xs
xsm
sm
md
lg

ประมงโพงพางตรังบุกร้อง มท.1 ขอทำโพงพางต่ออีก 4 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง - ชาวประมงโพงพางของจ.ตรัง กว่า 400 คน บุกยื่นหนังสือ มท.1 เรียกร้อง 2 ข้อ ให้ชาวบ้านทำโพงพางต่ออีก 4 ปี หรือชดเชยรายละ 1.5 แสนบาท ขอคำตอบภายใน 7 วัน หากไม่คืบขู่ปิดทะเลอันดามัน

เมื่อเวลา 11.00 น. วันนี้(4 ก.ย.) นายโอฬาร ชนะสงคราม อดีตแกนนำเผาวางเพลิงที่ว่าการอำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เมื่อปี 2538 ซึ่งเพิ่งพ้นโทษจากคุก พร้อมด้วยชาวประมงพื้นบ้านที่ประกอบอาชีพโพงพางในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ กันตัง ย่านตาขาว หาดสำราญ และปะเหลียน กว่า 400 คน นำป้ายผ้าที่มีข้อความโจมตีการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินทางมาชุมนุมประท้วงเพื่อยื่นหนังสือต่อ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดงานเทศกาลหมูย่างเมืองตรัง ครั้งที่ 22 เพื่อเรียกร้องให้จังหวัดและรัฐบาลแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้ที่ยึดอาชีพการทำโพงพาง ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจ อส. ทั้งในและนอกเครื่องแบบอย่างใกล้ชิด

นายโอฬาร แกนนำชาวบ้าน กล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 3 กันยายน เวลาประมาณ 02.00 น.ได้มีเจ้าหน้าที่ศูนย์บริหารจัดการประมงทะเล จ.กระบี่ หรือเรือใบไม้เขียว กว่า 20 คน เข้าไปตัดฟันทำลายเชือกผูกสายสมอเสาโพงพางของชาวประมงพื้นบ้าน ในเขตท้องที่ ต.นาเกลือ ต.กันตังใต้ และ ต.วังวน ได้รับความเสียหาย ประมาณ 150 ปาก ซึ่งถือเป็นการกระทำเยี่ยงโจร ทำให้ชาวบ้านยอมรับไม่ได้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ได้เข้าร่วมโครงการปรับเปลี่ยนเครื่องมือประกอบอาชีพจากโพงพาง เป็นการส่งเสริมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและประมงที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว แต่ก็ยังมีเรือใบไม้เขียวเข้ามาในพื้นที่ตัดฟันโพงพางของชาวบ้านบ่อยครั้ง จนเป็นเหตุให้ชาวประมงพื้นบ้านที่ยึดอาชีพการทำโพงพาง ทั้ง 4 อำเภอ ได้รับความเดือดร้อนและไม่พอใจ

ดังนั้น จึงมายื่นหนังสือถึง นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ พร้อมยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา 2 ข้อ คือ 1.ให้อนุโลมและผ่อนผันให้ชาวประมงพื้นบ้านสามารถประกอบอาชีพการทำโพงพางออกไปได้อีก 4 ปี และ 2.หากทำไม่ได้ก็ให้ชดเชยรายละ 1.5 แสนบาท

ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องดังกล่าว ขอให้รัฐบาลพิจารณาตามที่เหมาะสมข้อใดข้อหนึ่ง และหากรัฐบาลสามารถทำได้ จะเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนถาวร เพราะจะทำให้ชาวบ้านกลับมาเป็นผู้อนุรักษ์ปกป้องทรัพยากรทางทะเลอย่างแท้จริง ซึ่งดีกว่าการที่จะนำคนนอกพื้นที่เข้ามาทำกิจกรรมอนุรักษ์ เพราะเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ และเห็นว่าทางภาครัฐควรมีมาตรการเด็ดขาดทำลายอวนรุนให้หมดไปจากพื้นที่ เพราะเรืออวนรุนทำลายทรัพยากรธรรมชาติมากกว่าโพงพาง

อย่างไรก็ตาม อดีตแกนนำเผาวางเพลิงที่ว่าการอำเภอกันตัง เมื่อปี 2538 ระบุว่า สำหรับข้อเรียกร้องดังกล่าว ชาวบ้านขอคำตอบภายใน 7 วัน แต่หากยังไม่มีความคืบหน้า ชาวบ้านจะมีมาตรการกดดันโดยการปิดทะเลอันดามัน ซึ่งอาจส่งผลกระทบทำให้เรือจากต่างประเทศที่รับส่งสินค้าไม่สามารถเข้าออกได้ และยังทำให้เศรษฐกิจของ อ.กันตัง ต้องหยุดชะงักด้วย

ขณะที่ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้รับหนังสือและรับปากว่า จะสะสางปัญหาให้ และบอกว่าเรื่องนี้สามารถแก้ปัญหาได้ ทำให้กลุ่มผู้ประท้วงพอใจและสลายการชุมนุมในที่สุด โดยไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรงใดเกิดขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า นอกจากจะมีชาวประมงพื้นบ้านที่ทำโพงพาง เดินทางมาประท้วงและยื่นหนังสือต่อ นายยงยุทธ แล้ว ยังมี นายสิงห์สยาม มุกดา ปลัด อบต.สุโสะ อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ในนามเครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์คนตรัง ได้นำป้ายไวนิลขนาดใหญ่ที่มีข้อความว่า "ชาวตรังใจกว้าง สร้างแต่ความดี รับทุกพรรค รักทุกสี ขอเพียงทำดีเพื่อแผ่นดิน ยินดีต้อนรับ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ด้วยความยินดียิ่ง" พร้อมกับคำเตือนว่า "หมูย่างเมืองตรังสับง่าย เคี้ยวง่าย แต่อย่ากินใต้โต๊ะ อย่ามูมมาม เพราะอาจทำให้พุงกาง และไม่มีแผ่นดินอยู่" โดยนำมาติดไว้ที่ใกล้ๆ กับบริเวณสถานที่จัดงานเทศกาลหมูย่างเมืองตรังด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น