ตรัง - ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ หนุนแนวคิดเพาะเลี้ยงสาหร่ายทะเลชนิดสีแดง ทั้งในทั้งฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทย โดยมีกระทรวงเกษตรฯ ขานรับ แต่ขอดูกฎระเบียบและผลกระทบก่อน
นายแพทย์สุกิจ อัถโถปกรณ์ ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ และกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีเกษตรกรกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ในท้องทะเลอันดามัน บริเวณบ้านแหลมขามและแหลมไทร อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ทำการทดลองเพาะเลี้ยงสาหร่ายทะเล ชนิดสีแดง ซึ่งถือเป็นสาหร่ายที่ให้ประโยชน์อย่างมากมาย โดยเฉพาะการนำไปสกัดสารคาร์ราจีแนน อันเป็นส่วนประกอบของสินค้าต่างๆ หลายชนิด เช่น วุ้น เครื่องสำอาง ยาสีฟัน ยาสระผม น้ำอัดลม สบู่ รวมทั้งในอุตสาหกรรมอาหารชั้นสูง ประเภทไวน์หรือเหล้า เช่น ไอศกรีม โยเกิร์ต และยาบำรุงต่างๆ โดยมีตลาดรับซื้อรายใหญ่อยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส
อีกทั้งในปัจจุบันประเทศไทยก็นำเข้าสาหร่ายชนิดนี้ เป็นมูลค่าสูงปีละ 282 ล้านบาท ในขณะที่มีสินค้าที่สามารถผลิตเพื่อส่งออกไปได้มูลค่าแค่ปีละ 27 ล้าน ซึ่งทำให้ประเทศต้องขาดดุลยการค้าไปถึงปีละ 255 ล้านบาท ฉะนั้น ถ้าหากสามารถส่งเสริมให้ทำการเพาะเลี้ยงสาหร่ายทะเลได้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร
จากการสำรวจในเบื้องต้น ทั้งฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทยก็พบว่า มีสภาพที่เหมาะสมสำหรับการดำเนินการ เนื่องจากอยู่ในบริเวณท้องทะเลเขตร้อน ซึ่งจะช่วยให้สาหร่ายสามารถเจริญเติบโตได้ดี ประกอบกับขณะนี้การทำประมงในจังหวัดตรัง และจังหวัดต่างๆ ก็ค่อนข้างจะยากลำบากมากขึ้นทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นผลมาจากสภาพอากาศที่แปรเปลี่ยนไป หรือมาจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น รวมทั้งมาจากการจำกัดในเรื่องของเครื่องมืออุปกรณ์สำหรับทำการประมง ตนจึงได้นำเรื่องดังกล่าวไปตั้งกระทู้สอบถามนายกรัฐมนตรี ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็เป็นผู้ตอบกระทู้แทนว่า เห็นด้วยต่อการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสาหร่ายทะเลชนิดสีแดง เพียงแต่ขอระยะเวลาในการดูข้อกฏหมาย หรือกฎระเบียบ รวมทั้งผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นให้รอบคอบ เพื่อจะได้ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
อย่างไรก็ตาม หากสามารถดำเนินการได้ก็จะทำให้ประเทศไทย ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำอุตสาหกรรมเครื่องสำอางในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แทนประเทศที่ส่งออกมากอยู่ในขณะนี้แล้ว คือ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ขณะที่การเพาะเลี้ยงสาหร่ายชนิดนี้ก็ทำได้ง่ายมาก เพียงแค่นำไปจมในระดับน้ำตื้น ผูกเชือกไว้ และกินสารอาหารที่อยู่ในทะเลตามธรรมชาติ ซึ่งหลังจากเพาะเลี้ยงไป 2 เดือนเศษ สาหร่ายก็จะเติบโตขึ้นกว่า 12 เท่า และนำไปจำหน่ายได้ นอกจากนั้น ผลจากการศึกษาของนักวิชาการประมงยังพบว่า การเพาะเลี้ยงสาหร่ายมีผลกระทบต่อปะการัง หญ้าทะเล หรือสิ่งแวดล้อมในท้องทะเลตรังน้อยมาก
ทั้งนี้ เนื่องสาหร่ายชนิดนี้จะมีการขยายพันธุ์โดยการแตกหน่อโดยสปอร์ จะลอยไปกับน้ำหรือลอยไปตกที่ไหนก็อาจจะไปงอกที่นั่น แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะลอยไปไม่ถึงแนวปะการัง หรือหญ้าทะเล เพราะมักกลายไปเป็นอาหารของสัตว์น้ำเสียก่อน อย่างไรก็ตาม ในอนาคตหากจะอนุญาตให้เพาะเลี้ยงกระทรวงเกษตรฯ ก็ต้องออกกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้ชัดเจน เพราะหากให้ผู้หนึ่งผู้ใดไปยึดพื้นที่ทะเลมาเพาะเลี้ยงก็ถือเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม นอกจากนั้น หากสามารถเพาะเลี้ยงได้อย่างจริงจังก็ควรจะมีการแจกจ่าย หรือจำหน่ายพันธุ์สาหร่ายให้กับเกษตรกร เนื่องจากในปัจจุบันยังหาพันธุ์สาหร่ายได้ยากอยู่