xs
xsm
sm
md
lg

สตูลเร่งพัฒนาการเลี้ยงแพะสู่อุตสาหกรรม “ฮาลาล”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สตูล - จังหวัดสตูลเร่งพัฒนาปรับปรุงการเลี้ยงแพะสู่อุตสาหกรรมฮาลาล 5 จังหวัดชายแดนใต้ ขณะเกษตรกรเลี้ยงแพะสตูลยอมรับแพะขาดตลาด ผลิตได้เพียง 20% ของความต้องการตลาด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จังหวัดสตูลจัดตั้งโรงเรียนปศุสัตว์ (แพะ) หมู่ที่ 8 ต.ท่าแพ อ.ท่าแพ จ.สตูล เป็นแหล่งรวบรวมปัญหาการเลี้ยงแพะ การขยายพันธุ์ ปรับปรุงพันธุ์แพะ เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงแพะแก่กลุ่มเกษตรในพื้นที่จังหวัดสตูล เข้าสู่ตลาดอาหารฮาลาล 5 จังหวัดชายแดนใต้ โดยทางจังหวัดเร่งส่งเสริมเกษตรกรเพิ่มจำนวนแพะให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด

ทั้งนี้ นายสุเมธ ชัยเลิศวณิชกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เป็นประธานพิธีมอบปัจจัยการผลิต โครงการส่งเสริมและพัฒนาการเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ปี 2553 กิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเลี้ยงแพะแก่เกษตรกรเลี้ยงแพะ โดยมอบพันธุ์แพะจำนวน 6 กลุ่มๆละ 40 ตัว รวม 240 ตัว อาหารแพะกลุ่มละ 200 กิโลกรัม รวมทั้งเมล็ดหญ้าให้เกษตรกรได้ใช้ปลูกเป็นอาหารเลี้ยงแพะ

พร้อมกันนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลกล่าวว่า ร้อยละ 80 ของประชากรจะนับถือศาสนาอิสลาม โดยส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพการเกษตร ได้แก่สวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน สวนผลไม้ และจะเลี้ยงแพะเป็นอาชีพเสริม 3-5 ตัวต่อครัวเรือน โดยมีเป้าหมายเพื่อใช้สำหรับการบริโภค ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และวัฒนธรรมการเลี้ยงแพะของเกษตรกรส่วนใหญ่ใช้การเลี้ยงแบบปล่อยหรือผูกล่าม ไม่มีโรงเรือน ไม่มีแปลงหญ้า จึงพบว่าแพะที่เลี้ยงให้ลูกน้อยและมีอัตราการตายสูง

จากตัวเลขทางสถิติพบว่า ความต้องการในการบริโภคแพะของประชากรกลุ่มดังกล่าวมีมากกว่าผลผลิตจนต้องมีการนำเข้าแพะจากจังหวัดนอกพื้นที่ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลทางศาสนา

ดังนั้น จึงมีความจำเป็นในการเร่งรัด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงแพะให้กับเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ โดยเพิ่มขนาดการเลี้ยงให้สมดุลกับแรงงานและสภาพแวดล้อม รวมทั้งลดอัตราการตายอันเนื่องมาจากการขาดแคลนอาหาร เป็นโรค และการจัดการเลี้ยงดูไม่ถูกสุขลักษณะ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้เกิดขึ้นในพื้นที่ ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลได้มุ่งพัฒนาให้เกิดอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลขึ้นในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร

เนื้อแพะเป็นสินค้าฮาลาลที่สำคัญประเภทหนึ่ง แต่เนื่องจากปริมาณการเลี้ยงแพะยังเป็นเพียงการเลี้ยงแบบรายย่อยมีปริมาณไม่เพียงพอกับการบริโภค และการนำเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม เพื่อรองรับนโยบายดังกล่าว จึงมีความจำเป็นต้องเร่งรัดส่งเสริมการเลี้ยงแพะเชิงพาณิชย์ให้เกษตรกรมีพันธุ์แพะ เทคนิคการเลี้ยงแพะ ขนาดการเลี้ยงให้ได้มาตรฐาน เพื่อนำไปสู่อุตสาหกรรมฮาลาล โดยการนำเอาพื้นที่ในสวนปาล์มมาใช้ให้เกิดประโยชน์

ด้าน นายนิติภูมิ หลงเก อายุ 59 ปี บ้านเลขที่ 56 ม.8 ต.ท่าแพ อ.ท่าแพ (ประธานกลุ่มเลี้ยงแพะท่าแพ) กล่าวถึงแนวคิดในการเลี้ยงแพะ มีอยู่ 2 ประการ คือ 1.ในพื้นที่อำเภอท่าแพ มีเกษตรกรปลูกข้าวโพดหวานจำนวนมาก ในแต่ละปีมีข้าวโพดเป็นพันตันต่อปี เหมาะที่จะเป็นอาหารสัตว์โดยเฉพาะแพะซึ่งลดต้นทุนด้านอาหาร2.สืบเนื่องจากปัญหาในชุมชนต่างคนต่างอยู่ เด็กไม่ได้เรียนหนังสือ ควรจัดตั้งกลุ่มเลี้ยงแพะ

สำหรับตลาดแพะอยู่ในเขตอำเภอ เพราะเมื่อแพะได้รับความสนใจกับเกษตรกรแล้ว ก็จะเข้ามาหาซื้อพันธุ์แพะไปเลี้ยง มีลูกค้าเข้ามาหาซื้อไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนา รวมถึงหาซื้อไปแก้บนบานต่างๆ ถือว่ายังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด เกษตรสามารถผลิตแพะได้เพียง 20% ของความต้องการแพะเท่านั้น แต่ในอนาคตทางกลุ่มจะเข้าสู่ตลาดอุตสาหกรรมฮาลาล ทั้งนี้ก็ต้องขยายเครือข่ายออกไป

นายอุสมาน สะยะมิง ปศุสัตว์จังหวัดสตูล เปิดเผยว่ การดำเนินการกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเลี้ยงแพะ ตั้งแต่ปี 2551-2553 มีกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะรายย่อยทั้งหมด 22 กลุ่ม/ 250 ราย และเชิงพาณิชย์ 1 ฟาร์ม/1 ราย อ.เมืองสตูล 2 กลุ่ม/30 ราย อ.ละงู 4 กลุ่ม/55 ราย อ.ทุ่งหว้า 2 กลุ่ม/ 25 ราย อ.ควนกาหลง 3 กลุ่ม/40 ราย อ.ท่าแพ 4 กลุ่ม/55 ราย อ.มะนัง 3 กลุ่ม/ 40 ราย มีการเลี้ยงแพะเชิงพาณิชย์ 1ฟาร์ม/ 1 ราย เกษตรกรส่วนใหญ่จะเลี้ยงแพะพันธุ์ผสมพื้นเมือง เพราะเหมาะสภาพพื้นที่ สำหรับราคาแพะนั้นจำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 120 บาท แพะชำแหละอยู่ที่ราคา 250-300 บาท



กำลังโหลดความคิดเห็น