xs
xsm
sm
md
lg

SMEsโคม่า อ่วมทะลุ 2.8 แสนราย สสว.เสนอ 5 มาตรการด่วนกู้วิกฤต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายยุทธศักดิ์ สุภสร
สสว.เตรียมเสนอ 5 มาตรการด่วน ช่วยเยียวยาและฟื้นฟู SMEs หลังสำรวจความเสียหายเบื้องต้นกระทบผู้ประกอบการแล้วกว่า 2.85 แสนราย มูลค่าเฉลี่ยเดือนละ 50,000 ล้านบาท แรงงาน 800,000 คนส่อถูกเลิกจ้าง เผย SMEs กว่า 60% ต้องการให้ช่วยเหลือเรื่องเงินทุน สำหรับปรับปรุงเครื่องจักร และสถานประกอบการให้กลับมาดำเนินกิจการเร็วที่สุด

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยถึง 5 มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs เพื่อเสนอรัฐบาล ว่า จากเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ของไทย ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ 30 จังหวัดทั่วประเทศ ประมาณ 285,000 ราย (คำนวณจากจำนวนธุรกิจ SMEs ในพื้นที่ และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย) ส่งผลกระทบต่อแรงงานประมาณ 800,000 ราย คิดเป็นความเสียหายเดือนละ 50,000 ล้านบาท ดังนั้น สสว.จึงได้เตรียมเสนอ 5 มาตรฐานต่อรัฐบาล เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการทั้งในระยะสั้นและยาว ได้แก่ 1.การเสริมสภาพคล่องทางการเงิน โดย สสว.เจรจากับธนาคารของรัฐ ให้มีการพักหนี้ให้แก่ผู้ประกอบการ จัดวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติม ผ่อนปรนหลักเกณฑ์การขอสินเชื่อ ซึ่งอาจใช้เงินของ สสว.ชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการประมาณ 2-3% รวมถึงการขอลดหย่อนภาษี และงดเว้นเงินประกันสังคม เป็นต้น

2.ด้านการพยุงการจ้างงาน เป็นมาตรการเพื่อช่วยเหลือแรงงานโดยเฉพาะ เสนอสินเชื่อชะลอการเลิกจ้าง ในขณะที่หากโรงงานใดต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตสินค้าบางชนิดหลังน้ำลด ทางรัฐบาลอาจจะช่วยสนับสนุนในเรื่องค่าแรงบางส่วนให้ เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ นอกจากนี้ทาง สสว.จะทำการฝึกทักษะแรงงานระยะสั้นให้แก่คนตกงาน และเลิกจ้าง 3.รักษาห่วงโซ่อุปทาน เพื่อเชื่อมโยงอุปทานด้านการผลิตให้ครบถ้วน และสามารถผลิตสินค้าต่อไปได้ ซึ่งที่ผ่านมาทาง สสว.ก็ได้มีการจัดตั้ง SMEs Office Park และ Factory Park เพื่อให้เป็นสถานที่ทำงาน และโรงงานผลิตสินค้าชั่วคราว ช่วยให้ผู้ประกอบการกลับมาดำเนินกิจการได้เร็วที่สุด รวมถึงให้บริษัทใหญ่ช่วยเหลือบริษัทขนาดเล็ก ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านอุปทานห่วงโซ่อยู่เดิม โดยบริษัทที่ให้การช่วยเหลือแรงงานจะได้รับสิทธิพิเศษด้านภาษี

4.ด้านการพลิกฟื้นธุรกิจ ด้วยการตั้ง 'คลินิก อุตสาหกรรม ส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปซ่อมแซมเครื่องจักร และฟื้นฟูสถานประกอบการ รวมถึงให้รัฐบาลมีนโยบายจัดซื้อสินค้าของผู้ประกอบการ SMEs ที่ประสบภัยน้ำท่วมมากขึ้น และมาตรการที่ 5 คือ การเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ มุ่งเน้นไปที่แรงงานถูกเลิกจ้าง โดยพัฒนาผู้ประกอบการผ่านหย่วยบ่มเพาะของสถาบันการศึกษาต่างๆ พร้อมเสนอรัฐฯ เพิ่มวงเงินสินเชื่อให้แก่ธุรกิจแฟรนไชส์ และขายตรงมากขึ้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดธุรกิจใหม่อีกทางหนึ่ง

นอกจากนี้ที่ผ่านมา สสว. ได้เปิดศูนย์ประสานความช่วยเหลือ SMEs ที่ประสบภัยน้ำท่วม เพื่อเป็นช่องทางให้ SMEs ทั่วประเทศ สามารถแจ้งความเสียหายที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมเข้ามาที่ สสว. Call Center หมายเลขโทรศัพท์ 1301 ซึ่ง สสว. จะทำการประสานงานและส่งต่อข้อมูลของผู้ประกอบการ SMEs ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความช่วยเหลือ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ช่วงกลางเดือนตุลาคม 2554 ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้มีผู้ประกอบการ SMEs ติดต่อเพื่อขอรับความช่วยเหลือเข้ามาที่ศูนย์ประสาน SMEs ไม่น้อยกว่า 100 ราย

“SMEs ที่ติดต่อเข้ามาที่ สสว. Call Center 1301 ส่วนใหญ่ คิดเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ต้องการความช่วยเหลือด้านการเงิน เช่น เงินช่วยเหลือเพื่อซ่อมแซมและเคลื่อนย้ายเครื่องจักร รวมถึงปรับปรุงสถานประกอบการที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม สอบถามเรื่องเกี่ยวกับเงื่อนไขในการพักชำระหนี้ โอกาสในการขยายวงเงินสินเชื่อ รวมถึงการขอสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนในการดำเนินธุรกิจ และจำนวนไม่น้อยกว่า 30% ต้องการให้ สสว. ช่วยประสานหน่วยงานต่างๆ ในการให้ความช่วยเหลือเร่งด่วน นอกจากนี้ผู้ประกอบการ SMEs รวมถึงประชาชนทั่วไป จำนวนไม่น้อยกว่า 50% มีการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ รวมถึงเบอร์โทรศัพท์เพื่อติดต่อหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือ SMEs ในด้านต่างๆ อีกด้วย” ผอ.สสว. กล่าว

อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการให้ความช่วยเหลือพร้อมๆ ไปกับการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs สสว. จะนำข้อมูลจากศูนย์ประสาน SMEs ไปใช้ในการจัดทำแผนการให้ความช่วยเหลือ SMEs ที่ประสบอุทกภัย ให้สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างเข้มแข็ง มั่นคง และยั่งยืน
กำลังโหลดความคิดเห็น