xs
xsm
sm
md
lg

สสว. ชงตั้ง SMEs Office Park ประคองธุรกิจเดินเครื่องชั่วคราว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
สสว. เตรียมเสนอรัฐบาลตั้ง SMEs Office Park และ Factory Park เพื่อเป็นสถานประกอบการชั่วคราว เร่งเอสเอ็มอีกลับมาเดินเครื่องเร็วที่สุด ชี้ภาครัฐต้องเป็นเจ้าภาพจัดหาสถานที่และสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานรองรับ เผยน้ำท่วมซัดเอสเอ็มอีอ่วมแล้วกว่า 115,000 ราย ฉุดจีดีพีเอสเอ็มอี ร่วง 1.7-1.8% ซึมยาว 6 เดือน กังวลรายจิ๋วนอกระบบหล่นสำรวจ ถูกเมินช่วยเหลือ

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า จากที่ สสว. ได้ปรึกษาขอข้อแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีประสบการณ์ในการฟื้นฟูธุรกิจ โดยเฉพาะระดับกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) ที่ได้รับผลกระทบจากภัยสึนามิเมื่อตอนต้นปีที่ผ่านมา โดยผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่นได้แนะนำรูปแบบให้มีการจัดตั้ง SMEs Office Park และ Factory Park เพื่อให้เป็นสถานที่ทำงาน และโรงงานผลิตสินค้าชั่วคราว ช่วยให้ผู้ประกอบการกลับมาดำเนินกิจการได้อย่างรวดเร็วที่สุด

ทั้งนี้ รูปแบบของ SMEs Office Park และFactory Park ควรจะเป็นสถานที่ ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับบริเวณพื้นที่เดิมของผู้ประกอบการ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกต่อการประกอบธุรกิจ เช่น ผู้ได้รับผลกระทบจาก จ.อยุธยา อาจหาสถานที่ตั้งภายในจังหวัดที่ไม่ได้รับผลกระทบ เป็นต้น ซึ่งภายในต้องมีสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ และสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็น เพียงพอที่จะทำให้ผู้ประกอบการพอจะประคับประคองธุรกิจให้เดินหน้าไปได้อย่างน้อย 6 เดือน ก่อนที่สถานประกอบการจริงจะกลับสู่ภาวะปกติ

“ประเด็นสำคัญที่ผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นแนะนำ คือ ต้องเร่งให้ผู้ประกอบการกลับมาทำธุรกิจได้เร็วที่สุด โดยเฉพาะระดับเอสเอ็มอีที่สายป่านไม่ยาว หากปล่อยให้หยุดกิจการนานเท่าใด ผลกระทบจะยิ่งมากขึ้น ซึ่งช่วงเวลานี้ ถือเป็นช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะมีออเดอร์รออยู่แล้ว แต่เขาไม่มีสถานที่จะดำเนินธุรกิจ หรือผลิตสินค้า รวมถึง ส่งสินค้าได้ ดังนั้น การตั้ง SMEs Office Park และ Factory Park จะช่วยให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ชั่วคราว บรรเทาผลกระทบได้อย่างมาก โดยทางภาครัฐต้องเข้ามาสนับสนุนในด้านการหาสถานที่เหมาะสม รวมถึง จัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน ซึ่ง สสว. จะเร่งนำรูปแบบเสนอแก่รัฐบาลเพื่อดำเนินการอย่างเร่งด่วนต่อไป” นายยุทธศักดิ์ ระบุ

สำหรับแนวทางการช่วยเหลือเอสเอ็มอีของ สสว. ด้านแรกจะเชิญผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบต่างๆ มาหารือถึงแนวทางเยี่ยวยาฟื้นฟูธุรกิจ เพื่อเป็นตัวแทนเสนอต่อรัฐบาลต่อไป ซึ่งจะเป็นข้อเสนอทั้งระยะสั้น และยาว นอกจากนั้น สสว. จะเดินสายสำรวจพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบ รวมถึง สอบถามเอสเอ็มอีในพื้นที่ เพื่อรับทราบถึงความต้องการ เพื่อนำมาจัดทำโครงการช่วยเหลือต่อไป

ผอ.สสว. เผยด้วยว่า จากการสำรวจของสสว. ถึงประมาณสิ้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมแล้วถึงกว่า 115,000 ราย กระจายอยู่ในพื้นที่กว่า 28 จังหวัด กระทบต่อ GDP SMEs ลดลง 1.7-1.8% ซึ่งคาดว่า อย่างน้อยต้องใช้เวลาถึง 6 เดือน กว่าที่เอสเอ็มอีจะกลับมาดำเนินธุรกิจได้ปกติดั้งเดิม

ทั้งนี้ สาขาธุรกิจเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก คือ ภาคผลิต และภาคบริการ ได้แก่ กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และผู้ผลิตอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อป้อนโรงงานผลิตขนาดใหญ่ รวมถึง ธุรกิจท่องเที่ยว และบริการต่อเนื่องทั้งหมด ส่วนภาคการค้า ถือเป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้รับกระทบค่อนข้างน้อย

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลดังกล่าวเป็นเพียงการสำรวจจากเอสเอ็มอีที่อยู่ในระบบเท่านั้น ทว่า ในความเป็นจริง ยังมีเอสเอ็มอีที่อยู่นอกระบบอีกมาก ซึ่งได้รับผลกระทบเช่นกัน ดังนั้น ภาครัฐควรหามาตรการเพื่อเยียวยาเอสเอ็มอีกลุ่มนี้ด้วยเช่นกัน

“จากการประเมินความเสียหายจากภัยน้ำท่วมครั้งนี้ ถือว่ารุนแรงกว่าภัยสึนามิทางภาคใต้ของไทยเสียอีก และเป็นครั้งแรกที่ผลกระทบโจมตีภาคธุรกิจโดยตรง ยังไม่รวมความเสียหายจากโอกาสทางธุรกิจที่สูญเสียไป ซึ่งไม่สามารถประเมินได้ ยิ่งกว่านั้น ในส่วนของเอสเอ็มอีรายจิ๋วๆ ที่อยู่นอกระบบอีกมหาศาล ซึ่งเป็นกลุ่มที่จะตกสำรวจไม่ได้รับการเยียวยา และไม่สามารถเข้าถึงสถาบันการเงินได้ ในที่สุด จะกลายเป็นปัญหาระยะยาว ซ้ำเติมต่อทั้งภาคเศรษฐกิจและสังคมต่อไป” นายยุทธศักดิ์ เผย
กำลังโหลดความคิดเห็น