ตรัง - ตัวแทนชาวบ้าน ต.ลำภูรา อ.ห้วยยอด หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเจ้าของฟาร์มเลี้ยงหมู ล้อมวงถกปัญหาน้ำเสีย-กลิ่นเหม็น เพื่อแก้ไขอย่างถาวรเจ้าของฟาร์มหมูขอเวลา 3-4 เดือน เคลื่อนย้ายหมูออกจากฟาร์มและจะปิดฟาร์มในที่สุด
ตัวแทนชาวบ้านจากพื้นที่หมู่ที่ 3, 5, 8 และ 9 ต.ลำภูรา อ.ห้วยยอด จ.ตรัง กับ ส.อ.อาภรณ์ มหาชัย เจ้าของฟาร์มเลี้ยงหมู ซึ่งร้องเรียนกรณีปล่อยขี้หมู สิ่งปฏิกูล และซากหมู ลงในพื้นที่สาธารณะ และลำคลอง จนส่งกลิ่นเหม็นและสร้างความรำคาญให้กับชาวบ้านเป็นอย่างมาก ได้เดินทางไปประชุมร่วมกัน ณ ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ลำภูรา โดยมี นายณัฐพงษ์ สังข์สุข ตัวแทนนายอำเภอห้วยยอด รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากสำนักงานปศุสัตว์ จ.ตรัง จากสำนักงานสาธารณสุข อ.ห้วยยอด และจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันปรึกษาหารือเพื่อหาข้อยุติเกี่ยวกับปัญหาที่ชาวบ้านรวมตัวกันร้องเรียนในครั้งนี้
โดยตัวแทนชาวบ้านได้เรียกร้องให้เจ้าของฟาร์มเลี้ยงหมู ใส่ใจกับการกำจัดสิ่งปฏิกูล และการจัดการกลิ่น ซึ่งชาวบ้านได้อ้างว่าทาง ส.อ.อาภรณ์ ได้ปล่อยขี้หมู และของเสียจากฟาร์ม ลงในลำห้วยน้ำขาว ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่ใช้ทำประปาหมู่บ้าน จนทำให้น้ำมีกลิ่นเหม็นและมีขี้หมูปนเปื้อน อีกทั้งยังทำให้ปลาในลำห้วยตายไปจำนวนมาก ซ้ำเมื่อเกิดฝนตก หรือมีลมพัดผ่าน กลิ่นขี้หมูก็จะฟุ้งกระจายไปทั่วพื้นที่
ด้าน ส.อ.อาภรณ์ เจ้าของฟาร์มเลี้ยงหมู ชี้แจงว่า ตนได้เริ่มดำเนินกิจการมาตั้งแต่ปี 2536 ในบริเวณสวนปาล์มน้ำมันที่ห่างไกลจากชุมชน แต่ต่อมาชุมชนได้ขยายตัวเข้าใกล้ฟาร์มของตน จนถูกชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้ร้องเรียนมาแล้วถึง 2 ครั้ง โดยที่ผ่านมาตนได้พยายามแก้ปัญญาเรื่องกลิ่น และการกำจัดสิ่งปฏิกูล ตามคำแนะนำของสำนักงานปศุสัตว์ จ.ตรัง และ อบต.ลำภูรา แล้ว แต่เนื่องจากในฟาร์มของตนมีหมูเป็นจำนวนมาก จึงไม่สามารถกำจัดกลิ่นเหม็นไปได้ในทันทีทันใด
อีกทั้งเมื่อทราบว่าได้สร้างความรำคาญให้กับชาวบ้าน ตนจึงหาวิธีแก้ไขด้วยการลดปริมาณหมูในฟาร์มลง จากเดิมมีหมูกว่า 2,000 ตัว ขณะนี้เหลือแค่ 335 ตัวเท่านั้น และจะขอเวลาอีก 3-4 เดือน เพื่อที่จะเคลื่อนย้ายหมูออกจากฟาร์มจนหมด และจะดำเนินการปิดฟาร์มดังกล่าวโดยทันที ซึ่งหากครบระยะเวลา 3-4 เดือนแล้ว ตนยังไม่สามารถทำตามสัญญาได้ ก็ยินยอมที่จะให้ชาวบ้านร่วมกันแจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
สำหรับผลจากการประชุมระดมความคิดเห็นในครั้งนี้ ทางสำนักงานปศุสัตว์ จ.ตรัง ได้เสนอให้เจ้าของฟาร์มเลี้ยงหมูจัดการฟาร์มให้ถูกสุขลักษณะ ด้วยการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ มีการสร้างบ่อซีเมนต์สำหรับเก็บซากหมู และสิ่งปฏิกูลต่างๆ รวมทั้งให้ฉีดน้ำยา EM บริเวณหลุมเก็บขี้หมู และในโรงเรือนเลี้ยงหมูทุกๆ วัน ซึ่ง ส.อ.อาภรณ์ ก็ยอมรับและพร้อมปฏิบัติตามข้อเสนอแนะ ซึ่งคาดว่าจะทำให้ปัญหาความเดือนร้อนดังกล่าวของชาวบ้านหมดสิ้นลงไป หลังจากที่มีการร้องเรียนเรื่องนี้ไปยังหลายหน่วยงาน รวมทั้งสื่อมวลชน เป็นระยะเวลายาวนานหลายเดือนแล้ว