xs
xsm
sm
md
lg

น้ำท่วมนครศรีฯ-สุราษฎ์ธานีส่งผลกระทบหนักแหล่งโบราณคดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นครศรีธรรมราช - เผยผลวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมเหตุการณ์น้ำท่วมกระทบต่อแหล่งโบราณคดี ทั้งใน จ.นครศรีธรรมราชและสุราษฎร์ธานี ทั้งที่มีอยู่แล้วและที่ยังไม่ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดี โดยน้ำที่ท่วมขังให้วัสดุอิฐเปื่อยยุ่ย และมีความเสียหายอื่นๆ อีก

วันนี้ (16 เม.ย.) ความเสียหายและการฟื้นฟูพื้นที่ต่างๆ ยังคงมีปรากฏเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันการฟื้นฟูสาธารณูปโภคพื้นที่ดินถล่มใน อ.สิชล และ อ.นบพิตำยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่องโดยเจ้าภาพหลักคือกองทัพบกในการส่งกำลังพลและเครื่องกลหนักเข้าทำการฟื้นฟู อย่างไรก็ตาม ยังพบว่ามีความเสียหายในส่วนของแหล่งโบราณคดี โบราณสถานสำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราช มีความเสียหายอย่างมาก

โดยข้อมูลการสรุปรายงานความเสียหายของกลุ่มงานโบราณคดี สำนักงานศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช ได้มีรายงานในส่วนของนครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานีว่า การประเมินจากระยะไกลโดยอาศัยข้อมูลจากการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมในช่วงเกิดเหตุการณ์ประกอบด้วย กลุ่มโบราณสถานเขตอำเภอสิชล ทั้งหมดเป็นโบราณสถานที่ยังไม่ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดี จำนวน 52 แหล่ง ดำเนินการสำรวจครั้งสุดท้ายเมื่อ พ.ศ.2553 คาดว่าร่วมสมัยกับโบราณสถานเขาคา เมื่อพุทธศตวรรษที่ 12-14 ถูกน้ำท่วมขังทั้งพื้นที่ โบราณสถานตุมปัง อำเภอท่าศาลา อยู่ในบริเวณมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ซึ่งมีน้ำท่วมทั้งพื้นที่ ส่งผลต่อวัสดุ อิฐเปื่อยยุ่ย

“กลุ่มโบราณสถานเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช คือเก๋งจีนวัดแจ้ง ปูนฉาบมุมอาคารแตกร่อนออก น้ำท่วมภายในป้อมทิศตะวันตกเฉียงเหนือ อิฐเปื่อยยุ่ย พื้นทางเดินด้านหน้ากำแพงเมืองฝั่งตะวันตกทรุดเป็นหลุมลึกประมาณ 1 เมตร ป้อมหน้าเมือง ถนนราชดำเนินทรุด ผนังมีรอยแยก กำแพงเมืองมีรอยแยก ร้าวหอพระอิศวรมีน้ำแช่ขัง” รายงานความเสียหายระบุ

ในส่วนของจ.สุราษฎร์ธานี พบว่า เมืองโบราณเวียงสระ เป็นเมืองโบราณมีคูเมือง กำแพงเมืองล้อมรอบมีลักษณะคู คันดินโบราณสถานอิฐที่มีร่องรอยเป็นฐานอาคารและซากเจดีย์อิฐอยู่ภายในเมืองโบราณได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมสูง วัดควนท่าแร่ วัดท่าสะท้อน และวัดน้ำรอบ เป็นวัดในสมัยอยุธยาและสมัยรัตนโกสินทร์ ในเขตอำเภอบ้านนาเดิม และพุนพิน ทั้งสามวัดอยู่ริมฝั่งแม่น้ำตาปี มีสิ่งสำคัญอาทิ โบสถ์ เจดีย์ และที่วัดท่าสะท้อนมีประตูไม้แกะสลักรูปราหูที่ประตูลงท่าน้ำ และมีผนังโบสถ์เก่าที่ฉาบผนังด้วยดิน อยู่ภายในโบสถ์ใหม่ที่สร้างครอบไว้ ได้รับความเสียหายจารึก โบสถ์ เสียหายจากการจมแช่น้ำ

“กลุ่มโบราณสถานอำเภอพุนพิน ถูกน้ำท่วมอย่างกว้างขวาง และรุนแรงที่สุด และมีโบราณสถานหลายแห่งในเขตนี้ ได้แก่ ควนพุนพิน เขาพระนารายณ์ (เขาศรีวิชัย) เขาพระอานนท์ เขานรเดช แหล่งทั้งหมดอยู่บนภูเขาจึงไม่มีผลกระทบจากน้ำท่วม แต่ที่เขาพระนารายณ์ มีโบราณสถานหมายเลข 15 , 16,18 อยู่รอบเชิงเขาที่ได้รับการอนุรักษ์เสริมความมั่นคงแล้วได้รับความเสียหายเนื่องจากการจมน้ำ” รายงานฉบับนี้ระบุ

นายพงศ์ธันว์ สำเภาเงิน หัวหน้ากลุ่มงานโบราณคดีสำนักศิลปากรที่ 14 เปิดเผยว่า ในภาพรวมนั้นได้พบความเสียหายที่เกิดจาก 3 ลักษณะคือ 1.กระแสน้ำพัดพา 2.น้ำท่วมขังและ 3.ฝนกตกหนักต่อเนื่อง โดยความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นพบว่ากลุ่มโบราณสถานในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ได้รับผลกระทบมากที่สุดโดยเฉพาะกำแพงเมืองนครศรีธรรมราช ที่ต้องดำเนินการเสริมความมั่นคง โดยขณะนี้กรมศิลปากรอยู่ระหว่างดำเนินการ

**พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าสิริวัณวรีเสด็จเยี่ยมปลอบขวัญราษฎรนบพิตำ
 

พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าสิริวัณวรีนารีรัตน์ เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรที่ประสบภัยในพื้นที่ อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช โดยมีนายธีระมินทราศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช พลโทอุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 นายทหารระดับสูง พล.ต.ต.กระจ่าง สุวรรณรัตน์ ผบก.ภ.นครศรีธรรมราช และข้าราชการเฝ้ารับเสด็จ ท่ามกลางความปลาบปลื้มของราษฎร ในการนี้พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าสิริวัณวรีนารีรัตน์ ได้พระราชทานของขวัญให้กับราษฎรเพื่อปลอบขวัญและมีปฏิสัณฐานกับราษฎรโดยไม่ถือพระองค์ในวันเดียวกันนั้นทรงพระราชทานครัวสายใยรักจัดเลี้ยงผู้ประสบภัยและผู้มาเฝ้ารับเสด็จด้วย

**นักวิชาการแนะเกษตรกรฟื้นฟูไม้ผลหลังน้ำลด-อากาศร้อนแทน

ร.ศ.ดร.วาริน อินทนา หัวหน้าหน่วยวิจัยไม้ผลเขตร้อน สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า จากการออกสำรวจความเสียหายของต้นยางพาราในเขตพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ของทีมนักวิชาการจากหน่วยวิจัยไม้ผลเขตร้อน หลังภาวะน้ำท่วมหนัก พบว่า มีบริเวณที่มีน้ำท่วมขังในพื้นที่ปลูกยางพาราเป็นเวลานาน จนทำให้ต้นยางพาราที่เปิดกรีดแล้ว มีใบในระยะเพสลาด และกำลังออกช่อดอก ซึ่งเป็นระยะที่กำลังอ่อนแอ แต่จากการขังของน้ำเป็นเวลานานทำให้ระบบรากไม่สามารถดูดซับธาตุอาหารไปเลี้ยงต้นได้เลย อีกทั้งระบบรากบางส่วนยังเน่าตายอีกด้วย

ดังนั้นต้นยางพาราเกือบทุกสวนที่ได้รับผลกระทบจึงต้องทิ้งใบ ส่วนใบยอดและช่อดอกต้องแห้งตายคาต้น บางสวนที่อาการรุนแรง พบว่ากิ่งขนาดเล็กแห้งตายด้วยเช่นกัน อาการของต้นยางพาราเหล่านี้สร้างความเครียดและหนักใจกับเกษตรกรชาวสวนยางในภาคใต้เป็นอย่างมาก

รศ.ดร.วาริน กล่าวต่อไปอีกว่า เพื่อให้ต้นยางพาราฟื้นตัวได้เร็วขึ้นพื้นที่ที่น้ำยังท่วมขังอยู่ต้องรีบหาแนวทางในการระบายน้ำอย่างเร่งด่วน เพราะน้ำที่ท่วมขังนานกว่า 2 สัปดาห์ทำให้ระบบรากของต้นยางบางส่วนเน่าตาย และหากน้ำขังนานมากไปกว่านี้การฟื้นตัวของต้นยางพาราจะช้ามากยิ่งขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้เกษตรกรไม่ควรนำเครื่องจักรกลเข้าไปเหยียบย่ำในพื้นที่เพราะจะทำให้ดินที่กำลังอ่อนตัวเกิดการอัดแน่น ส่งผลให้ระบบรากชอนไชและดูดซับธาตุอาหารไม่ได้ อีกทั้งการเหยียบย่ำยังทำให้ระบบรากยางพาราเสียหาย

สิ่งสำคัญควรงดกรีด งดการใช้สารกำจัดวัชพืชในระยะเวลานี้ และควรหมั่นสังเกตอาการของต้นยางพาราอย่างสม่ำเสมอ เพื่อการแก้ไขปัญหาอื่นๆที่จะตามมาได้ทันท่วงที โดยเฉพาะการเข้าเชื้อโรคพืชต่างๆ เพราะต้นยางพาราที่กำลังอ่อนแอย่อมง่ายต่อเชื้อโรคพืชที่จะเข้าทำลายซ้ำได้ ทั้งนี้หากมีปัญหาเกี่ยวกับต้นยางพาราหรือพืชอื่นๆ สามารถติดต่อสอบถามแนวทางการแก้ไข ได้ที่หน่วยวิจัยไม้ผลเขตร้อน สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ หมายเลขโทรศัพท์ 075-672377.
กำลังโหลดความคิดเห็น