xs
xsm
sm
md
lg

ตรังถกแก้ปัญหาทำโพงพางจับสัตว์น้ำผิด กม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง - จังหวัดตรังเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และชาวประมงที่ยึดอาชีพทำโพงพางมาหารือร่วม พร้อมเสนอทางเลือกหาอาชีพใหม่ และแหล่งเงินทุนเพื่อประกอบอาชีพใหม่

นายสุวิทย์ สุบงกฎ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง พร้อมด้วย นายวิสิฐ ตั้งปอง นายอำเภอกันตัง นายสุริยะ วิฑูรย์พันธุ์ ประมง จ.ตรัง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชาวประมงชายฝั่งในพื้นที่ 3 ตำบล ของ อ.กันตัง ซึ่งประกอบด้วย ต.วังวน ต.กันตังใต้ และ ต.นาเกลือ ที่ยังยึดอาชีพการทำโพงพาง กว่า 200 ราย ร่วมประชุม เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาการทำประมงด้วยเครื่องมือโพงพาง ด้วยการให้ปรับเปลี่ยนเป็นอาชีพอื่นตามถนัด

หลังจากก่อนหน้านี้ มีเรือตรวจการณ์ใบไม้เขียวเข้ามาตัดฟันทำลายและรื้อถอนโพงพางในพื้นที่ ส่งผลกระทบให้ผู้ที่ทำโพงพางได้รับความเดือดร้อน จนนำไปสู่การชุมนุมประท้วงปิดอ่าว โดยมีหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานเกษตร ปศุสัตว์ ประมง แรงงานจังหวัด ศูนย์พัฒนาฝีมือและแรงงานจังหวัด ศูนย์การศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัยนอกระบบ จ.ตรัง และวิทยาลัยการอาชีพกันตัง มานำเสนอทางเลือกในการประกอบอาชีพต่างๆ ตามความถนัด เพื่อให้ราษฎรที่ทำการประมงด้วยเครื่องมือโพงพางปรับเปลี่ยนอาชีพ อีกทั้งการหาช่องทางแหล่งเงินทุน งบประมาณ ในการปรับเปลี่ยนเครื่องมือประมง หรือเป็นอาชีพอื่นตามความถนัด

ทั้งนี้ นายวิสิฐ ตั้งปอง นายอำเภอกันตัง กล่าวว่า อ.กันตัง เป็นอำเภอหนึ่งที่มีการทำประมงด้วยเครื่องมือโพงพางอยู่ในพื้นที่ 3 ตำบล ประกอบด้วย ต.วังวน ต.กันตังใต้ และ ต.นาเกลือ รวมประมาณ 200 ราย แต่เนื่องจากโพงพางเป็นเครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมาย การที่มีผู้ฝ่าฝืนจะได้รับโทษตามกฎหมาย ทางอำเภอกันตังเกรงว่าหากมีการปล่อยดำเนินการตามกฎหมายเพียงอย่างเดียว โดยที่ชาวประมงโพงพางยังไม่มีอาชีพอื่นมารองรับเลย จะกระทบต่อวิถีชีวิตและความมั่นคงของครอบครัวเป็นอย่างมาก

จากการรวบรวมข้อมูล ทำให้สามารถแยกผู้ที่ทำโพงพางใน อ.กันตัง ได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ 1.กลุ่มทำโพงพางอย่างเดียว 2.กลุ่มทำโพงพางและอาชีพอื่นเสริมไปด้วย และ 3.กลุ่มนายทุนที่ว่าจ้างคนในพื้นที่ ซึ่งจากปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้น นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยได้มอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ หาอาชีพอื่น และแหล่งทุนที่มีอัตราดอกเบี้ยวงเงินต่ำ เช่น ธ.ก.ส. ออมสิน และกองทุนหมู่บ้าน เพื่อให้ชาวประมงกู้ยืมในการประกอบอาชีพใหม่ แทนอาชีพโพงพางที่เลิกไป แต่ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนอาชีพโพงพางจะต้องค่อยเป็นค่อยไป เบื้องต้นตั้งเป้าหมายลดพื้นที่โพงพางให้เหลือร้อยละ 50 และคาดว่าปัญหาการทำโพงพางในพื้นที่จะหมดภายใน 3 ปี จนจะส่งทำให้มีปริมาณสัตว์น้ำเพิ่มมากขึ้น

นายไมตรี วิเศษศาสตร์ กรรมการชมรมชาวประมงพื้นบ้าน จ.ตรัง กล่าวยอมรับว่า จากการที่ใน อ.กันตัง มีการทำโพงพาง ได้ส่งผลกระทบให้ปริมาณทรัพยากรสัตว์น้ำลดลงร้อยละ 30 ดังนั้น การที่ทางจังหวัดให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหานี้ โดยเสนอให้มีการปรับเปลี่ยนอาชีพใหม่ให้นั้น ก็เห็นด้วยและคิดว่าเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ทำประมงผิดกฎหมาย ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่ยึดอาชีพการทำโพงพางจะเป็นคนยากจน และมีการทำมา 100 ปี จะให้เลิกฉับพลันโดยไม่มีอาชีพอื่นมารองรับคงจะไม่ได้

ดังนั้น การที่ทางจังหวัดเป็นผู้ประสานหาแหล่งเงินทุนในการประกอบอาชีพให้ ก็คิดว่าเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาที่ถูกต้องแล้ว หากดำเนินการอย่างจริงจัง ก็จะส่งผลดีต่อชาวประมงที่ทำโพงพาง และปริมาณสัตว์น้ำจะเพิ่มขึ้น ส่วนสาเหตุที่ก่อนหน้านี้ชาวประมงยังไม่ยอมเลิกการทำโพงพาง เนื่องจากยังไม่มีอาชีพอื่นมารองรับ ประกอบกับการทำโพงพางในบางพื้นที่จะมีรายได้ดีกว่า

นายสุริยะ วิฑูรย์พันธุ์ ประมง จ.ตรัง กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ จังหวัดได้มีประกาศห้ามใช้เครื่องมือโพงพางในการทำประมง โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2554 และขอให้มีการื้อถอนภายใน 15 วัน แต่ก็ยังมีผู้ฝ่าฝืน ซึ่งทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย จนกระทั่งมีเรือตรวจการณ์ใบไม้เขียวเข้ามาในพื้นที่รื้อถอนโพงพาง และจับกุมผู้กระทำผิด ทั้งนี้ จากปัญหาดังกล่าว ทางจังหวัดเคยขอชะลอการรื้อถอนแล้ว แต่ไม่เป็นผล เพราะอำนาจไม่ได้ขึ้นตรงกับผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง

ส่วนกรณีของชาวประมงใน อ.หาดสำราญ ที่ถูกเรือใบไม้เขียวเข้าจับกุมเมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมานั้น ได้ให้ผู้นำชุมชนรวบรวมรายชื่อผู้ทำโพงพางทั้งหมด ส่งไปให้กับ ส.ส.ตรัง ในพื้นที่ นำไปเจรจากับรัฐมนตรีว่าการกระรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อขอชะลอการจับกุม ส่วนผลเป็นเช่นไรนั้น ตนไม่ทราบ



ชาวประมงที่ยึดอาชีพทำโพงพางซึ่งผิดกฎหมายมาหารือร่วม พร้อมเสนอทางเลือกหาอาชีพใหม่ และแหล่งเงินทุนเพื่อประกอบอาชีพใหม่
กำลังโหลดความคิดเห็น