นครศรีธรรมราช - ประมงจังหวัดยันจับกุมผู้ทำผิดไม่ไว้หน้า ปีนี้รวมแล้ว 29 คดี ลั่น!ข้อกฎหมายยกเว้นไม่ได้-พร้อมพาแกนนำเจรจาหน่วยเหนือหากไม่ยอมเจรจาในพื้นที่
วันนี้ (5 ก.ย.) นางอารีย์ อินทรสมบัติ ประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวถึง กลุ่มเรือประมงพื้นบ้านที่ได้ทำการปิดร่องน้ำสัญจรทางเรือหน้าปากอ่าวปากนคร อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ตั้งแต่ช่วงเย็นของวานนี้ (4 ก.ย.) ว่า หลังจากที่มีการปิดร่องน้ำเมื่อวานนี้แล้ว กลุ่มผู้ประท้วงยังไม่ได้มายื่นข้อเสนอหรือขอความช่วยเหลือ
เท่าที่ติดตามสถานการณ์ยังคงมีการพูดถึงเรื่องเดิม คือให้เจ้าหน้าที่ยกเว้นการจับกุมในเขตหวงห้ามการทำประมง ซึ่งเรื่องนี้ต้องบอกว่า เป็นเรื่องของข้อกฎหมายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้
ประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช ยังกล่าวต่ออีกว่า เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการจับกุม หากออกตรวจสอบแล้วพบการกระทำความผิดซึ่งหน้า ประเด็นข้อกล่าวที่บอกว่าเจ้าหน้าที่เลือกปฏิบัตินั้นเป็นไปไม่ได้ โดยในปีงบประมาณนี้เจ้าหน้าที่จับกุมไปแล้วถึง 29 คดี เป็นเรือขนาดเล็กและเรือรุนลาก 18 คดี เรือขนาดใหญ่ 11 คดี สัดส่วนขนาดนี้คงไม่เรียกว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ และหากผู้ชุมนุมจะส่งตัวแทนมา ก็ยินดีที่จะประสานงานพูดคุยกับส่วนกลาง
“อย่างไรก็ตาม ขอบอกว่า จังหวัดเองให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาโดยตลอด และเป็นจังหวัดนำร่องในการอนุรักษ์ด้วยซ้ำ แต่อีกส่วนหนึ่งไม่มีการอนุรักษ์ใดๆ เมื่อมีการมองแล้วสับสนอยู่พอสมควร เรื่องทุกอย่างจะมาทุบโต๊ะ แล้วบอกว่าขอทำผิดกฎหมายคงลำบาก โดยส่วนตัวนั้นไม่เคยปิดกั้นการติดต่อ โทรศัพท์มือถือเปิดตลอด 24 ชั่วโมง ให้ติดต่อมาได้เลยทันที หากมีข้อขัดข้องประการใด” ประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าว
ด้าน นายนายนรินทร์ ยุทธิชัย นายก อบต.ท่าไร่ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช หนึ่งในกลุ่มผู้ชุมนุม กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากชาวประมงพื้นบ้านที่หาเช้ากินค่ำ ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมบ่อยครั้ง
หลังจากที่ไปชุมนุมขอความเป็นธรรมหน้าศาลากลางแล้วไม่เป็นผล ทุกคนจึงร่วมกันปิดอ่าวหรือร่องน้ำที่มีการเดินเรือสัญจรในวันนี้ ทำให้เรือประมงทุกชนิด เรือขนถ่ายน้ำมัน ขนสินค้าต่างๆ ไม่สามารถผ่านไปมาได้ และหากเนิ่นนานออกไปเกิน 10-20 วัน จะทำให้เกิดความเสียหายในทางธุรกิจ รวมแล้วไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท
ในขณะที่พวกเราเองก็เดือดร้อนที่ไม่ได้ประกอบอาชีพ ตามปกติแค่หยุดจับปลา 2-3 วันพวกเราก็เดือดร้อนแล้ว แต่เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับกระทรวงหรือรัฐบาลลงมารับทราบปัญหาและนำไปสู่การพิจารณาแก้ไข พวกเราต้องยอมเดือดร้อนเพื่อจะได้ทำมาหากินกันโดยไม่ต้องหวาดผวา ว่าจะถูกเจ้าหน้าที่ไล่ล่าจับกุมเหมือนที่ผ่านมา
“เราไม่เจรจากับระดับจังหวัด ไม่ว่าผู้ว่าราชการจังหวัด ประมงจังหวัด หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เราไม่เชื่อคนเหล่านี้อีกแล้ว เพราะเรารวมตัวประท้วงเรียกร้องขอความเห็นใจมาตลอด มีการเจรจาตกลงกันอย่างชัดเจน แต่ผ่านมาไม่นานก็มีการออกคำสั่งไล่ล่าจับกุมพวกเราอีก ในขณะที่กลุ่มนายทุนจากต่างถิ่นที่นำเรือประมงขนาดใหญ่เข้ามาลักลอบคาดหอยลาย กอบโกยเอาทรัพยากรของบ้านเราไปปีละนับพันนับหมื่นล้าน ทั้งยังสร้างความเสียหายแก่ระบบนิเวศชายฝั่งนครศรีธรรมราชอย่างย่อยยับ เจ้าหน้าที่กลับปล่อยปละละเลยไม่มีการจับกุม
แต่พวกเราทำประมงพื้นบ้าน ใช้เรือขนาดเล็ก เครื่องมือประมง หรือรูปแบบวิธีการอาจจะไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.ประมง กลับถูกตามล้างจองเวรไล่ล่าจับกุมโดยไร้ความเมตตาปรานี เหมือนเราไม่ใช้คนไทย หากเปรียบเทียบความเสียหายระหว่างประมงพื้นบ้านที่ประกอบอาชีพนี้มาหลายชั่วอายุคน กับกลุ่มนายทุนที่ลักลอบเข้ามาทำประมงคราดหอยลาย ความเสียหายต่อระบบนิเวศมันเทียบกันไม่ได้เลย” นายนรินทร์ กล่าว
นอกจากนี้ นายนรินทร์ ยังกล่าวอีกว่า สำหรับข้อเรียกร้องของชาวประมงในครั้งนี้ เราจะยอมรับการเจรจากับรัฐบาล รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง อธิบดีกรมที่เกี่ยวข้อง หรือตัวแทนหน่วยงานจากส่วนกลางที่เกี่ยวข้องเท่านั้น จะไม่เจรจากับผู้ว่าฯ หรือเจ้าหน้าที่ระดับจังหวัดเด็ดขาด และหลังจากการเจรจากันแล้วจะต้องนำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกันเพื่อให้ชาวประมงพื้นบ้านสามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติโดยไม่มีการไล่ล่าจับกุมเหมือนที่ผ่านมา