xs
xsm
sm
md
lg

ชาวตรังจี้แก้น้ำท่วม ติง “น้องเดียว” อย่ามัวชี้นิ้วสั่ง-“เด็จพี่” โผล่ควงว่าที่ผู้สมัครแจกของ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง - “น้องเดียว” ลงพื้้นที่เยี่ยมผู้ประสบภัยน้ำท่วมตรัง ชาวบ้านร้องแก้ปัญหาจริงจัง อย่ามัวชี้นิ้วสั่งใน กทม. ด้าน รมต.ประสำนักนายกฯ ยันไม่ได้นิ่งดูดายปัญหา พร้อมจ่ายชดเชยค่าเสียหายไม่เกินสงกรานต์นี้ ด้าน “เด็จพี่” กลัวตกกระแส ควงว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ตรัง นำของไปแจก ช่วยทวงเงินชดเชยให้ชาวบ้าน


วันนี้ (2 เม.ย.) สถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้่นที่ จ.ตรัง ยังคงน่าเป็นห่วง หลังบริเวณริมฝั่งแม่น้ำตรัง และในอำเภอเมืองตรัง อำเภอกันตัง และเขตเทศบาลนครตรัง หลังจากพนังกั้นแม่น้ำตรัง ได้พังทลายลงมาเกือบ 10 จุด เช่น บริเวณตำบลบางรัก ตำบลหนองตรุด และตำบลนาตาล่วง แม้ชาวบ้านจะพยายามช่วยกันใช้กระสอบทรายมาทำการขวางกั้นเอาไว้ แต่จากกระแสน้ำที่เชี่ยวกรากและปริมาณมากกว่าทุกครั้ง ซึ่งไหลต่อเนื่องมาจากอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ทำให้พนังกั้นแม่น้ำตรังในจุดต่างๆ เหล่านั้นต้องพังทลายลงมา และเกิดน้ำทะลักเข้าท่วมพื้นที่ราบลุ่มอย่างรุนแรงเป็นระยะเวลาถึง 2 วันมาแล้ว

ทั้งนี้ บ้านเรือน สถานที่ราชการ ระบบสาธารณูปโภค และพื้นที่ทางการเกษตรต้องประสบกับความเสียหายอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมานานแล้วหลายสิบปี โดยเฉพาะสถานที่สำคัญๆ ที่ตั้งอยู่ในบริเวณดังกล่าวนี้ รวมเป็นจำนวนมากเกือบ 20 หน่วยงาน เช่น สำนักงานขนส่งจังหวัดตรัง สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย (สวท.) จังหวัดตรัง สถานีวิทยุ อสมท ตรัง สำนักงานประกันสังคมจังหวัดตรัง สำนักงานการประปาตรัง ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานภาคใต้ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) วิทยาลัยสารพัดช่างตรัง โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยตรัง โรงเรียนสภาราชินี 2 โรงเรียนวัดตันตยาภิรม (ต้นตอ) และวัดประสิทธิชัย (วัดท่าจีน)

นอกจากนั้นยังทำให้เส้นทางคมนาคมหลายสาย ทั้งในพื้นที่อำเภอเมืองตรัง และอำเภอกันตัง เช่น ถนนตรัง-สิเกา บริเวณหน้าสนามกีฬาเทศบาลนครตรัง 2 ทุ่งแจ้ง ถนนตรัง-กันตัง ในพื้นที่ตำบลบางหมาก หรือถนนเลี่ยงเมืองตรัง-ห้วยยอด ในพื้นที่ตำบลนาท่ามใต้ รถไม่อาจจะสามารถสัญจรไปมากันได้ตามปกติ เนื่องจากหลายจุดเหล่านั้นที่มีระดับน้ำสูงมากถึง 2 เมตร ต้องนำเรือพาย หรือเรือหางยาว มาใช้สัญจรไปมาบนท้องถนนแทน เพื่อทำการอพยพผู้คน สิ่งของ และสัตว์เลี้ยง ไปอยู่ยังสถานที่ปลอดภัย สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนหลายพันครัวเรือน เฉพาะในพื้นที่ 7 ตำบลของอำเภอเมืองตรัง และในพื้นที่ 5 ตำบลของอำเภอกันตัง

ทั้งนี้ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมในตำบลนาตาล่วง และตำบลหนองตรุด อำเภอเมืองตรัง ซึ่งเป็นจุดหนึ่งที่ประสบภัยน้ำท่วมรุนแรงที่สุดของจังหวัดตรัง โดยมีน้ำท่วมเฉลี่ยสูงถึง 2 เมตร และมีประชาชนทั้ง 2 ตำบล ได้รับความเดือดร้อนแล้วกว่า 3,000 ครอบครัว เพื่อตรวจสอบและหาแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมริมฝั่งแม่น้ำตรังอย่างยั่งยืน ก่อนที่จะพบปะกับชาวบ้าน พร้อมมอบถุงยังชีพ

นายสาทิตย์กล่าวว่า น้ำท่วมครั้งนี้หนักทุกจังหวัดผิดตามคาดหมาย และจุดที่อันตรายที่สุด คือ จุดที่มีการคาดว่าจะเกิดดินโคลนถล่ม ขณะนี้ได้รับรายงานว่ามีดินถล่มไปแล้วประมาณ 20 จุด และยังมีอีก 9 จุด ที่ต้องอพยพคนออกไปยังพื้นที่ปลอดภัยและเยียวยาหลังน้ำลด นอกจากนั้น ในเรื่องของปริมาณน้ำทั้ง 8 จังหวัด ยังวิกฤตทุกจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดนครศรีธรรมราช หรือจังหวัดตรัง

นายสาทิตย์กล่าวอีกว่า หลังจากนี้รัฐบาลจะต้องเข้าไปดูแลเกี่ยวกับเรื่องของคุณภาพชีวิตของคนและความปลอดภัย รองลงมาก็คือ จะไปต้องดูด้านบริการสาณูปโภคพื้นฐานแก่ประชาชน เช่น ถนนหนทาง การติดต่อสื่อสาร หากน้ำลดก็จะต้องมีการสำรวจความเสียหายกันต่อไปและให้ทั่วถึง โดยในวันจันทร์ที่ 4 เมษายนนี้ ตนจะนำเรื่องการจ่ายเงินเยียวยาครัวเรือนละ 5,000 บาทเข้า ครม.

โดยครั้งนี้จะมีการปรับรูปแบบการจ่ายเงินให้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยการสำรวจพื้นที่น้ำท่วมจากดาวเทียม หลังจากนั้น ก็จะมีการพิจารณาในการจ่ายชดเชยอาสินการเกษตร รวมทั้งจ่ายเงินค่าซ่อมแซมบ้านเรือนหลังจากน้ำลด โดยจะดูไปที่งบกลางปี 9,900 ล้านบาท เชื่อว่าเงินชดเชยเยียวยาแก้ผู้ประสบภัยน้ำท่วมครั้งนี้ คาดว่าไม่เกินช่วงสงกรานต์น่าจะสามารถจ่ายได้

ขณะเดียวกัน นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยนายรัตน์ ภู่กลาง และนายสมาน ลิปประพันธ์ 2 ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค จ.ตรัง ลงพื้นที่นำสิ่งของยังชีพไปแจกจ่ายให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการเกิดน้ำท่วม ในชุมชนน้ำผุดใต้เขตเทศบาลนครตรัง จำนวน 38 ครัวเรือน พร้อมกับพบปะกับประชาชนและสอบถามปัญหาความเดือดร้อน โดยมีชาวบ้านจำนวนมากมารอรับสิ่งของและขอถ่ายรูป

โฆษกพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านในพื้นที่ภาคใต้ว่า ยังไม่ได้รับเงินชดเชยเยียวยาน้ำท่วมจากรัฐบาล จำนวน 5,000 บาท ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา และในส่วนที่ได้รับแล้วก็ระบุว่า เงินชดเชยจำนวนดังกล่าวที่รัฐบาลแจกมาให้นั้น ไม่เพียงพอต่อการซ่อมแซมบ้านเรือนและทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหาย อาทิ สวนยางพารา ปาล์มน้ำมัน และพื้นที่การเกษตรอื่น

ด้านชาวบ้านรายหนึ่งกล่าวว่า ก่อนน้ำจะเข้าพื้นที่ไม่มีการแจ้งเตือนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด ทำให้บางส่วนไม่สามารถขนย้ายสิ่งของและทรัพย์สินหนีน้ำได้ทัน ดังนั้น รัฐบาลควรจะเร่งสร้างฝายสำหรับกักเก็บน้ำ ซึ่งจะบรรเทาความเดือดร้อนได้อย่างดี โดยหากมีอยู่แล้วก็ให้ยกระดับขึ้นมาเล็กน้อย เพื่อให้สามารถกักเก็บน้ำได้มากกว่าเดิม และมีมาตรการป้องกันเข้มงวดกว่านี้ โดยเฉพาะในเขตเทศบาล

อย่างไรก็ตาม หากไม่มีมาตรการป้องกัน ปัญหาก็จะซ้ำซาก หลังจากนั้นจะมาแก้ปัญหาด้วยการแจกสิ่งของ ถือเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ ไม่ถูกต้อง ซึ่งเรื่องนี้ตนขอติติงรัฐบาล และอยากเรียกร้องให้ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเป็นประธาน คชอ. ควรจะลงพื้นที่เปิดศูนย์ประสานงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่บ้านของตัวเอง อย่านั่งบัญชาสั่งการอยู่ใน กทม. ซึ่งจะทำให้การช่วยเหลือรวดเร็วกว่า

สถานที่ราชการในเขตเทศบาลเมืองตรังถูกน้ำท่วมจมเสียหายหลายแห่ง

สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ลงเรือเยี่ยมผู้ประสบภัย




กำลังโหลดความคิดเห็น