ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “ป๋าเปรม” ล่องใต้เป็นประธานในเปิดการสัมมนาการวางปะการังเทียม เพื่อฟื้นฟูชายฝั่งสงขลา ชี้การที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือช่วยกันแก้ปัญหา เชื่อว่าจะสามารถฟื้นฟูกลับคืนมาได้ บอกรู้สึกดีใจที่ทุกคนต่างให้ความสำคัญในเรื่องนี้
วันนี้ (4 มี.ค.) พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เดินทางไปเปิดพิธีสัมมนาการวางปะการังเทียมเพื่อฟื้นฟูชายฝั่งสงขลา ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ (มอ.หาดใหญ่) โดยมีนายอุทิศ ชูช่วย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สงขลา กล่าวการต้อนรับ และ รศ.ดร.บุญสม ศิริบำรุงสุข อธิการบดี มอ.กล่าวรายงานการประชุม ท่ามกลางผู้เข้าร่วมสัมมนาประมาณ 400 คน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนริมชายฝั่งทะเล จ.สงขลา รวมถึงเจ้าหน้าที่และพนักงานขององค์กรส่วนท้องถิ่นที่มีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเล
นายอุทิศ ชูช่วย นายก อบจ.สงขลา กล่าวว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้ทำให้พื้นที่ชายฝั่งทะเล รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ เสียหายจำนวนมาก ซึ่งการกัดเซาะชายฝั่งทะเลของคลื่นก็เป็นปัญหาใหญ่อีกเรื่องหนึ่ง ที่จะต้องได้รับการแก้ไขฟื้นฟูโดยด่วน ก่อนที่จะส่งผลให้พี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลได้รับความเดือดร้อนไปมากกว่านี้
ดังนั้น ในนามองค์กรส่วนท้องถิ่นทั้งหมด ที่มีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลจำนวน 29 แห่งของ จ.สงขลา จึงมองว่า เรื่องนี้มีความสำคัญยิ่งที่จะต้องร่วมมือช่วยกันแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูเร่งด่วน ซึ่งที่ผ่านมาทางองค์กรท้องถิ่นเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้แก้ไขปัญหาเรื่องการกัดเซาะชายฝั่งของคลื่นมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ตนยังดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครสงขลาในขณะนั้น แต่การแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูจำเป็นต้องใช้งบประมาณแก้ไขสูง ซึ่งหากองค์กรส่วนท้องถิ่นเพียงองค์กรเดียวเข้ามาแก้ไขคงเป็นเรื่องยาก
เพราะฉะนั้น การร่วมมือช่วยกันจากทุกภาคส่วนจึงเป็นสิ่งที่ดี และน่าจะแก้ไขปัญหาฟื้นฟูในสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งโครงการปะการังเทียมก็เป็นอีกโครงการหนึ่ง ที่ทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้เล็งเห็นความสำคัญในการที่จะแก้ไขฟื้นฟูชายฝั่งและทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเล อีกทั้งจะสามารถช่วยป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งของคลื่นได้อีกทางหนึ่งด้วย
ด้าน รศ.ดร.บุญสม ศิริบำรุงสุข อธิการบดี มอ.กล่าวว่า ปัญหาความเดือดร้อนของคลื่นกัดเซาะชายฝั่ง และความเสื่อมโทรมของทรัพยากรชายฝั่งทะเล ถือเป็นปัญหาระดับชาติที่จะต้องได้รับการแก้ไขและฟื้นฟูโดยด่วน ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือช่วยกัน และที่ผ่านมาจังหวัดภาคใต้ที่มีพื้นที่ติดชายฝั่งก็ได้รับผลกระทบจากการกัดเซาะของคลื่นอย่างหนัก
ด้วยเหตุนี้ มอ.จึงพยายามค้นคว้าศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้มานานหลายปี เริ่มมาตั้งแต่ปี 2548 เพื่อศึกษาวิจัยหาหนทางที่จะนำมาใช้แก้ไขฟื้นฟูการกัดเซาะชายฝั่งของคลื่น และโครงการวางปะการังเทียม ก็เป็นอีกโครงการหนึ่งที่จะสามารถช่วยฟื้นฟูชายฝั่งและทรัพยากรในทะเลได้เป็นอย่างดี
ขณะที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ได้ใช้เวลาในการกล่าวเปิดการสัมมนาครั้งนี้เพียงช่วงเวลาสั้นๆ ว่า การที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าว ทุกฝ่ายต้องร่วมมือช่วยกันแก้ไข แม้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมันจะเกิดจากธรรมชาติ และยากต่อการแก้ไขปัญหา แต่เมื่อทุกฝ่าย ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องร่วมมือกัน เชื่อว่า จะสามารถแก้ไขฟื้นฟูกลับคืนมาได้ และรู้สึกดีใจที่ทุกคนต่างให้ความสำคัญในเรื่องนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับชายฝั่งทะเลของประเทศไทยมีความยาวรวมทั้งสิ้นประมาณ 2,614 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งรวม 23 จังหวัด ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันพบการกัดเซาะชายฝั่งของคลื่นถึง 577 กิโลเมตร จัดอยู่ในพื้นที่มีปัญหาขั้นรุนแรงที่จะต้องเร่งแก้ไขฟื้นฟูด่วนกว่า 200 กิโลเมตร ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ที่ประสบปัญหาอยู่ด้านฝั่งทะเลอ่าวไทย และเป็นบริเวณชายฝั่งทะเลที่เป็นฐานเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ มีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย เป็นแหล่งประกอบอาชีพการประมง และเป็นที่อาศัยของชุมชนจำนวนมาก อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงด้านการท่องเที่ยวอีกด้วย
ฉะนั้น การกัดเซาะชายฝั่งของคลื่นจึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อทรัพยากรชายฝั่ง ทำให้ป่าชายเลนเสื่อมโทรม ทรัพยากรประมงลดน้อยลง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งก่อสร้างที่อยู่ละแวกริมชายฝั่ง เกิดการสูญเสียที่ดินและหาดทรายสวยงามที่เคยมีในอดีต เป็นต้น จึงทำให้หน่วยงานรัฐและเอกชน รวมถึงชุมชนภาคประชาชนต่างๆ เล็งเห็นความสำคัญ และพร้อมที่จะร่วมมือกันแก้ไขฟื้นฟู โดยมี มอ.เป็นผู้ดำเนินการด้านการศึกษาวิจัย เพื่อหาหนทางแก้ไขและฟื้นฟูปัญหาที่เกิดขึ้น จนกระทั่งเกิดโครงการวางปะการังเทียมฟื้นฟูชายฝั่งสงขลานี้ขึ้น