ตรัง - พนังกั้นแม่น้ำตรังพังทลายลงมาเกือบ 10 จุดแล้ว ทำให้ชาวอำเภอเมือง และอำเภอกันตัง เดือดร้อนจำนวนมาก หลังน้ำจากเทือกเขาบรรทัด และจากจังหวัดนครศรีธรรมราชทะลักเข้าท่วม หนักสุดระดับน้ำสูง 5 เมตร เผยก่อนหน้านี้เสนอกรมชลประทานขยายพนังกั้นน้ำแต่ไม่ทำ อ้างไม่มีงบประมาณ
วันนี้ (1 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดตรังรายงานว่า น้ำทั้งที่ไหลมาจากเทือกเขาบรรทัดรอยต่อกับจ.พัทลุง และต้นแม่น้ำตรัง ในพื้นที่อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ได้ไหลมารวมกันลงสู่พื้นที่ราบลุ่มในหลายอำเภอของจ.ตรัง โดยเฉพาะในบริเวณพื้นที่อ.เมืองตรัง ฝั่งทางด้านทิศเหนือ และทิศตะวันตก ส่งผลให้อย่างน้อย 5 ตำบล ต้องประสบกับน้ำท่วมซ้ำซากอย่างรุนแรงอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นต.นาท่ามเหนือ, นาท่ามใต้, นาตาล่วง, บางรัก และหนองตรุด
ทั้งนี้ นอกจากจะเกิดมาจากการที่มีฝนตกหนัก ติดต่อกันเป็นเวลานานกว่า 1 สัปดาห์แล้ว ยังเกิดมาจากพนังกั้นแม่น้ำตรัง จำนวน 2 จุดสำคัญ ได้พังทลายลงมา ในบริเวณพื้นที่หมู่ที่ 6 ต.บางรัก และหมู่ที่ 2 ต.หนองตรุด อ.เมืองตรัง ซึ่งเป็นจุดที่มีปัญหามาหลายสิบปีแล้ว แต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะน้ำท่วมครั้งล่าสุดนี้ที่บางจุดมีระดับน้ำสูงถึง 5 เมตร ถนนหนทางในหมู่บ้านถูกตัดขาดโดยสิ้นเชิง ส่วนทรัพย์สินก็เสียหายแบบแบบประเมินค่ามิได้
สำหรับความเสียหายนอกจากจะเป็นบ้านเรือน ที่ต้องอยู่ใต้กระแสน้ำแบบจมหลังคานับ 30 หลังแล้ว ยังรวมไปถึงสถานที่ราชการอีกเป็นจำนวนมาก เช่น โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัยตรัง โรงเรียนบ้านป่าหมาก วัดประสิทธิชัย (วัดท่าจีน) ส่วนพืชผลทางการเกษตร เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ไม้ยืนต้น และพืชผัก ก็ต้องจมอยู่ใต้กระแสน้ำที่เชี่ยวกรากอีกเช่นกัน ทั้งๆ ที่เพิ่งจะได้รับความเสียหายอย่างหนักมาเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา และชาวบ้านบางรายก็ไม่ได้รับเงินช่วยเหลือจากหน่วยงานราชการ
นายสมบัติ ผลประยูร นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หนองตรุด ก็กล่าวว่า ที่ผ่านมาทาง อบต.เคยประชุมชาวบ้าน และนำเสนอข้อมูลไปยังกรมชลประทานปรับปรุงพนังกั้นแม่น้ำตรังจากขนาดเล็กเป็นขนาดกลาง ซึ่งจะมีความกว้างเพิ่มขึ้น จาก 6 เมตร เป็น 8 เมตร เพื่อสามารถรองรับการระบายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่กรมชลประทานอ้างว่าไม่มีงบประมาณ จึงซ่อมแซมพนังกั้นน้ำเป็นขนาดเล็ก เมื่อมีน้ำบ่าไหลมาอย่างรุนแรงจากจังหวัดนครศรีธรรมราช ทำให้ต้านทานไม่ไหวและพังทลายลงอีกครั้ง
นายก อบต.หนองตรุด กล่าวอีกว่า ผลจากน้ำท่วมใหญ่ครั้งล่าสุด ทำให้พนังกั้นน้ำพังลงมาถึง 2 จุดแล้ว และมีแนวโน้มจะพังลงมาอีกในหลายจุด ซึ่งจะยิ่งทำให้สภาพพื้นที่ริมแม่ตรังเกิดความวิกฤตมากขึ้น จนขณะนี้มีชาวบ้านเดือดร้อนไปกว่า 700 ครัวเรือนแล้ว และยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เพราะฝนยังคงตกหนักอย่างต่อเนื่อง และยังมีน้ำที่ไหลบ่าลงมาจากทุกทิศทางอย่างเชี่ยวกราก ถือเป็นภัยธรรมชาติที่รุนแรงมากในรอบหลายสิบปี ซึ่งหากภาครัฐไม่ทำการแก้ไขปัญหาอย่างดีพอ เหตุการณ์เช่นนี้ก็จะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้น้ำที่ไหลลงมาจากเทือกเขาบรรทัด และเข้าสู่ตัวเมืองตรัง ฝั่งทางด้านทิศตะวันออก และทิศใต้ รวมทั้งน้ำที่ไหลมาจากต้นแม่น้ำตรัง จากจ.นครศรีธรรมราช กำลังทะลักลงสู่ตัวเมืองตรัง ฝั่งทางด้านทิศตะวันตก และทิศเหนืออย่างรวดเร็ว ทำให้อำเภอเมืองตรัง อย่างน้อย 7 ตำบล รวมทั้งในเขตเทศบาลนครตรัง และอ.กันตัง เจิ่งนองไปด้วยน้ำที่พยายามหาช่องทางไหลลงสู่ทะเลอันดามัน แต่เนื่องจากพนังกั้นน้ำที่พังทลายลงเกือบ 10 จุดแล้ว ทำให้สถานการณ์น้ำท่วมย่ำแย่ลงไปกว่าที่คาดคิด