xs
xsm
sm
md
lg

ดึงพื้นที่อ่าวเบงกอล 8 ปท.ทำแผนจัดการพื้นที่ชายฝั่งที่ภูเก็ต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - โครงการจัดการระบบนิเวศทางทะเลอ่าวเบงกอล ดึงพื้นที่ชายฝั่งอ่าวเบงกอล 8 ประเทศ ร่วมจัดทำแผนจัดการพื้นที่ชายฝั่งทะเล เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาสภาพสิ่งแวดล้อมและภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง

วันนี้ (8 ก.พ.) ที่ ศาลากลาง จ.ภูเก็ต นายศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำนักวิชาการต่างประเทศ ผู้จัดทำโครงการจัดการระบบนิเวศน์ทางทะเลอ่าวเบงกอล (BOBLME) ชี้แจงการดำเนินโครงการแก่ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในจังหวัดภูเก็ต

ทั้งนี้ เพื่อจะได้จัดแผนยุทธศาสตร์การจัดการพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน สนับสนุนระบบนิเวศทางทะเลในอ่าวเบงกอล ที่มีอาณาเขตครอบคลุม 8 ประเทศ ประกอบด้วย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย เมียนมาร์ บังกลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา และ มัลดีฟส์ รวมเนื้อที่ 6.2 ล้านตารางกิโลเมตร เป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 4.3 ล้านตารางกิโลเมตร รวมความยาวชายฝั่งทะเล 14,000 กิโลเมตร มีประชากรอาศัยรอบพื้นที่ชายฝั่งทะเลรวมกว่า 450 ล้านคน

นายศักดิ์อนันต์ กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลและสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในอ่าวเบงกอล พบว่า ทุกประเทศประสบปัญหาการทำประมงเกินศักยภาพการผลิต ปัญหาความเสื่อมโทรมของป่ายเลน และปัญหามลภาวะจากแผ่นดิน จากเรือและคราบน้ำมัน โดยมีปัจจัยมาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม การจัดการองค์กร และกฎระเบียบ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศโลก โดยปัญหาที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบร่วมกันทั้งระดับโลก และระดับพรมแดน ขณะที่บางปัญหาเกิดขึ้นระหว่างสองประเทศ

นายศักดิ์อนันต์ กล่าวว่า โครงการจัดการระบบนิเวศทางทะเล อ่าวเบงกอล ทุกประเทศสมาชิกได้เห็นพ้องที่จะมีแผนจัดการด้านสิ่งแวดล้อม จัดการทรัพยากรประมงชุมชน การทำประมงข้ามพรมแดน รวมไปถึงการเจรจาระหว่างประเทศ การทำความเข้าใจต่อสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งโครงการฯนี้ ได้เริ่มมาตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2552 มีแผนการทำงานระยะ 5 ปี มีโครงการย่อยทั้งหมด 16 โครงการ

ทั้งนี้ คาดหวังให้พื้นที่ได้จัดทำแผนจัดการพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน เพื่อสนับสนุนโครงการฯ และแต่ละปีได้มีแผนงานสานต่ออย่างต่อเนื่อง โดยประโยชน์ที่จะได้รับ คือ กระบวนการจัดการทางนโยบายในการดูแลสิ่งแวดล้อม การปรับปรุงทรัพยากรชายฝั่งและระบบนิเวศน์ให้กลับมาสมบูรณ์ ขณะที่ชุมชนชายฝั่งทะเลอันดามันมีความเข้มแข็ง ตลอดจนมีกระบวนการจัดการมารองรับปัญหาภูมิอากาศโลกร้อน
กำลังโหลดความคิดเห็น