xs
xsm
sm
md
lg

ปัตตานีเร่งปล่อยพันธุ์กุ้งกุลาดำลงอ่าวปัตตานี เพื่อสร้างรายได้ให้กับประมงพื้นบ้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัตตานี - ศูนย์เพาะเลี้ยงและพัฒนาประมงชายฝั่งปัตตานี เตรียมพันธุ์กุ้งกุลาดำลงอ่าวปัตตานี เพื่อสร้างรายได้ให้กับชาวประมงพื้นบ้านรอบอ่าว สร้างรายได้สูงถึงปีละ 10 ล้านบาท

วันนี้ (7 มิ.ย.) ที่ศูนย์เพาะเลี้ยงและพัฒนาประมงชายฝั่งปัตตานี นายทศพล พลรัตน์ นักวิชาการประมงปฏิบัติการ ได้นำเจ้าหน้าที่และลูกจ้างของศูนย์ลงบ่ออนุบาลลูกกุ้งกุลาดำ เพื่อทำการจับลูกกุ้งกุลาดำขนาดประมาณ 2 นิ้ว จากบ่อจำนวนนับล้านตัว เพื่อรวบรวมก่อนนำไปปล่อยลงสู่อ่าวปัตตานี ซึ่งการรวบรวมพันธุ์ลูกกุ้งกุลาดำในครั้งนี้ ทางศูนย์ได้ปรับใช้วิถีภูมิปัญญาชาวประมงพื้นบ้านโดยการใช้เครื่องมือราวอ แทนการใช้อวนลากแบบเดิมที่เคยใช้ในศูนย์ เพราะไม่ได้ผล ลากหลายเที่ยวแต่กุ้งกลับไม่ติดอวน จึงหันมาใช้ราวอแทน จึงสามารถรวบรวมพันธุ์ลูกกุ้งจำนวนนับล้านตัวได้ไม่ยาก

นายทศพล พลรัตน์ กล่าวว่า การรวบรวมพันธุ์กุ้งในแต่ละครั้งต้องใช้ความพยายามมาก เพื่อสามารถนำพันธุ์ลูกกุ้งที่มีขนาดประมาณ 2 นิ้ว นำไปปล่อยลงสู่อ่าวปัตตานี เพื่อให้ชาวประมงพื้นบ้านสามารถมีกุ้งตัวเต็มวัยจับขายเป็นอาชีพ ในการที่สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชาวประมงได้อีกทางหนึ่ง

ส่วนขั้นตอนของการรวบรวมพันธุ์กุ้งกุลาดำขนาดประมาณ 2 นิ้วนั้น มีหลายขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนแรกทางศูนย์ ได้นำไข่กุ้งเพาะในโรงเพาะของศูนย์ให้ได้ลูกกุ้งขนาด พี-แอล 15-17 จากนั้นจึงนำลูกกุ้งขนาดดังกล่าวไปปล่อยในบ่อดิน เพื่ออนุบาลอีกครั้งประมาณ 1 เดือน จึงสามารถมีลูกกุ้งขนาดประมาณ 2 นิ้ว จึงได้ใช้ราวอ รุนลูกกุ้งในบ่ออนุบาล เพื่อรวบรวมและนับจำนวน แล้วจึงนำไปพักไว้ในบ่อปูนในโรงเพาะอีกครั้ง เพื่อให้กุ้งสามารถฟื้นตัว จากอาการฟกช้ำจากการรุนอีกประมาณ 2-3 วัน

หลังจากนั้น จึงได้นำลูกกุ้งบรรจุใส่ในถุงพลาสติกเติมอากาศออกซิเจนลำเลี้ยงไปปล่อยในอ่าวต่อไป ซึ่งถือได้ว่าทุกขั้นตอนมันเหนื่อยมาก เพียงสาเหตุที่ต้องอนุบาลต่อในบ่อดินให้ได้กุ้งขนาด 2 นิ้ว ก็เพื่อให้อัตรารอดสูงเมื่อนำไปปล่อยลงสู่อ่าว ชาวประมงพื้นบ้านเขาจะได้มารายได้มากขึ้น มีชีวิตที่ดีขึ้น แม้เหนื่อยหน่อยก็ถือว่าคุ้ม นายทศพล กล่าว

ด้าน นายธนาวุฒิ กุลจิตติชนก ผู้อำนวยการศูนย์เพาะเลี้ยงและพัฒนาประมงชายฝั่งปัตตานี กล่าวว่า อ่าวปัตตานีเคยเป็นอ่าวที่สมบูรณ์ มีสัตว์น้ำเป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันสัตว์น้ำมีจำนวนน้อยไปมาก ทำให้ชาวประมงต้องเลิกอาชีพไปบางส่วน ทางศูนย์จึงได้รับขอความช่วยเหลือจากชาวประมงพื้นบ้าน และจากผู้นำท้องถิ่น ว่า จะทำอย่างไรให้มีสัตว์น้ำในอ่าวให้จับเป็นอาชีพสร้างรายได้ให้กับชาวประมงพื้นบ้าน

ทางศูนย์ผมเองจึงคิดว่าเราควรที่จะปล่อยสัตว์น้ำประเภทที่มันไม่ไปไหน มันอยู่กับที่ จึงตัดสินใจปล่อยลูกกุ้งกุลาดำขนาด พี-แอล 15-17 ลงสู่อ่าวปัตตานี ซึ่งหลังจากปล่อยได้ประมาณ 3 เดือน ชาวประมงพื้นบ้านสามารถลอยอวนกุ้งจับมาขายเป็นรายได้เลี้ยงครอบครัว จนถึงปัจจุบันมาเป็นเวลา 7 ปี จนเป็นที่รับรู้แล้วว่ากุ้งที่ชาวประมงพื้นบ้านจับมานั้นเป็นกุ้งที่มาจากศูนย์ปล่อยมีมากถึง 70% ด้วยเหตุนี้ทางศูนย์จึงได้มีการอนุบาลให้ลูกกุ้งมีขนาดประมาณ 2 นิ้ว เพื่อสามารถรอดสูงหลังจากมีการปล่อยแล้ว ซึ่งจากการประเมินรายได้จากการปล่อยในรอบปีนั้นมีมากถึง 10 ล้านบาท เป็นรายได้ที่สามารถสร้างคุณภาพที่ดีให้กับชาวประมงพื้นบ้านได้เป็นอย่างดี

นายมุกตาร์ สะแม ประธานชมรมประมงพื้นบ้านรอบอ่าวปัตตานี กล่าวว่า เป็นที่ดีมากที่ทางศูนย์ฯได้มีการปล่อยพันธุ์ลูกกุ้งกุลาดำในอ่าว เพราะวันนี้ชาวประมงสามารถจับได้เป็นรายได้ในการเลี้ยงครอบครัวชาวประมง จึงอยากให้มีการปล่อยอย่างต่อเนื่อง และอยากเรียกร้องหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องควรหันมาสนับสนุนโครงการในลักษณะนี้บ้าง เพื่อจะได้เห็นผลเป็นรูปธรรม และเป็นที่พึ่งของชาวประมงพื้นบ้านที่ยากจนอย่างพวกผมบ้าง



กำลังโหลดความคิดเห็น