xs
xsm
sm
md
lg

“โป๊ะเชือก” บางสะพานน้อยเพื่อการจัดการประมงโดยชุมชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประจวบคีรีขันธ์...รายงาน

เนื่องจากในปัจจุบันทรัพยากรประมงชายฝั่งถูกนำขึ้นมาใช้อย่างมากมาย และกว้างขวาง มีการทำประมงโดยเครื่องมือประมงประเภทต่างๆในแทบทุกพื้นที่และทุกเวลา จนเหลือโอกาสให้สัตว์น้ำได้พักฟื้นฟูน้อยมาก

ดังนั้น แล้วชาวประมงผู้ใช้ทรัพยากรจากท้องทะเลโดยตรง จึงต้องร่วมกันตระหนักในการใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น เพื่อให้มีอาหารทะเลไว้ให้ผู้คนได้บริโภคอย่างยั่งยืน และผลจากการศึกษาทดลอง “โป๊ะเชือก” ที่ประสบความสำเร็จในเบื้องต้นที่จังหวัดระยอง กรมประมงจึงได้คัดเลือกพื้นที่อ่าวไทยฝั่งตะวันตกขึ้นที่ อ่าวบางสะพาน ทำโครงการ “โป๊ะเชือก” เพื่อศึกษาทดลองขึ้นมาโดยตัวโป๊ะตั้งอยู่ด้านทิศใต้ของเกาะทะลุ ห่างจากชายฝั่งบ้านฝั่งแดง 5 กม.

กรมประมง ร่วมกับศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สนง.ประมงจังหวัดประจวบฯ ชุมชนชาวประมงอ่าวบางสะพาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันทดลองติดตั้งโป๊ะเชือก บริเวณด้านทิศใต้ของเกาะทะลุ บางสะพานน้อย ขึ้นมาเพื่อปกป้องแหล่งประมงชายฝั่งมิให้ถูกทำลายจากเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูง สิ่งสำคัญเพื่อสร้างความสามัคคีของกลุ่มชาวประมงในพื้นที่ และยังเป็นการพัฒนาแนวความคิดพื้นฐานแบบง่ายๆของการจัดการประมงโดยชุมชนอีกด้วย

ดร.จุมพล สงวนสิน ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการประมงทรงคุณวุฒิ กล่าวว่า กรมประมงมีนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุน ให้มีการรวมกลุ่มของชาวประมงในการบริหารจัดการทรัพยากรชายฝั่งของชุมชน เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชนชาวประมงให้มีความเป็นอยู่ที่ดี มีรายได้สามารถเลี้ยงครอบครัว และเกิดความสามัคคีกันในชุมชน แบ่งกันใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่อยู่บริเวณหน้าบ้านตนเองให้คุ้มค่าที่สุด

ตลอดจนพยายามหามาตรการในการอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง เพื่อลูกหลานในอนาคตข้างหน้าจะได้มีทรัพยากรใช้ประโยชน์ที่อุดมสมบูรณ์สืบไป ซึ่งกรมประมงได้บรรจุโครงการโป๊ะเชือกเพื่อการจัดการประมงโดยชุมชนไว้ใน แผนแม่บทการจัดการประมงทะเลไทย ภายใต้กลยุทธ์ พัฒนาและส่งเสริมการใช้ทรัพยากรประมงทะเลอย่างรับผิดชอบและยั่งยืน มาตรการพัฒนาและส่งเสริมเครื่องมือและการทำการประมงอย่างยั่งยืน ซึ่งจะทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำอุดมสมบูรณ์

สำหรับพื้นที่อ่าวบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีความพร้อมด้านพื้นที่ในการทดลองใช้เครื่องมือโป๊ะเชือก และมีกลุ่มชาวประมงที่เข้มแข็งมีศักยภาพในการบริหารจัดการ รวมทั้งเป็นชุมชนประมงตามโครงการจัดการด้านการประมงอ่าวบางสะพาน

นางเพราลัย นุชหมอน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีประมงทะเล กล่าวว่า โครงการโป๊ะเชือก มีการนำเอาเทคโนโลยีจากประเทศญี่ปุ่นมาทดลองใช้กับประเทศไทย ภายใต้ความร่วมมือของกรมประมงและศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAFDEC) ซึ่งมีการนำเข้ามาทดลองใช้ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2546 ณ บริเวณแหล่งประมงชายฝั่งหาดแม่รำพึง อ.เมือง จ.ระยอง และถือว่าประสบผลสำเร็จ จึงขยายผลมาทดลองที่ อ.บางสะพานน้อย เหตุผลคือชาวประมงในพื้นที่แถบนี้มีความเข้มแข็งมีศักยภาพในการบริหารจัดการ ทั้งนี้ ยังได้นำบทเรียนจากที่ระยอง มาปรับปรุงใช้จนเกิดเป็นรูปแบบที่เหมาะสม

อนึ่ง การทดลองในพื้นที่ทะเลบางสะพานน้อย มีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี ไปสิ้นสุดประมาณเดือนกันยายน 2555 ซึ่งทางศูนย์พัฒนาประมงแห่งเอเชียตะวันอกเฉียงใต้ เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี ส่วนกรมประมงจะดำเนินการในด้านศึกษาทางวิชาการทั้งทางด้านเศรษฐกิจ-สังคม ทรัพยากรประมง และสิ่งแวดล้อม

โป๊ะเชือกจะเป็นทางเลือกในการประกอบอาชีพการประมงอย่างยั่งยืน สร้างความเข้มแข็งของชุมชน และยังเป็นการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างชุมชนและหน่วยงานราชการ รวมทั้งช่วยในการฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำและระบบนิเวศก์ให้มีความสมบูรณ์ และสมดุล โดยโป๊ะเชือกจะเป็นเครื่องมือรวบรวมพ่อแม่พันธุ์จากธรรมชาติเพื่อนำมาศึกษาในการเพาะฟัก ขยายพันธุ์ และปล่อยลงสู่แหล่งน้ำต่อไป

ขณะเดียวกัน นายลิขิต บุญสิทธิ์ หน.กลุ่มบริหารจัดการด้านการประมง กล่าวว่า หลังจากติดตั้งโป๊ะเชือก เสร็จแล้วและมีการกู้วันเว้นวันสัตว์น้ำที่ได้จากโป๊ะเชือกมีทั้ง ปลาโฉมงาม ปลาสีกุน ปลาสาก ปลาจาระเม็ด หมึก ปลาทู ปลากระทุงเหว ปลาข้างเหลืองฯลฯ วิธีการกู้ใช้เรือประมงชาวบ้าน 3 ลำ คนกู้ 9 คนหมุนเวียนจากกลุ่มประมง 6 กลุ่มในพื้นที่ อ.บางสะพานน้อย ได้แก่กลุ่มประมงบ้านบางเบิด, ฝั่งแดง, ชายทะเล, บ้านแขก, บ้านปากคลอง, บ้านหนองเสม็ด

นอกจากนั้นแล้ว ขณะนี้ทางกลุ่มชาวประมงโป๊ะเชือก ยังได้เปิดบัญชีเงินฝากของกลุ่มฯเพื่อนำรายได้จากการทำประมงโป๊ะเชือก ที่ขายสัตว์น้ำให้กับพ่อค้าแม่ค้าที่มารับซื้อ สำหรับเงินส่วนดังกล่าวทางกลุ่มฯจะหักค่าใช้จ่ายทั้งหมด สำหรับผู้ที่ไปกู้มีเรือไปด้วยได้ค่าแรง 700 บาท ส่วนผู้ที่ออกไปกู้ได้ 300 บาท

นอกจากนั้น ยังมีค่าซ่อมแซมวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งเมื่อหักหมดแล้วช่วงเวลาครึ่งปีก็จะนำเงินรายได้ทั้งหมดมาเฉลี่ยจ่ายให้กลุ่มประมงฯ และสมาชิกในสัดส่วนกลุ่มประมง 40 เปอร์เซ็นต์ สมาชิก 60 เปอร์เซ็นต์ สาเหตุที่สมาชิกได้ส่วนแบ่งมากกว่ากลุ่มเนื่องจากเป็นผู้ลงแรง ต้องเสียสละเวลาและลงแรงในการทำการประมง

อย่างไรก็ตาม “โป๊ะเชือก” เป็นเครื่องมือประมงที่ฝึกให้คนรู้จักการทำงานเป็นทีมที่ผ่านมาชาวประมงและสมาชิกทั้ง 6 กลุ่ม ได้ช่วยกันประกอบตัวอวน วัสดุอุปกรณ์ กว่าจะติดตั้งได้ต้องใช้เวลาดำเนินการกว่า 3 เดือนจึงจะสำเร็จ ซึ่งอยู่ภายใต้คำแนะนำทางวิชาการของศูนย์พัฒนาประมงแห่งเอเชียตะวันอกเฉียงใต้ และผู้เชี่ยวชาญด้านโป๊ะเชือกจากประเทศญี่ปุ่น มาเป็นผู้ฝึกสอนในช่วงดำเนินการจนติดตั้งแล้วเสร็จ ซึ่งเวลาผ่านมาประมาณเกือบ 3 เดือน ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ เฉลี่ยปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้มีมูลค่าประมาณ 5,000-8,000 บาท/ครั้ง สำหรับโป๊ะเชือกในช่วงฤดูมรสุมสมาชิกของกลุ่มโป๊ะเชือก ก็จะเก็บขึ้นมาซ่อมแซม เมื่อหมดฤดูมรสุมก็จะนำกลับลงไปวางใหม่อีกครั้ง

อนึ่ง ตัวโป๊ะประกอบไปด้วย ปีกกลางยาว 300 เมตร ปีกข้าง 2 ข้างยาวข้างละ 50 เมตร ส่วนของลูกขังกว้างประมาณ 20 เมตร ยาวประมาณ 50 เมตร ส่วนของลูกรุกประมาณ 20 เมตร ยาวประมาณ 30 เมตร ติดตั้งโดยใช้ถุงทรายถ่วงเชือกประมาณ 2,000 ลูก มีความลึกของน้ำ 13 เมตร

ทุกครั้งที่มีการจับสัตว์น้ำขึ้นมาจากโป๊ะเชือก จะต้องมีนักวิชาการของศูนย์วิจัยฯกรมประมง จากชุมพรเข้ามาเก็บข้อมูลด้านสถิติสัตว์น้ำทุกครั้ง

สิ่งสำคัญที่สุด การทำโป๊ะเชือก จะต้องได้รับอนุญาตจากกรมประมง ส่วนชาวประมงที่ใช้เครื่องมือประมงชนิดอื่นๆก็สามารถทำประมงนอกบริเวณเขตวางโป๊ะเชือกได้ ซึ่งการทดลองทางวิชาการในครั้งนี้ ก็ไม่ได้ลิดรอนสิทธิ์ของชาวประมงรายอื่นๆ แต่อย่างใด

และถือได้ว่าโครงการทดลองโป๊ะเชือกที่อ่าวบางสะพาน ในครั้งนี้ถือเป็นการจัดการทรัพยากรประมงโดยชุมชน และวันนี้ทุกคนคงจะเห็นว่าความสามัคคีและการทำงานร่วมกัน เท่านั้นที่จะนำพาให้การทดลองศึกษาประสบความสำเร็จ สิ่งหนึ่งชาวประมงก็ยังมีรายได้จากการไปกู้โป๊ะเชือก และยังมีรายได้จากการเฉลี่ยคืนให้กลุ่มและสมาชิกอีกด้วย นี่จึงเป็นบทเริ่มต้นของโครงการโป๊ะเชือกเพื่อการจัดการประมงโดยชุมชนที่แท้จริง





กำลังโหลดความคิดเห็น