xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลจุฬาฯ เปิดตัว “เครือข่ายสารสนเทศทวนสอบย้อนกลับฮาลาล” ครั้งแรกในโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ จับมือ มอ.หาดใหญ่ เปิดตัวระบบเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ โลจิสติกส์และการทวนสอบย้อนกลับฮาลาล ขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก ในงานประชุมวิชาการนานาชาติวิทยาศาสตร์ฮาลาล อุตสาหกรรมและธุรกิจ (WHASIB 2011) ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติเฉลิมพระเกียรติ มอ.หาดใหญ่ หวังกระตุ้นเศรษฐกิจภาคใต้และส่งเสริมธุรกิจอาหารฮาลาลไทยให้ได้มาตรฐานและเป็นที่รู้จักทั่วโลก

วันนี้ (27 ก.ค.) ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยร่วมกับสถานบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จัดงานประชุมวิชาการนานาชาติวิทยาศาสตร์ฮาลาล อุตสาหกรรมและธุรกิจ (World of Science, Industry and Business International Conference 2011 - WHASIB 2011) และงานแสดงสินค้าผลิตภัณฑ์ฮาลาลสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ (IMG-GT Halal Products Expo 2011- IM-GT HAPEX 2011) ขึ้น ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองศิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ มีนักวิทยาศาสตร์ นักอุตสาหกรรม นักธุรกิจฮาลาลจากในและต่างประเทศเข้าร่วมราว 400 คน

รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเปิดเผยว่ามีการนำระบบเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศโลจิสติกส์และการทวนสอบย้อนกลับฮาลาลหรือระบบ SILK (Shariah-compliant ICT Logistics Kontrol) มาใช้เป็นครั้งแรกในโลก ซึ่งระบบดังกล่าวนี้เป็นการพัฒนาโดยศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการฮาลาลในกลุ่มประเทศอาเซียนในการตรวจสอบข้อมูลทางด้านลอจิสติกส์ระหว่างผู้ซื้อ ผู้ขาย และผู้บริโภค ขณะนี้มีผู้ประกอบการไทยและต่างชาติเข้าร่วมโครงการแล้ว 157 แห่ง พร้อมทั้งขอให้สภาผ่าน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ผลิตและบริโภคอาหารฮาลาลด้วย

ด้าน ศ.ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ประธานเปิดงาน กล่าวว่า ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตอาหารฮาลาลสูง จึงเป็นประเทศที่ผลิตอาหารฮาลาลได้อันดับ 1 ของภูมิภาคอาเซียน และเป็นอันดับที่ 6 ของโลก ตนคาดว่าตลาดอาหารฮาลาลโลกมีแนวโน้นขยายตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2050 จะมีผู้บริโภคอาหารฮาลาล 9,000 ล้านคน มูลค่าไม่น้อยกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หน่วยงานของรัฐมีนโยบายชัดเจนและให้ความสำคัญกับการผลิตอาหารฮาลาล สถาบันการเงินให้การสนับสนุน ทั้งนี้ สถาบันการศึกษาต้องเข้ามาช่วยจัดระบบด้วย โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีการขนส่ง

ศ.ดร.สุรินทร์ กล่าวเสริมอีกว่า จากแนวโน้มการเติบโตของอาหารฮาลาลโลก และความพร้อมของวัตถุดิบในการผลิตอาหารฮาลาลในเอเชีย ได้มีนักลงทุนในตะวันออกกลางสนใจเข้ามาร่วมลงทุนอุตสาหกรรมฮาลาลในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก นักลงทุนอุตสาหกรรมฮาลาลในประเทศไทยต้องปรับหาจุดแข็ง เพื่อรับการแข่งขันที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

นายภาณุ อุทิยรัตน์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เปิดเผยว่าสินค้าฮาลาลในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้ ศอ.บต.เข้าไปมีส่วนสนับสนุนสินค้าฮาลาล 2 ระบบ คือระบบชุมชนและระบบการส่งออก และตั้งนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล อ.ปานาเระ จ.ปัตตานี รองรับการขยายตัวดังกล่าวด้วย

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการลงนามความร่วมมือ (MOU) ระหว่างหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลจากประเทศต่างๆ การประชุมนักวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเขตพื้นที่ห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ กิจกรรมการตลาดภิวัฒน์ (Business Matching) การแสดงอาหารและวัฒนธรรมมุสลิม และการแสดงสินค้าฮาลาลจากประเทศสมาชิก IMT-GT อาทิ อินโดนีเซียและมาเลเซีย อีกด้วย โดยงานจะจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ ระหว่างวันที่ 27-31 กรกฎาคม 2554 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
กำลังโหลดความคิดเห็น