ยะลา - แหล่งข่าววงในเผยแกนนำสมาชิกขบวนการพูโลภาคพื้นยุโรป เตรียมรวมตัว จัดตั้งกลุ่มอาสาแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีแผนเข้าพบรัฐบาลมาเลเซียเพื่อหารือเรื่องการปรับลดค่าธรรมเนียมอนุญาตทำงานในมาเลเซีย พร้อมหนุนปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่ชายแดนใต้
วันนี้ (23 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.ยะลา ว่า หน่วยข่าวพลเรือนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า แกนนำสมาชิกขบวนการพูโลยุโรป พร้อมพวก เดินทางกลับจากต่างประเทศมายังจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเปิดศูนย์ประชาชน อาสาพัฒนา แก้ไขปัญหาสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในพื้นที่จังหวัดยะลา อย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางการพบปะบรรดาผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา บุคคลสำคัญในวงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ และใช้เป็นสำนักงานของคณะทำงาน ซึ่งกำหนดจะตั้งสำนักงานในเร็วๆ นี้
โดยหลังจากเปิดสำนักงานแล้ว คณะทำงานจะเริ่มทำงานทันที โดยเรื่องแรก คือ การไปร่วมประชุมการขอปรับลดค่าธรรมเนียมในอนุญาตการทำงานในประเทศมาเลเซีย โดยมีกำหนดการเข้าพบ ดาโต๊ะ อัชมี ฮามิด บิดิน เลขานุการรัฐมนตรีมหาดไทยมาเลเซีย และขอทราบผลการเจรจาเสร็จสิ้นภายในเดือน ธ.ค. นี้ นอกจากนี้ ยังมีโครงการพบปะกับผู้แทน รมต.เกษตร มาเลเซีย เกี่ยวกับโครงการปลูกปาร์มน้ำมันในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนในพื้นที่มีกำหนดการเข้าพบท่านจุฬาราชมนตรี เพื่อขอคำปรึกษาหารือ การก่อตั้งชมรมนักวิชาการอิสลามอูลาม่า โดยมีเป้าหมายมุ่งหวังที่จะใช้ ชมรมเป็นเครื่องมือช่วยแก้ปัญหาสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้
แหล่งข่าวคนเดียวกัน ยังเปิดเผยอีกว่า ขณะนี้กำลังรวบรวมแกนนำสมาชิกขบวนการกลับมารายงานตัว ตอบแทนคุณแผ่นดิน ซึ่งจากการประสานงานกับแกนนำต่างๆ ประกอบด้วย ขบวนการพูโล บีอาร์เอ็น บีเอ็นพีพี มีการแจ้งความประสงจะกลับมาร่วมโครงการนี้ ประกอบด้วย ดร.ฟาเดร์ เจะมาน หะยีแม ซอเราะ อยู่ที่ประเทศสวีเดน พูโล นายฮาซัน ตอยิบ พูโล อยู่ที่ มาเลเซีย ซึ่งรับว่าเป็นผู้ที่ให้การดูแลเรื่องที่พักให้กับ นายมะแซ อุเซ็ง และนายสะแปอิง บาซอ โดยมีแผนจะรวมตัวแกนนำกลับมารายงานตัว เพื่อตอบแทนคุณแผ่นดิน ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เป็นกรณีพิเศษ เนื่องในวโรกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา 5 ธันวาคม 2554
ด้าน พล.ต.อัคร ทิพโรจน์ รอง ผอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า หลักฐานทางการข่าว แจ้งว่า ขบวนการเกิดความแตกแยกภายใน ระดับแกนนำบางคนบางกลุ่มไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง ที่ก่อเหตุกับกลุ่มผู้บริสุทธิ์ พัวพันกับกลุ่มค้ายาเสพติด กระทำการอุจอาจฆ่ากันในมัสยิด ลอบวางระเบิดในเดือนถือศีลอด ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบกลายเป็นมุสลิมด้วยกันเป็นต้น เป็นไปได้ที่บรรดาแกนนำเหล่านี้ จะหาวิธีการอื่นที่อยากให้ความเป็นธรรมกับสังคม แสดงให้เห็นถึงความต้องการที่แท้จริง โดยใช้สันติวิธี การรวมตัวได้จะเป็นทางออกที่ดีให้กับประชาชน
และในขณะเดียวกัน จะทำให้ขบวนการที่ใช้ความรุนแรงจะหมดโอกาสไปในที่สุดด้วย ทั้งนี้ ขบวนการต้องมาพิจารณาตัวเองว่า การที่ได้ฆ่าคนเป็นจำนวนมากนั้นได้อะไร ยิ่งทำให้เกิดความเสื่อมศรัทธาลงเรื่อยๆ คนส่วนใหญ่ต้องการความเป็นอิสระในการทำมาหากิน การศึกษาหาความรู้ ดังนั้นในสภาพการณ์เริ่มจะทำให้คนดีเกิดความแข็งแรงมากขึ้น
ดังนั้น โอกาสที่คนไม่ดีจะมาแอบอยู่หลังคนดีนั้นจะไม่มีที่ยืน ในที่สุดจะกลายพันธุ์ออกมาต่อสู้ในทางสันติมากขึ้น ซึ่งตรงกับนโยบายที่ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 มั่นใจว่าหากสามารถมาคุยกันได้ด้วยความจริงใจต่อกัน ก็จะสามารถอยู่ร่วมกันได้
รอง ผอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้ากล่าวอีกว่า ถือว่าเป็นข่าวดีหรือมิติใหม่ของคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ประชาชนต้องการความเป็นธรรมด้วยการใช้การเมือง หรือใช้ความสันติวิธี ที่ไม่ทำให้คนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย ซึ่งปัจจุบันประตูช่องทางที่จะร้องทุกข์ นั้นมีอยู่มากมาย อาทิ ศอ.บต.เป็นต้น