xs
xsm
sm
md
lg

อาชีวะเล็งแจกที่ ส.ป.ก.5 ไร่ จูงใจเด็กเรียนเกษตร!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมเด็จพระเทพฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดประชุมวิชาการองค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย “ศศิธารา” เล็งสร้างแรงจูงใจดึงเด็กมาเรียนเกษตรเพิ่มขึ้นหลังเด็กรุ่นใหม่ไม่นิมยมเรียนเกษตร เตรียมใช้กลยุทธ์แจกที่ ส.ป.ก.คนละ 3-5 ไร่ มัดใจให้สร้างบ้าน สร้างอาชีพ

วันนี้ (21 ก.พ.) เวลา 10.00 น. ที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีจังหวัดแพร่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานเปิดการประชุมทางวิชาการองค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย ระดับชาติ (อกท.) ครั้งที่ 32 ในพระราชูปถัมภ์ ภายใต้ชื่องานว่า “ยมหิน ถิ่นแพร่ อาชีวะเกษตรแฟร์ 54” ณ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีจังหวัดแพร่ โดยมีนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รมว.ศึกษาธิการ น.ส.นริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ รมช.ศึกษาธิการ นายเฉลียว อยู่สีมารักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา พร้อมด้วยอาจารย์ เจ้าหน้าที่ นักเรียน นักศึกษา และประชาชนเฝ้ารับเสด็จฯ

ทั้งนี้ การจัดงานประชุมทางวิชาการ อกท.ครั้งที่ 32 จะจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 21-26 ก.พ.นี้ โดยจะมีการคัดเลือกผลงานวิจัย 17 โครงการ แยกเป็นหมวดหมู่ของเมืองเกษตรกรรมในอนาคตที่เกี่ยวเนื่องกับพระราชดำริด้านการเกษตรที่ประกอบด้วย 4 เมือง ได้แก่ เมืองเทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ และพลังงานทดแทน เมืองอนุรักษ์ พันธุกรรมพืช เมืองสมุนไพร และเมืองสัตวศาสตร์ โดยแต่ละเมืองได้มีการนำเสนอผลงานวิชาการในด้านต่างๆ ของนักศึกษา และคณาจารย์จากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีจากทั่วประเทศที่น่าสนใจ อาทิ การผลิตน้ำมะเขือพวงพร้อมดื่มเพื่อช่วยลดคลอเลสเตอรอล การวิจัยนำกล้วยน้ำหว้ามาใช้ในการเลี้ยงกบลดต้นทุนอาหารเม็ด การปลูกวนิลาในพื้นที่ จ.แพร่ การวิจัยผลิตข้าวเหนียวดำ “พันธุ์ลืมผัว” นวัตกรรมโรงเรือนเลี้ยงไก่แบบปิดต้นทุนต่ำ การวิจัยพัฒนาไก่พันธุ์พื้นเมือง การเลี้ยงสุกรไม่มีไขมัน ยาสีฟันสมุนไพรผักเต้าลิ้น สารพัดกล้วยมาแปรรูปอาหารเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น
น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา - ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
น.ส.นริศรา กล่าวว่า ปัจจุบันมีนักศึกษามาเรียนเกษตรกรรมลดจำนวนลง เพราะค่านิยมไปเรียนเพื่อเข้าสู่สายสามัญ หรือสายอุตสาหกรรม และพาณิชยกรรม ทั้งที่ด้านการเกษตรอยู่ใกล้ชิดตัวนักศึกษา ดังนั้น จะต้องหาแรงจูงใจให้เด็กมาเรียนด้านการเกษตรเพิ่มมาขึ้นซึ่งเกษตรที่เรียนนั้นจะต้องสามารถสร้างรายได้ที่เอื้อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะฉะนั้น การเรียนเกษตรจะต้องมีการบูรณาการจากหลากหลายสาขาเข้าด้วยกัน เพื่อให้นักศึกษาเป็นเกษตรกรที่มีความรู้รอบด้าน และสามารถนำความรู้จากที่เรียนไปประกอบอาชีพให้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งนักศึกษาที่ประสบความสำเร็จจะส่งเสริมให้กลับมาเป็นอาจารย์ หรือเป็นวิทยากรไปสอน หรือถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรเพื่อช่วยแก้ปัญหาด้านการเพิ่มผลผลิต ตลอดจนนำผลผลิตไปแปรรูปด้วย

ด้าน น.ส.ศศิธารา กล่าวว่า ปีนี้มีการปรับรูปแบบการจัดงานโดยบูรณาการให้นักศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิค วิทยาลัยอาชีวศึกษา วิทยาลัยการอาชีพ และวิทยาลัยสารพัดช่างเข้ามามีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้องค์ความรู้ต่างๆ ทางการเกษตร จากเดิมที่จะมีการจัดงานในกลุ่มของวิทยาลัยเกษตรฯ 47 แห่งเท่านั้น นอกจากนี้จะมีการส่งเสริมแหล่งเรียนรู้ที่จัดทำขึ้นภายในงานนี้ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ถาวรให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ หรือทัศนศึกษาหลังจากเสร็จงาน ไม่ต้องรื้อทิ้งเหมือนที่ผ่านๆมา ซึ่งเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า

สำหรับแนวทางแก้ปัญหาเด็กรุ่นใหม่ไม่นิยมเรียนเกษตร ทางสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้พยายามสร้างแรงจูงใจเด็ก โดยได้ร่วมกับสำนักงานปฎิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร (ส.ป.ก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดโครงการสร้างและพัฒนาเกษตรรุ่นใหม่ขึ้น ซึ่งในปีการศึกษา 2554 นี้ จะคัดเลือกนักศึกษาจากวิทยาลัยเกษตรฯ จำนวน 300 คน เข้าร่วมโครงการ นอกจากนักศึกษาจะได้เรียนฟรีแล้ว หลังจบการศึกษาออกไปจะได้รับการจัดสรรที่ดิน ส.ป.ก.คนละ 3-5 ไร่ เพื่อใช้ในการประกอบอาชีพ ปลูกบ้าน พร้อมทั้งสนับสนุนแหล่งเงินทุนเป็นประเดิมจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ด้วย

เพื่อจูงใจเด็กมาเรียนเกษตร ในเบื้องต้นตนจะหารือกับทาง ส.ป.ก.ขอการสนับสนุนที่ดินไว้ก่อนล่วงหน้า จำนวน 1,000 ไร่ เพื่อเป็นการการันตีว่านักศึกษาจบแล้วจะได้รับจัดสรรที่ดินทำกินทันที” น.ส.ศศิธารา กล่าวทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น