xs
xsm
sm
md
lg

แนะรัฐ-เอกชน จับมือเปิดศึกช่วงชิงตลาดอาหารฮาลาลโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สถาบันอาหารแนะภาครัฐ เอกชน หันมาให้ความสำคัญกับตลาดอาหารฮาลาลให้มากขึ้น เพราะเป็นช่องทางนำรายได้เข้าประเทศ และปัจจุบันคู่แข่งยังมีอยู่ไม่มาก เกรงว่าถ้าช้าประเทศมาเลเซียจะมาแย่งตลาดไปได้

ดร. อมร งามมงคลรัตน์ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า ทางสถาบันอาหาร แนะภาครัฐ เอกชน ควรจับมือสู้สร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลของไทย เพื่อช่วงชิงสนามแข่งขันกับผู้นำตลาดอาหารฮาลาลโลกอย่าง “บราซิล” เพราะจะเป็นอีกช่องทางทำเงินเข้าประเทศ ซึ่งถ้ายังเชื่องช้า อาจถูกมาเลเซียแย่งชิงตลาดไปได้

ในส่วนของภาคเอกชนไทยต้องดำเนินการตลาดเชิงรุก เพื่อขยายฐานการตลาด ในขณะที่ภาครัฐต้องให้การสนับสนุนด้านงบประมาณพัฒนาอุตฯ ฮาลาล อย่างเพียงพอและต่อเนื่อง ปฏิบัติตามแผนงานได้จริง เชื่อหากทุกฝ่ายร่วมมือกันจริงจัง จะเป็นผลดีต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศโดยรวม

สำหรับ ประเทศบราซิลมีฐานะเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกอาหาร อันดับต้นๆ ของโลก โดยจากฐานข้อมูลของ FAO พบว่า ในปี 2550 ประเทศบราซิลสามารถผลิตสินค้าเกษตรและปศุสัตว์ได้ประมาณ 820 ล้านตัน เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศจีนที่สามารถผลิตได้ประมาณ 1,500 ล้านตัน และบราซิลเป็นผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา โดยในปี 2551 บราซิลมีมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารสูงถึง 53,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีสินค้าส่งออกที่สำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ ถั่วเหลือง กาแฟ เนื้อวัวแช่แข็ง น้ำตาลที่ได้จากอ้อย ไก่แช่แข็ง ซึ่งสินค้าเหล่านี้ มีสัดส่วนการส่งออกสูงถึงร้อยละ 48.6 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารรวมของบราซิล ขณะเดียวกันประเทศบราซิลยังเป็นผู้ส่งออกอาหาร ฮาลาลที่สำคัญของโลก ทั้งในกลุ่มสินค้าเกษตรและปศุสัตว์ แม้ว่าประเทศบราซิลจะมีประชากรมุสลิมเพียง 1.2 ล้านคน ก็ตาม

โดยในช่วงปี 2551 บราซิลมีการส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลไปยังรัฐสมาชิกขององค์การประชุมอิสลาม (OIC) มีมูลค่าประมาณ 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.4 จากปี 2550 และคิดเป็นประมาณร้อยละ 18.1 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร

ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2552 บราซิลส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร (ไม่รวมสิ่งต้องห้ามตามหลักศาสนาอิสลาม) มีมูลค่าประมาณ 21,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งในจำนวนนี้เป็นการส่งออกอาหาร ฮาลาลไปยังกลุ่ม OIC (ปัจจุบันมีสมาชิก 57 ประเทศ จากทุกภูมิภาคทั้ง เอเชีย ยุโรป แอฟริกา และอเมริกาใต้) จำนวน 4,122 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นประมาณร้อยละ 19.6 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร ซึ่งหดตัวลงประมาณร้อยละ 0.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 พบว่าการส่งออกอาหารฮาลาลไปยังกลุ่ม OIC ของบราซิลขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 33.3 จากไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 เนื่องจากอาหารฮาลาล ส่งออกที่สำคัญขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก ได้แก่ น้ำตาลทราย ถั่วเหลือง น้ำมันถั่วเหลือง เนื้อวัว กาแฟ และข้าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาการส่งออกอาหารฮาลาลของบราซิลไปยังกลุ่ม GCC พบว่าในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2552 มีมูลค่าสูงถึง 1,233 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และหากพิจารณาภาพรวมการส่งออกอาหารฮาลาลของบราซิล จะพบว่าประมาณ 1 ใน 3 ของอาหารฮาลาลที่ส่งออกไปยังกลุ่ม OIC เป็นการส่งออกไปยังกลุ่ม GCC ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่ากลุ่ม GCC เป็นตลาดส่งออกอาหารฮาลาลที่สำคัญของบราซิล และบราซิลเป็นผู้ครองส่วนแบ่งการตลาดอาหารฮาลาลใน GCC มากที่สุด โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2552 มีส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ 15.4

สำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าอาหารที่สำคัญของโลกประเทศหนึ่ง ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2552 ไทยส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร (ไม่รวมสิ่งต้องห้ามตามหลักศาสนาอิสลาม) มีมูลค่าประมาณ 9,771 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งในจำนวนนี้เป็นการส่งออกอาหารฮาลาลไปยังกลุ่ม OIC จำนวน 2,224 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นประมาณร้อยละ 22.8 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรฯ ซึ่งหดตัวลงประมาณร้อยละ 25.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

“นับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่รัฐบาลไทยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลเพื่อการส่งออกของไทย โดยได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพธุรกิจและสินค้าฮาลาล ที่มีรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจเป็นประธานคณะกรรมการ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของไทยการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลนั้นจะต้องมีกรอบการพัฒนาที่ชัดเจนและต้องนำไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทั้งนี้ ภาครัฐจะต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง ขณะที่ภาคเอกชนต้องดำเนินกลยุทธ์การตลาดเชิงรุกเพื่อขยายฐานการตลาดทั้งในมิติของพื้นที่และผลิตภัณฑ์ เนื่องจากในอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลโลกนั้นมีผู้เล่นรายใหญ่อย่างบราซิลที่มีความได้เปรียบด้านวัตถุดิบในการแปรรูป นอกจากนั้น ยังมีประเทศมาเลเซียซึ่งถือว่าเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีแผนและยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล (รวมถึงอาหารฮาลาลด้วย) ชัดเจนมากที่สุด โดยมีเป้าหมายในการสร้างให้ “ประเทศมาเลเซียเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมฮาลาลโลก” ซึ่งรัฐบาลมาเลเซียได้ทุ่มงบประมาณให้กับการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลเป็นอย่างมาก”
กำลังโหลดความคิดเห็น