ครม.คลอดมาตรการช่วยเหลือ SMEs ประสบภัยน้ำท่วมและเจอผลกระทบจากนโยบายขึ้นค่าแรง 300 บาท แบ่งเป็น 2 ด้าน คือ 1. มาตรการทางการเงิน ออก 5 โครงการสินเชื่ออัตราพิเศษ วงเงินรวม 2 หมื่น ลบ. และ 2. มาตรการทางภาษี นำค่าใช้จ่ายในการพัฒนาเครื่องจักร และส่วนต่างค่าจ้างที่ปรับขึ้นมาหักลดหย่อนภาษีได้ แจงกำหนดเกณฑ์เฉพาะเอสเอ็มอีที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ลบ. และรายได้ไม่เกิน 30 ลบ.ต่อปี
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ และนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมกันแถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันนี้ (24 เม.ย.) โดยเปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.มีมติให้ความเห็นชอบมาตรการเพิ่มขีดความสามารถธุรกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการพัฒนาผลิตภาพการผลิต การสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการลดภาระต้นทุนค่าแรง รวมทั้งเป็นการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ผ่านมาตรการทางการเงินและมาตรการภาษี
ทั้งนี้ แนวทางความช่วยเหลือ SMEs จะแบ่งเป็น 2 ด้าน กล่าวคือ 1. ด้านการเงิน และ 2. ด้านมาตรการภาษี โดยรายละเอียด ได้แก่
1. มาตรการทางการเงิน
1.1 โครงการสินเชื่อเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิต (Productivity Improvement Loan) โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) สนับสนุนสินเชื่ออัตราพิเศษ เพื่อให้ผู้ประกอบการที่เป็นวิสาหกิจขนาดย่อมนำไปใช้ในการพัฒนาเครื่องจักรหรือกระบวนการทำงาน มีวงเงินโครงการรวม 20,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ สำหรับสินเชื่อเพื่อพัฒนาเครื่องจักร ระยะเวลากู้ยืมสูงสุด 7 ปี และสำหรับสินเชื่อเพื่อพัฒนากระบวนการทำงาน ระยะเวลากู้ยืมสูงสุด 5 ปี โดยสินเชื่อทั้ง 2 ประเภทมีอัตราดอกเบี้ย 2 ปีแรกอยู่ที่ MLR-3 ปีที่ 3 เป็นต้นไปอยู่ที่ MLR มีวงเงินกู้ยืมสูงสุดต่อรายไม่เกิน 5 ล้านบาท และไม่จำเป็นต้องมีหลักประกัน ซึ่งผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการสนับสนุนในการวินิจฉัยสถานประกอบการพร้อมกับการให้คำปรึกษาและอบรมจากผู้เชี่ยวชาญที่ภาครัฐจัดให้ควบคู่ไปด้วย ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถยื่นคำขอต่อเอสเอ็มอีแบงก์ได้ภายใน 2 ปีนับแต่วันนี้
1.2 โครงการค้ำประกันสินเชื่อในลักษณะ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 4 (PGS ระยะที่ 4) โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นการค้ำประกันสินเชื่อที่สถาบันการเงินปล่อยให้แก่ SMEs ที่มีศักยภาพแต่มีหลักประกันไม่เพียงพอในลักษณะ Portfolio มีวงเงินค้ำประกันรวม 24,000 ล้านบาท ระยะเวลาค้ำประกันสูงสุด 5 ปี วงเงินค้ำประกันสูงสุดต่อรายไม่เกิน 40 ล้านบาท มีค่าธรรมเนียมค้ำประกันต่อปีอยู่ที่ร้อยละ 1.75 ของยอดค้ำประกันคงค้าง ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถยื่นคำขอต่อสถาบันการเงินที่ใช้บริการอยู่ได้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2555
1.3 โครงการค้ำประกันสินเชื่อในลักษณะ Portfolio Guarantee Scheme สำหรับผู้ประกอบการใหม่ (PGS New/Start-up) โดย บสย. เป็นการค้ำประกันสินเชื่อให้ SMEs ที่เพิ่งเริ่มกิจการใหม่ไม่เกิน 2 ปี ในลักษณะ Portfolio มีวงเงินค้ำประกันรวม 10,000 ล้านบาท ระยะเวลาค้ำประกันสูงสุด 7 ปี วงเงินค้ำประกันสูงสุดไม่เกิน 2 ล้านบาท มีค่าธรรมเนียมค้ำประกันต่อปีอยู่ที่ร้อยละ 2.5 ของยอดค้ำประกันคงค้าง โดยรัฐบาลจะชดเชยค่าธรรมเนียมให้ในปีแรก นอกจากนี้ SMEs ที่เข้าร่วมโครงการจะสามารถเข้ารับการฝึกอบรมจากหน่วยงานที่ภาครัฐจัดให้ควบคู่ไปด้วย ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถยื่นคำขอต่อสถาบันการเงินที่ใช้บริการอยู่ได้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2555
1.4 กองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน ให้ SMEs กู้ยืมเพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.1 ต่อปี วงเงินกู้ยืมสูงสุดต่อรายไม่เกิน 42,000 บาท ระยะเวลากู้ยืมสูงสุด 4 ปี ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถติดต่อกรมพัฒนาฝีมือแรงงานหรือหน่วยงานในสังกัดได้โดยตรงภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2555
1.5 โครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน (ผ่านกองทุนประกันสังคม) ให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อที่มีเงื่อนไขผ่อนปรน (โดยอาศัยแหล่งเงินทุนจากกองทุน) ให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากค่าแรงที่เพิ่มขึ้นสำหรับใช้เป็นเงินทุนในการเสริมสภาพคล่อง หรือเพิ่มผลิตภาพการผลิต เพื่อเป็นการรักษาการจ้างงานไว้ โครงการนี้มีวงเงินรวมอยู่ที่ 10,000 ล้านบาท วงเงินกู้ยืมสูงสุดต่อรายไม่เกิน 4 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับจำนวนการจ้างงาน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถติดต่อกับสำนักงานประกันสังคมได้โดยตรงภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2555
2. มาตรการภาษี
2.1 มาตรการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในส่วนที่เป็นเงินได้ที่มาจากการขายเครื่องจักรเก่าเพื่อซื้อเครื่องจักรใหม่ มีระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์สำหรับการขายเครื่องจักรตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 ถึง 31 ธันวาคม 2555
2.2 มาตรการหักค่าเสื่อมเครื่องจักร โดยให้หักค่าเสื่อมราคาของเครื่องจักรใหม่ได้ร้อยละ 100 ในปีแรก มีระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์สำหรับการหักค่าเสื่อมเครื่องจักรตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 ถึง 31 ธันวาคม 2555
2.3 มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ โดยให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 1.5 เท่าของส่วนต่างค่าแรงที่เพิ่มขึ้นจากเดิมเป็น 300 บาทต่อวัน ระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ตั้งแต่วันที่เริ่มใช้ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทตามที่รัฐบาลประกาศกำหนด (1 เมษายน 2555) ถึง 31 ธันวาคม 2555
ทั้งนี้ SMEs ที่เข้าข่ายได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีในที่นี้ หมายถึง 1) นิติบุคคลทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี มีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 200,000 กว่าราย และ 2) บุคคลธรรมดาที่มีเงินได้เข้าข่ายตามมาตรา 40 (5) (6) (7) และ (8) มีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 500,000 กว่าราย