ยะลา - ทุเรียนยะลา ถูกใจตลาดผลไม้จีน ส่งออกวันละ 1 ตู้คอนเทนเนอร์ จังหวัดเร่งเกษตรกรดูแลคุณภาพทุเรียนให้ได้มาตรฐาน หวังเพิ่มยอดการสั่งซื้อ
นายณัฐพงษ์ ศิริชนะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวว่า ในปีนี้ทุเรียนในพื้นที่ของ จ.ยะลา ค่อนข้างจะมีราคาดี ซึ่งในขณะนี้ ทางผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ได้ดำเนินการร่วมกับการค้าภายในและวิสาหกิจชุมชน บริษัท เชียงใหม่ธนาธรการเกษตร จำกัด ส่งทุเรียนไปจำหน่ายที่เมืองกวางเจา ประเทศจีน โดยขณะนี้ส่งไปแล้วทั้งหมด 8 ตู้ คอนเทนเนอร์ ใน 1 ตู้ คอนเทนเนอร์ มีน้ำหนักประมาณ 18 ตัน
ทั้งนี้ ตู้แรกที่ไปถึง ได้รับแจ้งกลับมาว่า ทุเรียนของ จ.ยะลา ผ่านเกณฑ์ มีคุณภาพที่ดี มีรสชาติที่ดีมาก เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค ซึ่งก็มีคำสั่งซื้อมากขึ้น จากเดิมใน 2 วัน จะได้ทุเรียน 1 ตู้คอนเทนเนอร์ ขณะนี้ต้องการให้ส่งออกวันละ 1 ตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งคาดว่า ปีนี้ตลอดทั้งปี ทาง จ.ยะลา น่าจะสามารถส่งออกทุเรียนไปยังประเทศจีนได้ประมาณ 50 ตู้คอนเทนเนอร์ สำหรับปีที่แล้ว ซึ่งเป็นปีแรกของการส่งออกทุเรียน จ.ยะลา สามารถส่งไปขายยังประเทศจีน ส่งออกได้แค่เพียง 8 ตู้คอนเทนเนอร์เท่านั้น
ทุเรียนที่ส่งออกไปยังประเทศจีน หากคิดเป็นมูลค่าแล้ว 1 ตู้คอนเทนเนอร์ น้ำหนัก 18 ตัน มูลค่าประมาณ 550,000 บาท จำนวน 10 ตู้ คอนเทนเนอร์ มูลค่า 5,500,000 บาท ถ้าสามารถส่งไปขายได้ถึง 50 ตู้ คอนเทนเนอร์ จะมีมูลค่าเกือบ 30 ล้านบาท
ด้าน นางเพ็ญรัตน์ โพธิ์โพ้น สมาคมผู้ส่งออกผลไม้ไทย ภาคใต้ กล่าวว่า มีชาวสวนนำทุเรียนมาขายเป็นจำนวนมาก เริ่มตั้งแต่งช่วงเย็นไปจนถึงใกล้สว่าง มีปริมาณทุเรียนที่นำมาขายประมาณ 50-60 ตันต่อวัน โดยมีแต่ชาวสวนล้วนๆ ไม่มีพ่อค้าคนกลาง
สำหรับขั้นตอนในการดูแลทุเรียน เกษตรจังหวัดก็ได้มีการแนะนำชาวสวนอยู่แล้ว เมื่อชาวสวนนำทุเรียนมาขาย ตนเองได้แนะนำในเรื่องของการคัดเกรดทุเรียน ว่า ทุเรียนลักษณะไหน แบบไหน จะเข้าเกณฑ์ เกรด A เกรด B หรือมีตำหนิ ก็จะแนะนำชาวบ้านโดยตลอด ซึ่งปกติชาวสวนก็มีความรู้พอสมควร เมื่อมีการเปิดคลาดรับซื้อในลักษณะอย่างนี้แล้ว ก็มีชาวสวนให้ความสนใจมาก เพราะราคานำตลาด เมื่อมีการนำทุเรียนส่งออกต่างประเทศก็ทำให้ราคาทุเรียนสูงขึ้น
สำหรับการตรวจสอบคุณภาพทุเรียน ก่อนจะมีการคัดแยกเข้าบรรจุภัณฑ์เข้าไปในตู้คอนเทนเนอร์นั้น มีการคัดแยกผลผลิตเป็น 3 เกรด คือ เกรด A เกรด B และ เกรด C ปัญหาที่พบบ่อย คือ มีแมลง หรือหนอนอยู่ในผลทุเรียน ทำให้ทุเรียนได้รับความเสียหายไปบ้าง ซึ่งเกษตรกรจะต้องให้เอาใจใส่ดูแลทุเรียนให้มีคุณภาพมากกว่านี้ พยายามศึกษาหาความรู้ในเรื่องการดูแลรักษาผลทุเรียน การเก็บเกี่ยวผลทุเรียนให้ได้มาตรฐาน และการบำรุงดูแลสวนทุเรียน
สำหรับราคาทุเรียนที่พ่อค้ามารับซื้อ จะมีราคาสูงกว่าเกษตรกรในพื้นที่รับซื้อ ส่วนผู้ส่งออกมารับซื้อทุเรียน เกรด A เกรด B อยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 25-27 บาท ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ที่ดีให้กับเกษตรกร และเป็นการแก้ปัญหาทุเรียนได้ในระดับหนึ่ง โดยทุเรียนจาก จ.ยะลา ส่งไปขายยังประเทศจีนล็อตแรก เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 54