หากพูดถึงเมืองยอกยาการ์ตา (Yogyakarta) หรือ ยอกยา (Jogja) อาจจะไม่เป็นที่รู้จักเท่ากับกรุงจาร์กาตา เมืองหลวงของประเทศอินโดนีเซีย แต่ก็เป็นเมืองที่มีความสำคัญ เป็นศูนย์กลางแห่งวัฒนธรรมชวา และยังเป็นที่ตั้งของบุโรพุทโธ ซึ่งเป็นมรดกโลกแห่งสำคัญอีกด้วย
นอกจากจะมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจแล้ว วิถีชีวิตของชาวยอกยาการ์ตา ศิลปวัฒนธรรม และประเพณีต่างๆ ยังดึงดูดใจนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้เข้ามาท่องเที่ยว ณ ดินแดนแห่งนี้ การท่องเที่ยวจึงถือเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของเมือง ดังจะเห็นได้จากการจัดงาน Jogja Travel Mart 2011 (JTM 2011) ซึ่งได้รับการสนับสนุนทั้งจากหน่วยงานการท่องเที่ยวของเมืองยอกยาการ์ตา สมาคมผู้ประกอบการท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหารต่าง รวมถึง สายการบินการูด้า อินโดนีเซีย (Garuda Indonesia)
ความโดดเด่นทั้งด้านศิลปวัฒนธรรมบนแผ่นดินชวาแห่งนี้ เห็นได้ชัดจากสถานที่ท่องเที่ยวหลากหลายแห่ง อาทิ บุโรพุทโธ (Borobudur-โบโรบูดูร์ หรือ บรมพุทโธ) หนึ่งในสัญลักษณ์ของประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโกไปตั้งแต่ปี ค.ศ.1991 ตามประวัติสันนิษฐานว่าบุโรพุทโธน่าจะสร้างขึ้นระหว่าง ค.ศ.778 ถึง ค.ศ.850 โดยกษัตริย์ราชวงศ์ไศเลนทร์
คำว่า “Borobudur” มาจากการผสมกันระหว่างคำว่า “Boro” และ “Budur” คำว่า “Boro” หมายถึงวัดหรือศาลเจ้า ที่มาจากคำว่า Byara ในภาษาสันสกฤต ส่วน “Budur” มาจากคำว่า Beduhur ในภาษาบาหลี ที่หมายถึงภูเขา
บุโรพุทโธ เป็นพุทธสถานแบบฮินดูชวา ผสมผสานกับศิลปะแบบอินเดียและอินโดนีเซียเข้าด้วยกัน โดยสร้างจากหินภูเขาไฟ เป็นรูปทรงขั้นบันไดแบบปิรามิดบนฐานสี่เหลี่ยม องค์เจดีย์มีลักษณะเป็นรูปทรงดอกบัว ซึ่งสื่อถึงสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนา ตามหลักฐานในประวัติศาสตร์ สถานที่แห่งนี้และบริเวณโดยรอบเป็นที่ลุ่มและถูกล้อมรอบด้วยน้ำที่ท่วมมาจากแม่น้ำโปรโก ทำให้บุโรพุทโธเปรียบเสมือนดอกบัวลอยอยู่ในน้ำ
บุโรพุทโธแบ่งออกเป็น 3 ชั้นหลักๆ ซึ่งเปรียบเสมือนชีวิตที่แบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ กามาธาตุ รูปธาตุ และ อรูปธาตุ โดยในชั้นแรกนี้เปรียบเป็นส่วนฐานของเจดีย์ เป็นขั้นตอนที่มนุษย์ยังผูกพันอย่างใกล้ชิดกับความสุขและความร่ำรวยทางโลก มีภาพสลักหินนูนต่ำกว่า 160 ภาพ โดยที่โดดเด่นในชั้นนี้ก็คือ ภาพวิถีชีวิตประจำวันของชาวชวา ภาพกฎแห่งกรรมต่างๆ
ชั้นที่ 2 คือชั้นรูปธาตุ เปรียบเหมือนการหลุดพ้นจากกิเลสทางโลกเพียงบางส่วน ภาพสลักในชั้นนี้ส่วนใหญ่จะเป็นภาพพุทธประวัติที่ได้รับอิทธิพลศิลปะอินเดีย เน้นการสลักภาพบุคคลที่ค่อนข้างอวบอ้วนแฝงความสงบอยู่ในที ส่วนบนชั้นที่ 3 ซึ่งเป็นชั้นบนสุด เปรียบเสมือนการหลุดพ้นของมนุษย์ จะมีฐานเป็นลานทรงกลม มีเจดีย์เล็กๆ 3 แถว 72 องค์ รายล้อมรอบเจดีย์องค์ใหญ่ ลักษณะเป็นเจดีย์ยอดตัด เจดีย์เล็กๆ จะเป็นเจดีย์โปร่ง ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย
ประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนานของเมืองยอกยาการ์ตา ทำให้มีสถานที่สำคัญๆ หลายแห่ง โดยเฉพาะที่ พระราชวังสุลต่าน (Sultan Palace หรือ Kraton Ngayogyakarta) ซึ่งสร้างขึ้นในปี ค.ศ.1756-1790 บนพื้นที่ 14 ตารางกิโลเมตร โดยสุลต่านฮาเมงกูบูโวโน ที่ 1 ตามคติแบบฮินดู โดยสมมติว่าพระราชวังเป็นศูนย์กลางของโลกและจักรวาล ภายในวังมีประตู 9 ชั้น หมายถึงทวารทั้ง 9 ของมนุษย์ในคติฮินดู
พระราชวังแห่งนี้เป็นสถาปัตยกรรมแบบชวาผสมผสานกับดัชต์ ใช้เป็นสถานที่ประทับของสุลต่านยอกยาการ์ตาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน (ในปัจจุบันนี้ไม่ได้ประทับอยู่ถาวรแล้ว) นอกจากจะได้ชมความสวยงามของสถาปัตยกรรมและสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่สะท้อนถึงศิลปวัฒนธรรมชวาแล้ว ยังมีการจัดแบ่งห้องแสดงเครื่องใช้ส่วนพระองค์ สิ่งของล้ำค่า ของขวัญจากประเทศต่างๆ และเล่าถึงประวัติความเป็นมาของผู้ปกครองเมืองยอกยาการ์ตา
นอกจากด้านประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมแล้ว เมืองยอกยาการ์ตาก็ยังคงมีธรรมชาติที่งดงามเหลืออยู่ ภูเขาไฟเมราปี (Mount Merapi) เป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวที่ทั้งชาวอินโดนีเซียและชาวต่างชาตินิยมไปสัมผัส
ภูเขาไฟเมราปี มีความสูงถึง 2,968 เมตร จากระดับน้ำทะเล เป็นภูเขาไฟ 1 ใน 129 ลูกของอินโดนีเซียที่ยังครุกรุ่นอยู่ แม้ว่าเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี พ.ศ.2553 ภูเขาไฟเมราปีจะระเบิด พ่นเถ้าถ่านและลาวาออกมาทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นจำนวนมาก แต่ในปัจจุบันผู้คนมักจะเข้าไปดูร่องรอยความเสียหายบริเวณโดยรอบ ซึ่งก็จะเห็นซากบ้าน รถยนต์ ต้นไม้ ที่ถูกเผาไหม้จากความร้อน นอกจากนี้ ก็ยังเห็นร่องรอยของธารลาวาที่ไหลไปตามเส้นทางยาวลงไปสู่ด้านล่างอีกหลายกิโลเมตร
ในเมืองท่องเที่ยวก็มักจะมีย่านการค้าที่เป็นแหล่งจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยว ซึ่งในเมืองยอกยาการ์ตาก็มีย่านหนึ่งที่เป็นที่นิยม นั่นก็คือ มาลิโอโบโร่ (Malioboro) ถนนคนเดินและแหล่งช้อปปิ้งที่คลาคล่ำไปด้วยผู้คน สินค้าที่มีขายจะเน้นที่ของที่ระลึก ผ้าบาติก และอาหารการกินพื้นเมือง
ตึกแถวริมถนนที่มาลิโอโบโร่จะเป็นตึกแบบชิโนโปรตุกีส คล้ายกับที่ภูเก็ต แต่ที่นี่บริเวณทางเดินหน้าร้านจะสามารถเดินทะลุกันได้ตลอดทั้งแนว และมีความกว้างพอที่จะเดินสวนกันไปมาได้ นอกจากจะมาซื้อสินค้าแล้ว บริเวณนี้ก็ยังมีรถม้า และรถลาก ไว้คอยบริการนักท่องเที่ยว ให้มานั่งรถเล่นชมเมืองอีกด้วย
ส่วนของที่ระลึกที่ขึ้นชื่อของเมืองยอกยาการ์ตาคงจะหนีไม่พ้น บาติก (Batik) ที่จะเห็นคนใส่กันทั่วทั้งเมือง และยังหาซื้อได้ทั่วไป คำว่า บาติก หรือ ปาเต๊ะ เดิมเป็นคำในภาษาชวาที่ใช้เรียกผ้าที่มีลวดลายเป็นจุด คำว่า ติก มีความหมายว่า เล็กน้อย หรือจุดเล็กๆ คำว่าบาติก จึงมีความหมายคือเป็นผ้าที่มีลวดลายเป็นจุดๆ ด่างๆ
กรรมวิธีการผลิตผ้าบาติกนั้นมีหลากหลายวิธี หลายลวดลาย และหลากหลายสี ซึ่งได้มีการตั้งหน่วยงานขึ้นเพื่อปรับปรุงและพัฒนาอุตสาหกรรมผ้าบาติก เรียกว่า ศูนย์พัฒนาบาติกแห่งรัฐยอกยาการ์ตา ส่วนนักท่องเที่ยวที่สนใจชมวิธีการทำผ้าบาติก ก็สามารถชมได้ตามร้านขายผ้าบาติกขนาดใหญ่ โดยจะมีให้นักท่องเที่ยวได้ทดลองผลิตเองด้วย
ยอกยาการ์ตา นับเป็นอีกหนึ่งเมืองที่มีสีสันในด้านการท่องเที่ยว การไปเที่ยวที่นี่จึงถือเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ที่น่าจดจำไม่รู้ลืม