xs
xsm
sm
md
lg

ดันพัฒนา"ผ้าบาติก"ในรูปแบบคลัตเตอร์รองรับความต้องการลูกค้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูเก็ต -ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 เร่งส่งเสริมอุตสาหกรรมผ้าบาติกภูเก็ตในรูปแบบรวมกลุ่ม (คลัสเตอร์) รองรับความต้องการของลูกค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มั่นใจอุตสาหกรรมผ้าบาติกสามารถสร้างรายได้และยึดเป็นอาชีพได้

วันนี้ (22 ก.พ.) นายสุราษฎร์ ฉิมพลีศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 กล่าวในการสัมมนาเปิดเปิดตัว โครงการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรมผ้าบาติกจังหวัดภูเก็ต และการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติงานปี 2554-2558 ซึ่งศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม มอบหมายให้บริษัท เอ็น.พี.ชินดังคอนซัลแท็นซ์ จำกัด เป็นผู้ดำเนินการ

โดยมีนายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดงานสัมมนา ที่โรงแรมเมโทรโพล อ.เมือง จ.ภูเก็ต ซึ่งส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา สถาบันการเงิน และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมผ้าบาติกตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำจนถึงปลายน้ำ จำนวน 20 ราย เข้าร่วม ว่า ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมผ้าบาติก ซึ่งอุตสาหกรรมผ้าบาติกเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้และยึดเป็นอาชีพหลัก รวมทั้งยังมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจ โดยรวมของประเทศไทย

แต่การพัฒนาอุตสาหกรรมผ้าบาติก ยังคงขาดแนวทางในการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้งการส่งเสริม การสนับสนุน จากหน่วยงานภาครัฐ ดังนั้น การรวมกลุ่มในลักษณะของคลัสเตอร์หรือการรวมกลุ่มจึงเป็นแนวทางและเครื่องมือหนึ่งในการพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันของอุตสาหกรรมผ้าบาติกให้สามารถรับมือกับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนต่อไป

ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 จึงได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำโครงการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรมผ้าบาติกจังหวัดภูเก็ตขึ้น เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการผ้าบาติกในจังหวัดภูเก็ต รวมทั้งผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในการพัฒนาคลัสเตอร์ เกิดความตระหนักถึงความสำคัญและเข้าใจถึงกระบวนการของการรวมกลุ่มเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อพัฒนาให้เกิดการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมผ้าบาติก และการดำเนินการของคลัสเตอร์ มีการกำหนดทิศทาง เป้าหมายและกลยุทธ์

รวมทั้งแผนปฏิบัติการ ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจที่ชัดเจน เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือในการดำเนินการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรม โดยการหาแนวทางร่วมกัน มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้และประสบการณ์ รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์และสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ด้านการเพิ่มผลิตภัณฑ์และเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ตลอดจน เพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขันให้วิสาหกิจสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
กำลังโหลดความคิดเห็น