xs
xsm
sm
md
lg

บสย.เชื่อปี 54 ผู้ประกอบการต้องการทุนเพิ่มรับราคาผลผลิตเกษตรราคาพุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - บสย. สงขลาเผยผลงานการค้ำประกันธสินเชื่อ แก่อุตสาหกรรมขนาดกลาง-เล็กเป็นไปด้วยดี พร้อมเปิดกลยุทธ์เชิงรุก “คนกู้ คนลงทุน พบแบงค์” ชี้หลังจากสินค้าราคาเกษตรเพิ่มจะเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการหันมาใช้บริการ บสย.มากขึ้น เพื่อเป็นเงินทุนในการซื้อผลผลิตที่ราคาสูงขึ้น

นายเอกพร นิโรจน์ ผู้จัดการบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) สำนักงานจังหวัดสงขลา ซึ่งรับผิดชอบ 8 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ได้แก่ สงขลา, นครศรีธรรมราช, ตรัง, พัทลุง, สตูล, ยะลา, ปัตตานี, และนราธิวาส เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานค้ำประกันสินเชื่อตั้งแต่ต้นปี 2553 โดยได้ให้การค้ำประกันสินเชื่อภายใต้โครงการ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 1 ( PGS 1 ) วงเงิน 30,000 ล้านบาท โดยสามารถค้ำประกันได้ครบถ้วนภายในระยะเวลา 1 ปี ตามที่รัฐบาลกำหนด นับตั้งแต่วันที่ 6 มี.ค. 2552 - 5 มี.ค. 2553 นั้น

ต่อมาได้ให้การค้ำประกันสินเชื่อภายใต้โครงการ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 2 ( PGS 2 ) อีก 30,000 ล้านบาท ช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. - 31 ธ.ค.2553 พบว่าได้รับการตอบรับด้วยดีจากผู้ประกอบการเช่นเดิม โดย ณ 31 ธ.ค.2553 บสย.สำนักงานจังหวัดสงขลา ได้ค้ำประกันสินเชื่อรวม 520 ราย วงเงิน 1,546 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายจำนวน 354 ล้านบาทเนื่องจากโครงการ PGS 2 วงเงิน 30,000 ล้านบาท ได้ค้ำประกันเต็มวงเงินก่อนสิ้นสุดโครงการ ตั้งแต่เดือนพ.ย.2553

ภาคใต้ตอนล่างยังประสบกับอุทกภัยในช่วงเดือน พ.ย.2553 ผู้ประกอบการ SMEs ส่วนใหญ่ได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดสงขลาซึ่งเป็นหัวเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญได้รับผลกระทบมากที่สุด ธนาคารจึงได้มุ่งเน้นที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการเดิมด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยและปรับตารางชำระหนี้ใหม่ จึงทำให้การพิจารณาสินเชื่อใหม่ชะลอตัวในเดือน พ.ย.-ธ.ค.2553 รวมถึงสินเชื่อ SMEs ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังชะลอตัวอีกด้วย

“สำหรับในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้ว่า บสย.จะเปิดกว้างให้ผู้ประกอบการในทุกประเภทธุรกิจสามารถใช้ค้ำประกันสินเชื่อได้ แต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการได้ เนื่องจากติดขัดปัญหาการพิจารณาสินเชื่อที่เข้มงวดของธนาคารพาณิชย์ ทำให้ไม่ได้รับอนุมัติ จะเห็นได้จากมีผลค้ำประกันสินเชื่อโครงการ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 2 ( PGS 2 ) เพียง 30.87 ล้านบาท จากเดิม PGS 1 ค้ำประกัน 75.89 ล้านบาท หรือลดลง 59.32%”

นายเอกพร ยังกล่าวอีกว่า ธุรกิจในภาคใต้ตอนล่างที่มีแนวโน้มที่ดี ได้แก่ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับจัดสรรงบประมาณเพื่อก่อสร้างส่วนราชการแห่งใหม่ในจังหวัดนราธิวาส ตลอดจนการก่อสร้างและปรับปรุงซ่อมแซมสาธารณูปโภคภายในพื้นที่ รองลงมาธุรกิจยางและผลิตภัณฑ์ยางพารา ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคใต้ แต่ปัจจุบันยางพาราได้ปรับราคาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ประกอบการ SMEs ต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนเพิ่มซื้อยางพาราเพิ่มขึ้นด้วย

สุดท้าย ธุรกิจกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร เนื่องจากในปี 2553 ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลง เกิดน้ำท่วมในพื้นที่การเกษตรหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทย ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน จึงคาดว่าผลผลิตภาคการเกษตรจะออกสู่ตลาดน้อย และมีแนวโน้มจะปรับราคาเพิ่มขึ้น

“นับตั้งแต่ บสย.เปิดดำเนินการในส่วนสำนักงานจังหวัดสงขลา ได้อนุมัติค้ำประกันสินเชื่อ ณ สิ้นปี 2553 รวมจำนวน 2,282 ราย วงเงินอนุมัติ 5,659.56 ล้านบาท นอกจากนี้ยังคงเน้นการทำตลาดเชิงรุก โดยการเปิดคลินิกการค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อให้คำปรึกษาและช่วยเหลือ SMEs ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น ซึ่งได้จัดกิจกรรมไปแล้วทั่วภูมิภาคของประเทศ ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคอีสาน และภาคใต้” นายเอกพร กล่าวต่อว่า

ภาคใต้ตอนล่างมีโครงการจะช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ด้วยการจัดคลินิกค้ำประกันสินเชื่อร่วมกับกลุ่มพันธมิตร อาทิหอการค้า สภาอุตสาหกรรม ส่วนราชการ และธนาคาร โดยในปี 2554 บสย.สำนักงานจังหวัดสงขลา จะจัดคลินิกค้ำประกันสินเชื่อรวม 8 ครั้ง และหากผู้ประกอบการ SMEs ที่มีความประสงค์จะขอสินเชื่อ แต่มีหลักประกันไม่เพียงพอ และไม่สามารถขอสินเชื่อได้เต็มวงเงินที่ต้องการ ผู้ประกอบการสามารถขอให้ค้ำประกันสินเชื่อได้

โดยการจัดคลินิก ระหว่างนักลงทุน นักธุรกิจ พบกับสถาบันการเงิน โดยมีพันธมิตร หอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด ส่วนราชการ ธนาคาร มาพบกันพูดคุยกัน โดยทางหอการค้า สภาอุตสาหกรรม จะเป็นผู้เชิญมา เมื่อมีการตกลงกัน ทาง บสย.ก็จะเข้าค้ำประกันให้ ซึ่งจัดมาแล้วทางภาคอีสานประสบความสำเร็จด้วยดี ส่วนทางภาคใต้เพิ่มเริ่มจัดรูปแบบนี้

นายเอกพร กล่าวอีกว่า ในปี 2554 ธุรกิจที่อนาคตดี จะเป็นสินค้าทางด้านการเกษตร และอาหาร จะเห็นได้ว่าต่างประเทศมีคำสั่งซื้อเข้ามาเป็นจำนวนมากจนสินค้าเกษตร อาหารไม่เพียงพอ และมีการกักตุนเก็งกำไรเกิดขึ้น จนสินค้าเกษตร อาหารสูงขึ้นมาก นักธุรกิจจึงมีความจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนมากขึ้น จึงจะต้องเข้าหันมาใช้บริการสถาบันการเงิน และ บสย.
กำลังโหลดความคิดเห็น