ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ผู้ประกอบการบาติกในภูเก็ตรวมตัวจัดตั้งเป็น “คลัสเตอร์บาติกภูเก็ต” หวังให้เป็นศูนย์บูรณาการบาติกของประเทศไทยได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ” ปรับแนวคิดและรูปแบบของบาติก ให้เป็นที่ยอมรับและต้องการของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ
วันนี้ (4 ส.ค.) ที่โรงแรมเพิร์ล อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดการสัมมนาสรุปผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรม (industrial Cluster Development) คลัสเตอร์ผ้าบาติกภูเก็ต ประจำปี 2554
ทั้งนี้ คลัสเตอร์ผ้าบาติกภูเก็ตจัดตั้งขึ้น ภายหลังศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม มอบหมายให้บริษัท เอ็น พี ชินดัง คอลซัลแท็นซ์ จำกัด เข้ามาศึกษาและดำเนินการรวมกลุ่มผู้ผลิตผ้าบาติกในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการผ้าบาติกภูเก็ตพัฒนาศักยภาพ ในการแข่งขันของอุตสาหกรรมผ้าบาติให้สามารถรับมือกับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องภายใต้วิสัยทัศน์ “คลัสเตอร์บาติกภูเก็ตเป็นศูนย์บูรณาการบาติกของประเทศไทยได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ” เพื่อนำเสนอผลการดำเนินงานของกลุ่ม ซึ่งเป็นการรวมตัวครั้งแรกของผู้ประกอบการผลิตผ้าบาติกในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตจำนวน 20 ราย ที่จะร่วมกันผลักดันให้ผ้าบาติกเดินหน้าไปสู่จุดหมายของวิสัยทัศน์ที่วางไว้
นายเฉลิม แสงจันทร์ ประธานคลัสเตอร์ผ้าบาติกภูเก็ต กล่าวว่า สำหรับการผลิตผ้าบาติกในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเริ่มต้นมาประมาณ 40 ปี แล้ว และเริ่มได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในช่วงปี 2546 ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่ผ้าบาติกของจังหวัดภูเก็ตบูมสุดๆ มีการเข้าไปส่งเสริมให้กลุ่มต่างผลิตผ้าบาติกันเป็นจำนวนมากจนเกิดร้านผลิตผ้าบาติกมากกว่า 60 แห่ง แต่หลังจากนั้นความนิยมของผ้าบาติก็เริ่มลดลงเหลือเพียงประมาณ 10 กว่าร้านเท่านั้นในปัจจุบันนี้ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่ผลิตผ้าบาติกจริงๆ เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ผลิตในภูเก็ตต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างขายทำให้ผาบาติกภูเก็ตไม่มีการพัฒนารูปแบบและยังอยู่กับที่
หลังจากมีการรวมตัวภายใต้การสนับสนุนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจนเกิด “คลัสเตอร์ผ้าบาติกภูเก็ต” ขึ้น ซึ่งใช้เวลาในการดำเนินประมาณ 9 เดือน ก็เกิดการพัฒนาผ้าบาติกแนวใหม่ขึ้น ซึ่งเชื่อว่าจุดนี้จะทำให้ผ้าบาติกของภูเก็ตพัฒนาไปสู่ยุทธศาสตร์และวิสัยทัศน์ที่วางไว้ได้ และทำให้ผ้าบาติกเป็นอีกหนึ่งอัตลักษ์ของภูเก็ต เพราะขณะนี้คลัสเตอร์เริ่มที่จะเดินหน้าแล้วทั้งเรื่องของการสั่งซื้ออุปกรณ์ต่างๆ ที่ทำได้ในราคาถูกลง การถ่ายทอดเทคนิคการผลิต การกระจายงานเนื่องจากบางร้านมียอดสั่งเข้ามาจำนวนมาก การผลิตอาจทำได้ไม่ทัน แต่เมื่อมีการรวมกลุ่มการพัฒนาเทคนิคเป็นไปในทิศทางเดียวกัน การกระจายงานก็สามารถทำได้ง่ายขึ้น
นายเฉลิมกล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มนั้นต้องการที่จะให้หน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาสนับสนุน ในเรื่องของการจัดตั้งศูนย์บูรณาการบาติกขึ้น เพื่อใช้เป็นที่รวบรวมงานของสมาชิก สอนเทคนิคการเขียนบาติกให้แก่คนรุ่นหลัง รวมทั้งเป็นสถานที่ในการร่วมคิดพัฒนาเทคนิคการทำผ้าบาติกแบบสมัยๆ เพื่อให้ตรงต่อความต้องการของกลุ่มลูกค้า และเป็นสถานที่รองรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวที่จังหวัดภูเก็ต
ขณะนี้ต้องยอมรับว่าอีกค้ากลุ่มผ้าบาติกนั้น 80% เป็นคนไทย เพราะฉะนั้นการจะผลักดันให้ผ้าบาติกเป็นสินค้าที่ชาวต่างชาติซื้อเป็นของที่ระลึก ก็จำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนางานให้ตรงกับความต้องการของต่างชาติ โดยเฉพาะเรื่องของการนำศิลปะมาใช้กับงานผ้าบาติก การพัฒนาลาย ซึ่งเดิมนั้นผ้าบาติลายก็จะอยู่ในรูปแบบลายทะเล ดอกไม้เท่านั้น
ขณะที่ นางบังอรรัตน์ ชินะประยูร ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภูเก็ต กล่าวว่า ผ้าบาติกภูเก็ตเป็นผ้าที่มีเอกลักษณ์ โดดเด่น นักท่องเที่ยวสนใจที่จะซื้อเป็นสินค้าที่ระลึกอยู่แล้ว ซึ่งการรวมกลุ่มเป็นคลัสเตอร์บาติกในครั้งนี้ ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่จะพัฒนารูปแบบและพัฒนาผ้าบาติของภูเก็ตให้ตรงต่อความต้องการของลูกค้ามากขึ้น โดยเฉพาะหากสามารถตั้งศูนย์บูรณาการบาติกขึ้นได้ ก็จะเป็นจุดรวบรวมที่นักท่องเที่ยวสามารถชมขั้นตอนการผลิต และเลือกซื้อสินค้าบาติกได้สะดวกยิ่งขึ้น ในส่วนของททท.ก็พร้อมที่จะสนับสนุน และเป็นสื่อกลางในการนำสินค้าบาติกให้เข้าถึงนักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น
นอกจากนั้น ในส่วนของผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหาร ถือเป็นอีกกลุ่มที่จะช่วยประชาสัมพันธ์ผ้าบาติภูเก็ตให้เข้าถึงนักท่องเที่ยว โดยการนำผ้าบาติกมาเป็นของตกแต่งในโรงแรมและสถานประกอบการต่างๆ เมื่อนักท่องเที่ยวเห็นก็จะสนใจเลือกซื้อ เพราะขณะนี้ผ้าบาติกไม่ได้มีเฉพาะที่เป็นเสื้อผ้าเท่านั้น แต่มีความหลากหลายในผลิตภัณฑ์มากขึ้น หลังจากที่ได้มีการรวมกลุ่มกันเป็นคาสเตอร์บาติก เช่น ภาพตกแต่ง ภาพที่เป็นงานศิลปะ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม จากผลการศึกษาพบว่ามูลค่าการตลาดของผ้าบาติกนั้นในปี 2552 จำนวน 694 ล้านบาท และในปี 2553 จำนวน 493 ล้านบาท