xs
xsm
sm
md
lg

หาดใหญ่โพลล์ ชี้ชาวใต้ เทคะแนน “โหวตโน” เพิ่มขึ้น คาดปชป.ได้ 22 ที่นั่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “หาดใหญ่โพล” สำรวจสนามเลือกตั้ง 6 จ.ใต้ล่าง เผยหนุนคะแนน “โหวตโน” เพิ่มขึ้นกว่า 2 แสนคะแนน ขณะที่จำนวน ส.ส.คาด ประชาธิปัตย์ ได้ 22 ที่นั่งจาก 24 เขต ส่วนอีกสอง แบ่ง "เพื่อไทย-มาตุภูมิ" ชี้ความนิยมในพรรคพระแม่ธรณีฯ ลดฮวบในหลายๆ ด้าน

วันนี้(25 มิ.ย.) หาดใหญ่โพลล์ โดยสำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ได้ทำการสำรวจคะแนนนิยมการเลือกตั้ง 54 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชน 6 จังหวัดภาคใต้ ประกอบด้วย สงขลา สตูล พัทลุง ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เกี่ยวกับการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยเก็บรวบรวมข้อมูลประชาชน จำนวน 1,201 ตัวอย่าง และใช้แบบสำรวจเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 20-23 มิถุนายน 2554 โดยสรุปผลการสำรวจดังนี้

ในด้านสถานภาพของกลุ่มตัวอย่างนั้น กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (ร้อยละ 58.3) อายุระหว่าง 20-30 ปี (ร้อยละ 39.9) รองลงมามีอายุระหว่าง 31-40 ปี (ร้อยละ 29.4) และอายุ 41-60 ปี (ร้อยละ 15.7) ตามลำดับ นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างมีอาชีพนักเรียน/นักศึกษา (ร้อยละ 29.3) รองลงมาเป็น พนักงานบริษัท/ลูกจ้าง, รับจ้างทั่วไปและข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ คิดเป็นร้อยละ 15.3, 14.0 และ 10.2 ตามลำดับ

สำหรับสรุปผลการสำรวจ รศ.ทัศนีย์ ประธาน รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เปิดเผยว่า ประชาชน 6 จังหวัดภาคใต้จะเลือกผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ 22 ที่นั่งจาก 24 ที่นั่ง โดยที่ จ.นราธิวาสคาดว่าจะมีผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยในเขต 2 และพรรคมาตุภูมิในเขต 3 จะสามารถชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้ได้

ส่วนการเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 52.5 จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์มากที่สุด (มีแนวโน้มลดลงจากผลการสำรวจครั้งที่ 1 ร้อยละ 70.1 รองลงมา พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรครักประเทศไทย พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน และพรรคพลังชล คิดเป็นร้อยละ 18.5, 9.7, 2.2, 2.1 และ 2.1 ตามลำดับ

ทั้งนี้ ประชาชนร้อยละ 4.9 จะไม่เลือกพรรคใดเลย (โหวตโน) คาดว่าจะมีผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนนอย่างน้อยประมาณ 2 แสนคะแนน

นอกจากนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 68.2 ต้องการเห็นพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งมากกว่าการจะให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล (ร้อยละ 31.8) แต่เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจครั้งที่ 1 พบว่าประชาชนต้องการเห็นพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลมีแนวโน้มลดลงจากร้อยละ 76.8 เหลือเพียงร้อยละ 68.2 เท่านั้น

อีกทั้งประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 69.3 ต้องการเห็นการแสดงวิสัยทัศน์ (ดีเบต) ของพรรคการเมืองอีกครั้ง มีเพียงร้อยละ 30.7 ที่ไม่ต้องการให้มีการดีเบตอีก
กำลังโหลดความคิดเห็น