือง รวมไปถึงการจัดตั้งหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวกับการสร้างที่อยู่อาศัยขึ้นมาอย่างกองเคหสถาน กรมประชาสงเคราะห์ หรือธนาคารอาคารสงเคราะห์ โดยผลพวงหนึ่งที่เกิดขึ้นนั้นก็คือ 'ตึกแถว' รวมไปถึงสิ่งที่เรียกว่า 'แฟลต' จำนวนมาก ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นสาเหตุที่เกิดขึ้นจากคำกล่าวก่อนหน้านี้หรือไม่ แต่ต้องยอมรับว่า การสร้างครั้งนี้ถือว่าแก้ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยได้ชะงักจริงๆ

3. ยุคความเจริญเรียกหา หลังจากที่ประเทศไทยเริ่มมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง พื้นที่หลายแห่งถูกสถาปนาให้เป็นย่านธุรกิจสำคัญของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสุขุมวิท เพชรบุรี หรือสีลม ราคาที่ดินจึงเรียกว่าพุ่งกระฉูดตามขึ้นไปด้วย เหตุนี้เองบรรดาเจ้าของที่ดินเหล่านี้ จึงถือโอกาสสร้างตึกสูงเพื่อรองรับกับสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป อีกทั้งลดระยะเวลาทำสัญญาเช่าให้เหลือเพียงแค่ 2-3 ปีเท่านั้น ด้วยความกระหยิ่มว่าเป็นทำเลทองที่ใครๆ ก็อยากจองเป็นพื้นที่ทำกินทั้งนั้น
แถมในยุคนี้โครงการทางด้านคมนาคมต่างๆ ก็พัฒนาขึ้นทั้งรถไฟทั้งลอยฟ้าใต้ดินก็ต่างประโคมกันเข้ามา ถึงกระนั้นพื้นที่ด้านนอกๆ ตึกแถวก็ยังชนะใจอยู่เหมือนเดิม และถึงแม้จะมีการเริ่มสร้างคอนโดมิเนียมมากขึ้น เนื่องจากราคาที่มีส่วนต่างกันกับตึกแถวมาก คอนโดฯ จึงยังไม่เวิร์กมากนัก แต่ยุคนี้ตึกแถวหลายแห่งก็โดนสอยโดยห้างสรรพสินค้าไปบ้างเช่นกัน

4. ยุคฟองสบู่แตก ในยุคนี้ถือเป็นยุคที่ตึกแถวเริ่มเข้าจุดเสื่อม เพราะนอกจากจะมีคู่แข่งที่น่ากลัว อย่าง 'ทาวน์เฮาส์' แล้ว ยังเจอเคราะห์ซ้ำกรรมซัดด้วยเหตุการณ์เศรษฐกิจไทยสะดุดขาตัวเองจนล้มหัวคะมำ ภาพหนึ่งที่จะเห็นกันเจนตาก็คือ บรรดาตึกแถวร้างที่ไม่มีใครเข้าไปทำอะไร โดยเฉพาะย่านเศรษฐกิจ ซึ่งหลายๆ แห่งก็ต้องปิดตัวไป

5. ยุค (เตรียม) อวสาน แม้เศรษฐกิจจะกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง แต่ด้วยเหมือนสถานการณ์ของตึกแถวจะไม่คึกคัก โดยเฉพาะนับจากปี 2550 เป็นต้นมา อาจจะเรียกว่าเป็นยุคอวสานอย่างแท้จริงของตึกแถวแบบดั้งเดิมเลยก็ว่าได้ ด้วยการขยายของเมืองที่มากขึ้น และการพลิกโฉมของกิจการคอนโดฯ ด้วยบรรยากาศชวนมองอีกทั้งจุคนได้มากกว่าและอยู่ใกล้การคมนาคมที่สะดวก ทำให้เจ้าของตึกแถวจำนวนไม่น้อย ขายตึกหรือไม่ก็ทุบทิ้ง แล้วเปลี่ยนมาสร้างคอนโดฯ แทน เช่นเดียวกับแหล่งพื้นที่ตึกแถวโบราณ ที่ทยอยหมดสัญญาเป็นที่เรียบร้อย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่จะเห็นชุมชนโบราณที่เคยเรียงรายด้วยตึกแถวเริ่มหายไปทีละแห่งสองแห่ง เช่น ชุมชนสามย่าน ซอยหวั่งหลี ฯลฯ

สังคมดำเนินไปด้วยครรลองของธุรกิจ

หากมองผ่านมุมด้านเศรษฐศาสตร์แล้ว พัชรา พัชราวานิช อาจารย์ประจำสาขาวิชาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แจงให้ฟังว่าอย่างแรกเพราะที่ดินนั้นเป็นทุนทรัพย์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ในขณะที่ที่ดินมีอยู่อย่างจำกัดแต่ความต้องการของมันเพิ่มมากขึ้นตามจำนวนของประชากร ราคาจึงปรับสูงขึ้นไป ดังนั้นรูปแบบอาคารที่แต่เดิมอาจจะตารางวาละหมื่นต้นๆ แต่ปัจจุบันกลับเพิ่มขึ้นเป็นตาราวาละกว่า 5 หมื่นบาทซึ่งหากเอาที่ดินที่เคยเป็นบ้านหรือตึกเก่าๆ ตรงนั้นไปสร้างเป็นอาคารสำนักงานสูงๆ แล้วเสนอราคาขายตารางวาละ 5 หมื่น คนอาจต้องการซื้อ 20 ตารางวาก็กลายเป็นเม็ดเงินเหยียบล้านไปแล้ว

“ทั้งค่าก่อสร้างที่แพง ก็จะให้คนที่เป็นคนชั้นกลางไม่สามารถมีที่อยู่อาศัยหรือที่ทำกินตัวเองได้ คอนโดฯ ใจกลางเมืองจึงเป็นทางเลือกใหม่ การเอาที่ดินมาเฉลี่ยเป็นตึกสูงเป็นกลไกลที่ทำให้ราคาที่ดินต่อตารางเมตรที่ขายถูกลงนั่นเอง ดังนั้นอาคารพาณิชย์แนวราบก็ค่อยๆ เปลี่ยนเป็นตึกสูงๆ แทน ”

ประการที่ 2 ในแง่วัตถุประสงค์การใช้ที่ดินที่ปัจจุบัน ไลฟ์สไตล์ของคนมีมากขึ้นทำให้วัตถุประสงค์แตกออกไปอย่างหลากหลาย เช่น เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ ด้านกีฬาด้านสังคม ในขณะที่ที่ดินก็ยังมีอยู่อย่างจำกัดเช่นเดิม กอปรกับค่าก่อสร้างก็ดีดตัวสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ทำให้บ้านที่อยู่อาศัยในลักษณะอาคารแนวราบไม่คุ้มค่าในการก่อสร้างอีกด้วย

“อนาคตของตึกเก่าๆ มีแนวโน้มที่ถูกทุบทิ้งและสร้างเป็นอาคารสูงๆ แทน เพียงแต่ว่าเราควรแยกว่าเป็นตึกที่มีโดยทั่วไป หรือตึกที่มีสถาปัตยกรรมที่มีความสวย มีความเป็นอัตลักษณ์ของประเทศ ซึ่งในต่างประเทศเขาจะทำนุบำรุงอาคารเหล่านี้ไว้ เพราะคุณค่าลักษณะนี้จะเอากลับมาสร้างใหม่ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวัสดุ ช่างฝีมือหรือรายละเอียดอื่นๆ ด้วย ซึ่งคุณค่า มูลค่าของอาคารแบบนี้ก็มีอยู่สูงเช่นกัน” พัชราแสดงทัศนะที่ตระหนักถึงความหมายที่สำคัญของอาคารเก่าของสังคมไทย พร้อมเสริมว่า ตึกแถวเก่ายังคงมีความหมายในด้านจิตใจ เหมือนเป็นเสียงที่เราก็รู้ว่าอะไรเกิดขึ้นกับสังคมบ้าง แต่ก็ไม่สามารถต้านความสามารถของอำนาจเม็ดเงินได้ จึงทำให้เรื่องราวต่างๆ ต้องดำเนินไปตามครรลองของการทำธุรกิจ

เช่นเดียวกันสาเหตุที่ตึกรามบ้านช่อง หรืออาคารเก่าๆ ถูกรื้อถอน และสร้างเป็นสิ่งก่อสร้างใหม่ๆ เช่น คอนโดฯ หรือ ตึกสูงๆ แทน เป็นเพราะความเปลี่ยนแปลงทางด้านยุคสมัย ทำให้ผู้คนคิดว่า สิ่งต่างๆ เหล่านี้ควรได้รับการเปลี่ยนแปลง อีกทั้งปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ ก็ถือเป็นตัวแปรหลัก อัญชัญ แกมเชย ผู้จัดการสำนักงานบางกอกฟอรั่ม มองความเป็นไปตรงนี้ว่า

“เราเติบโตขึ้นมาในสังคมช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งก็จะมีสภาพแวดล้อมที่อาจจะเป็นตึก อาคารบ้านเรือน ซึ่งมันก็จะอยู่ในยุคสมัยหนึ่ง ถ้าหากตึกนั้นมันมีคุณค่า หรือว่ามีเรื่องของประวัติศาสตร์พ่วงเข้ามาด้วย มันก็จะเพิ่มความหมายให้กับตัวเองมากขึ้น มันมีความผูกพัน มีประวัติศาสตร์ของการอยู่ร่วมกันของคนที่อยู่ในนั้น หากเรารู้สึกว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้มันมีความหมายต่อการดำรงไว้ซึ่ง เอกลักษณ์ของสังคมไทย ควรจะอนุรักษ์ หรือทำอย่างไรที่จะอยู่กับสิ่งๆ นั้น ท่ามกลางยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง เพราะสิ่งเหล่านี้มันอยู่ควบคู่กับความทรงจำ”

ความคิดเห็นของคนอยู่ตึกแถว

ความคิดเห็นและความรู้สึกที่จะขาดไปไม่ได้เห็นจะเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในตึกแถว อย่าง นิธิวดี เธียรธัญญกิจ ซึ่งอาศัยมาตลอดตั้งแต่เยาว์วัย อยู่ในตึกแถวบริเวณสามย่านซึ่งปัจจุบันถูกทุบทิ้งไปแล้ว เธอมีความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ว่า เป็นเรื่องแน่นอนที่ต้องเสียดายอยู่ไม่น้อย เพราะเป็นภาพชินตาที่เห็นมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก

“พอเขาทุบไปก็โล่งไปเลยนะ เพราะหายไปทั้งแถบ ก็เสียดายพอสมควร เห็นกันมา 20 ปีกว่าๆ ทุบทิ้งไปก็โหวงๆ เพราะเราเห็นมาตั้งแต่ยังเด็กๆ”

อย่างไรก็ตาม ในอีกแง่มุมหนึ่งของเธอมองว่า ก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะที่ผ่านมานั้น บริเวณดังกล่าวซึ่งมีอายุกว่า2-3 ทศวรรษมีสภาพเสื่อมโทรมมากแล้ว เพราะขาดการดูแลรักษาจากทางราชการ และหากผู้อยู่อาศัยต้องการจะดูแลรักษาก็ต้องดำเนินการขออนุญาตและเสียเงินค่าปรับปรุงเอง จึงไม่มีใครคิดเข้ามาปรับปรุงตึกเหล่านี้ ส่งผลให้กลายเป็นแหล่งเสื่อมโทรมและแหล่งมั่วสุมไปในที่สุด

……….

แม้ว่าตึกแถวพาณิชย์ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนทำการค้าจะสู้แรงของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในเมืองหลวงไม่ไหวประการหนึ่งแล้ว สาเหตุสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ กาลเวลาที่กัดเซาะตึกเหล่านี้ให้ชำรุดทรุดโทรมจนกลายเป็นของล้าสมัยและไม่คุ้มค่าที่จะบำรุงซ่อมแซมหรือบูรณะ โดยเฉพาะตึกแถวกลางเก่ากลางใหม่ที่ไม่หลุดจากเงื่อนไขของกาลเวลาเป็นตึกแถวโบราณคลาสสิก ภาพอดีต+ปัจจุบัน ของตึกแถวก็น่าจะเหลือเฉพาะตึกแถวโบราณคลาสสิกที่ได้รับการบูรณะในฐานะโบราณสถานที่ยังมีชีพจรชีวิตอยู่ ส่วนตึกแถวเชิงพาณิชย์ที่ตามไล่หลังความเจริญของเมืองกรุงไม่ทันก็ต้องถูกทุบทิ้งไปตามกาลเวลา อนาคตของตึกแถวจึงน่าจะเป็นบรรยากาศที่หอมหวนของคนที่เคยสัมผัสในยุค 20 ปีก่อนขึ้นไปที่ยังมีความหลังและประวัติศาสตร์ร่วมกัน...



>>>>>>>>>>
………

เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK



กำลังโหลดความคิดเห็น