xs
xsm
sm
md
lg

จุฬาราชมนตรีชี้ไทยต้องเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - จุฬาราชมนตรีชี้ไทยต้องเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาล ให้ได้มาตรฐาน และขยายตลาดให้กว้างขึ้น เนื่องจากยังเป็นรองคู่แข่งอีกหลายประเทศ

วันนี้ (21 ก.พ.) ที่ห้องประชุมโรงแรมโกลเด้น คราวน์ พลาซ่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี เดินทางมาเป็นประธานเปิดการอบรมสัมมนาโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการผลิตอาหารฮาลาลในพื้นที่จังหวัดสงขลา ซึ่งจัดขึ้นโดยฝ่ายกิจการฮาลาล สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา และองค์การบริหารจังหวัดสงขลา เพื่อให้ผู้ประกอบการมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการผลิตอาหารฮาลาลที่ถูกต้องตามหลักของศาสนาอิสลาม
 
รวมทั้งร่วมกันหาแนวทางในการขยายฐานการส่งออกอาหารฮาลาลไปยังกลุ่มประเทศอาหรับ และยุโรป โดยมีตัวแทนผู้ประกอบการ ทั้งโรงแรม ร้านอาหาร และบริษัทส่งออกอาหารฮาลาล กว่า 60 ราย เข้าร่วมการสัมมนาในครั้งนี้

นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี กล่าวว่า ปัจจุบันอาหารฮาลาลได้รับความนิยมจากคนทั่วโลกกว่า 1,200 ล้านคน เนื่องจากอาหารฮาลาลเป็นอาหารที่สะอาด และปลอดภัย แต่ผู้ประกอบการส่วนมากยังไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการผลิตอาหารฮาลาลที่ถูกต้องตามหลักของศาสนาอิสลาม เพราะผู้ประกอบการบางรายเพียงแค่คิดว่า ไม่มีหมูก็เป็นอาหารฮาลาลแล้ว ซึ่งความจริงไม่ใช่ ต้องรวมถึงขั้นตอน กระบวนการ และสถานที่ รวมทั้งภาชนะที่ใช้ในการประกอบอาหารนั้นด้วย

“ขณะนี้ผู้ประกอบการส่วนมากเริ่มตระหนัก และให้ความสำคัญกับอาหารฮาลาลมากขึ้น ซึ่งในจังหวัดสงขลามีบริษัท และสถานประกอบการ ที่ผ่านมาตรฐานการผลิตอาหารฮาลาลแล้วกว่า 60% และกำลังทยอยเข้าขอจดทะเบียนอย่างต่อเนื่อง”

นอกการการผลิตอาหารฮาลาล เพื่อการบริโภคภายในประเทศแล้ว ตลาดต่างประเทศก็มีความสำคัญ โดยส่วนใหญ่แล้วตลาดการส่งออกอาหารฮาลาลของไทยจะอยู่ในกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นหลัก ส่วนตลาดประเทศกลุ่มตะวันออกกลาง และยุโรป นั้น การส่งออกยังถือว่าน้อยอยู่ เนื่องจากอาหารฮาลาลของไทยส่วนมากจะเป็นผลิตภัณฑ์จำพวกอาหารทะเล ซึ่งไม่เป็นที่นิยมบริโภคมากนักในกลุ่มประเทศดังกล่าว

อีกทั้งกลุ่มประเทศยุโรป เช่น ฝรั่งเศส และ ออสเตรเลีย ก็เป็นคู่แข่งสำคัญที่ส่งออกอาหารฮาลาลมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยเน้นการเจาะตลาดกลุ่มประเทศอาหรับ และส่งออกอาหารหนัก ทั้ง ไก่ และเนื้อวัว ซึ่งเป็นที่นิยมของกลุ่มผู้บริโภค นอกจากนั้น ยังให้ความสำคัญตั้งแต่อาหารที่ให้สัตว์กิน เช่น หญ้า ก็ได้ขอจดทะเบียนรับรองว่า เป็นอาหารฮาลาลอีกด้วย ต่างกับของประเทศไทยที่ขอจดทะเบียนเพียงแค่ตัวสัตว์เท่านั้น

ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการผลิตอาหารฮาลาลของไทยต้องนำไปคิด และร่วมกันหาแนวทางที่จะพัฒนาอาหารฮาลาลของไทยให้มีคุณภาพ และตรงกับความต้องการของผู้บริโภคแต่ละกลุ่ม เพื่อที่จะสามารถเจาะตลาดใหม่ๆ และเพิ่มส่วนแบ่งทางการค้าอาหารฮาลาลให้มากขึ้นในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น