xs
xsm
sm
md
lg

เมืองแพร่เล็งปั้น ร.ร.ต้นแบบ “หลักสูตรท้องถิ่น” หนุนห้องเรียนสมุนไพรเชื่อมชุมชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แพร่ - ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา เขต 2 ของเมืองแพร่ เล็งดัน “โรงเรียนบ้านค้างปินใจ” เป็นต้นแบบการจัดการศึกษาหลักสูตรท้องถิ่น หลังปั้นหลักสูตรการเรียนการสอนด้านสมุนไพร เชื่อมหมอพื้นบ้าน วัด โรงเรียน รวมทั้ง อปท.จนสร้างเครือข่ายได้อย่างเข้มแข็ง

นายสิทธิชัย กีรติคุณากร ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแพร่ เขต 2 ได้เปิดงาน “ข่วงผญา ภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้าน ต.แม่พุง” ขึ้นที่โรงเรียนบ้านค้างปินใจ ต.แม่พุง อ.วังชิ้น จ.แพร่ ระหว่าง 14-15 ก.พ.54 โดยมีหมอพื้นบ้าน ต.แม่พุง, หมอพื้นบ้าน อ.เด่นชัย, หมอพื้นบ้านจังหวัดแพร่ และจังหวัดลำปาง รวมทั้งโรงเรียนบ้านค้างปินใจ และชุมชนบ้านค้างปินใจ

โดยมีการจัดแสดงนิทรรศการชุดความรู้การรักษาพยาบาลดูแลสุขภาพในชุมชน ที่เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมและการนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์บำรุง รักษาร่างกายให้พ้นจากการเกิดโรคภัยไข้เจ็บ โดยใช้วิธีการรักษา และยาสมุนไพรที่หาได้ในชุมชน ซึ่งเมื่อมีภูมิปัญญาดังกล่าวแล้ว ชุมชนได้ช่วยกันอนุรักษ์ทั้งภูมิปัญญา และฐานทรัพยากรคือป่าสมุนไพร พร้อมทั้งทำการสืบทอดผ่านเยาวชนในระบบโรงเรียน พัฒนาเป็นหลักสูตรท้องถิ่นให้เยาวชนได้เรียนรู้ นำไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งมีการเชื่อมโยงระหว่างหมอพื้นบ้าน วัด และโรงเรียน รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำงานร่วมกัน

นายสมชาย ไชยเขียว ผอ.โรงเรียนบ้านค้างปินใจ กล่าวว่า การจัดหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียนคือการทำให้เยาวชนได้เรียนในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชุมชน เป็นการพัฒนาความรู้เดิมกลับมาใช้อีก โดยที่ชุมชนมีความถนัดและมีแหล่งทรัพยากรเป็นของตนเองไม่ต้องไปซื้อหา ทำให้เด็กนักเรียนเกิดความรู้สึกรักถิ่นฐานเห็นคุณค่าของชุมชนตัวเอง และอนาคตอาจทำให้เกิดรายได้สำหรับเยาวชนที่เรียนรู้ลึกไปจนประกอบอาชีพได้ นอกจากนี้ ยังมีการสร้างเครือข่ายโรงเรียน และเครือข่ายหมอพื้นบ้านได้มีโอกาสทำงานร่วมกัน

ด้านผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแพร่ เขต 2 กล่าวว่า การมาเป็นประธานเปิดงานดังกล่าวพบเห็นสิ่งดีๆ 3 ประเด็น คือ 1.การระดมภูมิปัญญาท้องถิ่นมาจัดเป็นหลักสูตรท้องถิ่นทำให้สามารถบูรณาการวิชาต่างๆ แล้วเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ามาจัดการศึกษาเป็นการสร้างความตระหนักในการรักท้องถิ่น แล้วนำมาถ่ายทอดสืบสานให้กับคนรุ่นหลังๆ

2.การปลุกกระแสจิตสำนึกของชุมชนให้กลับมามองเห็นคุณค่าภูมิปัญญาของตนเอง เห็นความสำคัญของทรัพยากรของท้องถิ่น หรือแม้กระทั่งการกินอาหารพื้นบ้านที่เกิดการแก้ปัญหาโรคภัยไปในตัว เมื่อคนในท้องถิ่นเข้าใจก็จะกินและเลือกปลูกทำให้สุขภาพดีขึ้นและลดปัญหาเศรษฐกิจไปด้วย

3.ที่เห็นคือการสร้างเครือข่ายของแต่ละชุมชนตั้งแต่ชุมชนใกล้เคียงและชุมชนข้ามจังหวัดเช่น แพร่-ลำปาง ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันเป็นประโยชน์มาก

ถือได้ว่าโรงเรียนบ้านค้างปินใจ เป็นโรงเรียนต้นแบบ ทำให้นักเรียนได้ซึมซับความเป็นท้องถิ่นวัฒนธรรมประเพณีได้เป็นอย่างดีและทางเขตพื้นที่การศึกษาแพร่เขต 2 จะทำการขยายผลโดยนำโรงเรียนที่มีศักยภาพมาดูการทำงานของโรงเรียนแห่งนี้ต่อไป

กำลังโหลดความคิดเห็น