xs
xsm
sm
md
lg

ก.พลังงาน และ ทบ.ภูเก็ต ลงนามความร่วมมืออนุรักษ์พลังงานในอาคาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - กระทรวงพลังงาน และเทศบาลนครภูเก็ต ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการส่งเสริมและกำกับการอนุรักษ์พลังงานในอาคาร ที่จะก่อสร้างหรือดัดแปลง

วันนี้ (23 มี.ค.) ที่โรงแรมเมโทรโพล นายไกรฤทธิ์ นิลคูหา อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน และ นายถาวร จิรพัฒนโสภณ รองนายกเทศมนตรีนครภูเก็ต ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการส่งเสริมและกำกับการอนุรักษ์พลังงานในอาคารที่จะก่อสร้างหรือดัดแปลง ตามกิจกรรมสัญจร “การเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจด้านการออกแบบอาคาร เพื่อการอนุรักษ์พลังงานให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด”

โดยมี นายไชยวัฒน์ เทพี ปลัดจังหวัดภูเก็ต นายดนัย เอกกมล ผู้อำนวยการสำนักกำกับและอนุรักษ์พลังงาน นายมนัส ศุภวิริยากร ผู้อำนวยการส่วนควบคุมการก่อสร้างอาคารและผังเมือง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการช่าง เทศบาลนครภูเก็ต หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้แทนโรงแรม ผู้สถานประกอบการก่อสร้างและผู้เกี่ยวข้อง

นายไกรฤทธิ์ กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์ด้านพลังงาน ซึ่งนับวันจะเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น และได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ รวมถึงปัญหาสภาวะโลกร้อน ซึ่งทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่นับวันจะมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในประเทศต่างๆ ทั่วโลก และการใช้พลังงานอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ เป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวให้ลดลงได้

กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) สังกัดกระทรวงพลังงาน มีหน้าที่โดยตรงในการส่งเสริม และสนับสนุนให้เกิดการอนุรักษ์พลังงาน และการใช้พลังงานทดแทน ได้เล็งเห็นว่า การออกแบบอาคารให้มีการอนุรักษ์พลังงานตามมาตรฐาน และหลักเกณฑ์ที่ดี ก่อนที่จะมีการก่อสร้างอาคารใหม่ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้การใช้พลังงานในอาคารเป็นไปอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ดังนั้น กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน จึงได้ออกกฎกระทรวงว่าด้วยการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานขึ้นมา ในปี 2552 กำหนดให้ผู้ที่จะ ขออนุญาตก่อสร้างอาคารประเภทต่างๆ ซึ่งมีพื้นที่รวมกันตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป ต้องมีการออกแบบอาคารให้เป็นไปตามมาตรฐาน และวิธีการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน

นายไกรฤกษ์ กล่าวต่ออีกว่า การเกิดขึ้นของโครงการดังกล่าวนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ หลายฝ่าย กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน จึงได้ดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้เกี่ยวข้องมีความรู้ ความเข้าใจในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานตามกฎหมาย

ก่อนหน้านี้ ได้มีการลงนามความร่วมมือ “โครงการส่งเสริมการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์” กับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นไปแล้วรวม 5 แห่ง เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2552 ประกอบด้วย เมืองพัทยา เทศบาลนครนครราชสีมา เทศบาลนครเชียงใหม่ กรุงเทพมหานคร และเทศบาลนครหาดใหญ่ โดยมีเจตนาร่วมกันที่จะให้ความร่วมมือในการดำเนินโครงการฯ ให้สำเร็จตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ โดยพัฒนาและดำเนินการให้หน่วยงานดังกล่าวเป็นจังหวัดตัวอย่างที่ดี ในการออกแบบอาคารให้อนุรักษ์พลังงาน โดยมี กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เป็นผู้ให้คำปรึกษาแนะนำในการออกแบบดังกล่าว รวมถึงการให้บริการตรวจประเมินแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

ถึงปัจจุบัน มีผู้มายื่นแบบอาคารเพื่อขอรับการตรวจประเมิน ประมาณ 100 อาคาร และได้รับการตรวจประเมินแบบอาคารไปแล้ว 80 อาคาร และให้การอบรมการใช้โปรแกรมสำเร็จรูปการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน หรือที่เรียกว่า Building Energy Code (BEC) ให้แก่วิศวกร สถาปนิก อาจารย์ในสถาบันการศึกษา และบุคลากรของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการขออนุญาตก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคาร ไปแล้ว 950 คน เพื่อเป็นการสานต่อให้การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน จึงจัดตั้ง “ศูนย์ประสานงานการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน” ขึ้นในปี 2553 เพื่อเป็นศูนย์รวมข้อมูลวัสดุก่อสร้าง รวมถึงการให้บริการตรวจประเมินแบบอาคาร และเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจด้านการออกแบบฯ ให้แก่ผู้เกี่ยวข้องและผู้สนใจทั่วไป รวมถึงการขยายเครือข่ายความร่วมมือด้านการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ให้กระจายไปสู่ภูมิภาคต่างๆ มากยิ่งขึ้น

กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า จังหวัดภูเก็ตเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของประเทศ และมีแนวโน้มที่จะมีการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ เช่น โรงแรม สถานที่พักตากอากาศ เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูง และหากได้มีการออกแบบอาคารให้มีการใช้พลังงานอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพแล้ว ก็จะส่งผลทำให้เกิดผลประหยัดพลังงานในปริมาณสูง และส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น